หากเปรียบเทียบตามข้อมูลและหลักฐาน สมองของผู้ชายโดยเฉลี่ยมีขนาดใหญ่กว่าสมองของผู้หญิงถึง 10% อย่างไรก็ดี ขนาดของสมองไม่ได้บ่งบอกถึงความฉลาด แต่ขนาดของสมองแปรผันกับขนาดของร่างกาย สมองของผู้หญิงมีรอยหยักมากกว่า และนั่นทำให้สมองของผู้หญิงมีพื้นที่ผิวมากกว่า ซึ่งหากขนาดของสมองส่งผลต่อความฉลาด สัตว์ที่มีสมองใหญ่กว่ามนุษย์อย่างวาฬสเปิร์ม ช้าง หรือโลมา ก็คงคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมามากมาย แต่ความเป็นจริงแม้ว่ามันจะเป็นสัตว์ที่ฉลาด ทว่าในหลาย ๆ มุมเราก็ยังฉลาดกว่าพวกมันอยู่ดี ส่วนความแตกต่างทางกายภาพของสมองในด้านอื่น ๆ เช่น ผู้ชายมีจุดเชื่อมต่อของสัญญาณประสาทในสมองแต่ละซีกมากกว่าในสมองของผู้หญิง ในขณะที่ผู้หญิงมีการเชื่อมต่อระหว่างซีกสมองมากกว่า ขณะที่ Daniel Amen ผู้เขียนหนังสือชื่อ Unleash the Power of the Female Brain กล่าวว่า หลังจากศึกษาสมองและทำการสแกนสมองมามากว่า 45,000 ตัวอย่าง ขนาดของสมองไม่ได้ส่งผลต่อสติปัญญาของชายและหญิงเลยแม้แต่น้อย
มีการศึกษาถึงการทำงานของสมองเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การวาดรูป การจดบันทึก การเล่นเกมส์ และกีฬาต่าง ๆ แต่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยต่างก็ให้ความเห็นว่ามีความแตกต่างเพียง 0.1% เท่านั้น ที่จะมีกิจกรรมที่เพศใดเพศหนึ่งแสดงความสามารถที่โดดเด่นกว่าอีกเพศ ซึ่งนั่นก็แปลว่า ขนาดของสมอง พื้นที่ผิว เส้นสัญญาณประสาทที่เรียงตัวในสมอง ต่างไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงหรือผู้ชายฉลาดกว่าอีกเพศ สรุปได้ว่าเพศไม่ได้มีผลต่อความฉลาด แต่เพศมีผลต่อความสามารถในบางด้าน เช่น ผู้หญิงมีความสามารถในการใช้ภาษามากกว่า ในขณะที่ผู้ชายมีความสามารถในการบอกทิศทางมากกว่า ในขณะที่ลักษณะทางชีวภาพที่แตกต่างกันระหว่างเพศไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความสามารถของสมอง
นักวิทยาศาสตร์พบว่า วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมต่างหากที่ส่งผลต่อความฉลาด หรือความสามารถของสมอง และแม้ว่าจะมีผลการวิจัยตีพิมพ์ออกมามากเท่าไร การยอมรับของสังคมต่อคนที่มีความสามารถมากกว่าเมื่อเชื่อมโยงกับเพศก็ยังคงเป็นปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะในช่วงการศึกษาขั้นต้นอย่างชั้นประถม ไปจนถึงมหาวิทยาลัย และการทำงาน ก็ยังให้ความสำคัญรวมถึงมีความคิดเอนเอียงว่าผู้ชายเป็นเพศที่ฉลาดกว่า ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าคุณสมบัติของผู้สมัครสองคนที่เพศต่างกันมีความสามารถเท่ากัน ผู้สมัครชายมีแนวโน้มที่จะได้รับการว่าจ้างมากกว่า และได้รับเงินเดือนสูงกว่า
การศึกษาพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วเด็ก ๆ เริ่มที่จะเรียนรู้และยอมรับเรื่องความแตกต่างทางเพศได้ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ นั่นหมายความว่าก่อนหน้านั้นเด็ก ๆ แต่ละคนอาจจะคิดว่าตนเองฉลาด แต่เมื่อก้าวย่างสู่ปีที่ 6 เป็นต้นไป ไม่ว่าเด็กชายหรือเด็กหญิงต่างคิดและมีภาพจำว่า คนฉลาดมักจะเป็นผู้ชาย และที่แย่กว่านั้นคือ ในกลุ่มเด็กหญิงตัวอย่างที่ได้รับการบอกเล่าจากครูว่า ผู้ชายฉลาดกว่าผู้หญิง จะทำคะแนนในการทดสอบต่ำกว่าเด็กผู้ชายในทันที ในขณะที่กลุ่มเด็กตัวอย่างที่ครูบอกว่าทั้งสองเพศมีความสามารถเท่าเทียมกัน สามารถทำคะแนนได้สูงพอ ๆ กันทั้งสองเพศ และนั่นแสดงให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่กำหนดความสามารถ หรือความฉลาดของแต่ละเพศนั้นล้วนเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และการสั่งสอนที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เด็ก มากกว่าจะเป็นปัจจัยทางชีววิทยานั่นเอง
ภาพปก : Shutterstock