1) “มีสติ” ด้วยบรรยากาศห้องสอบอันเงียบขรึมและกดดันของการสอบจริงที่แตกต่างจากการฝึกทำข้อสอบอยู่ที่บ้านแบบสบาย ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้เข้าสอบหลายท่านจะเกิดความตื่นเต้น และอาจทำให้ผู้เข้าสอบไม่มีสมาธิฟังข้อสอบซึ่งมีโอกาสให้เราได้ฟังแค่รอบเดียว ถ้าเป็นไปได้ให้พยายามจินตนาการว่าเราทำข้อสอบนี้อยู่ที่บ้าน บรรยากาศสบาย ๆ ไม่ต้องเครียด หายใจเข้าออกลึก ๆ และมีสมาธิในการฟังให้มากที่สุด
2) ตั้งใจฟังตัวอย่างข้อสอบ (ที่จะมีการพูดให้ฟังก่อนสอบจริง) ในช่วงนี้จะเป็นการปรับตัวและปรับหูให้ชินกับเสียงเทปที่ได้ยิน ความช้าเร็วในการพูด อีกทั้งต้องฟังและอ่านคำสั่งอย่างเคร่งครัดในแต่ละส่วนของคำถาม เพราะจะมีความแตกต่างกันออกไป เช่น ห้ามตอบเกิน 3 คำ ซึ่งถ้าผู้เข้าสอบเขียนไป 4 คำ จะไม่ได้คะแนน หรือบางส่วนจะให้วงกลมคำตอบที่ถูกเพียงสองข้อ บางส่วนให้วงสามข้อ เป็นต้น
3) ตั้งใจฟังคำอธิบายตอนต้นของแต่ละ Part ในตอนต้นของแต่ละ Part จะได้ยินเสียงในเทปพูดว่า : ‘You will hear a conversation between…’ หรือ ‘you will hear a lecture on…’ ให้ตั้งใจฟังให้ดี เพราะประโยคเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจหัวข้อหรือภาพรวม (Context) ของสิ่งที่จะต้องฟังได้อย่างดี และทำให้เราตีกรอบคำตอบที่ต้องการหาได้ดียิ่งขึ้น เช่น ประเภทของบทความนั้นอาจเป็น lecture/ short talk/การโฆษณาทางวิทยุหรือโทรทัศน์/การอภิปรายกันในห้องประชุม หรือในห้องเรียนที่มีการแสดงความคิดเห็นแตกต่างหรือสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
Note: การทราบว่าผู้พูดเป็นใคร (Identify the speaker) ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เข้าใจเนื้อหาโดยรวมได้ง่ายยิ่งขึ้น
4) อ่านคำถามคร่าว ๆ ก่อนเริ่มทำข้อสอบจริงจะมีเวลาประมาณ 20 วินาที ให้ใช้เวลานี้อ่านคำถามคร่าว ๆ และขีดเส้นใต้คำถามสำคัญไว้ (เช่น ชื่อ สถานที่ วันเดือนปี ตัวเลข วิชา หัวข้อต่าง ๆ) อย่าขีดเส้นใต้พร่ำเพรื่อ ให้ขีดแต่คำถามสำคัญเท่านั้น ไม่เช่นนั้นสมองเราจะไม่มีสมาธิในการหาคำตอบ แต่จะไปเพ่งอยู่กับคำที่ขีดเส้นใต้ไว้มากเกินไป
5) ลองเดาคำตอบที่จะต้องเติมล่วงหน้า เช่น ถ้าเป็นการถามหมายเลขโทรศัพท์ เมื่อผู้พูดกล่าวถึงหมายเลขโทรศัพท์ก็ต้องรีบตั้งใจฟังหรือเมื่อเป็นการถามชื่อของอะไรก็ตาม หากมีการสะกดคำใด ๆ ออกมาจะต้องตั้งใจฟังให้ดี (แต่อย่าลืมว่าเมื่อมีการสะกดคำ อาจเป็นการแก้ไขคำแรกที่พูดผิดไป จึงต้องตั้งใจฟังคำตอบสุดท้ายที่เป็นคำตอบที่ถูกต้องแทน)
6) จินตนาการถึงสถานการณ์จริง เมื่อบทสนทนาเริ่มขึ้น ให้ดูคำถามประกอบไปกับการตั้งสมาธิฟังคำตอบ โดยการจินตนาการถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นจะช่วยได้มาก เช่น การสนทนาระหว่างนักท่องเที่ยวที่หลงทางอยู่กับคนพื้นที่ที่กำลังบอกทาง ให้นึกว่าถ้าเราตกที่นั่งเป็นนักท่องเที่ยวหลงทางนั้น เราจะอยากรู้อะไรบ้าง หรือต้องการให้คนพื้นที่แนะนำอย่างไรบ้าง
สำหรับข้อสอบแบบ Completion ให้อ่านประโยคบริบทและคิดว่า คำที่ต้องเติมนั้น ควรเป็น Verb/Noun/Adjective/Adverb การทำแบบนี้จะช่วยให้เรามีสมาธิในการฟังคำประเภทนั้นได้ดีขึ้นและเขียนคำตอบออกมาได้ถูกต้องตรงตามประเภทคำ
Note: -Common Sense จะช่วยได้มากในการฟัง
-ไม่จำเป็นต้องพยายามฟังให้ออกทุกคำ แต่ควรตั้งสมาธิฟังเฉพาะคำที่น่าจะเป็นคำตอบเท่านั้น เพราะการพยายามฟังให้ออกทุกคำจะทำให้ผู้สอบเครียดหากฟังออกไม่ครบทุกคำ และอาจเกิดอาการลนลานตามมาจนฟังส่วนที่เป็นคำตอบจริง ๆ ไม่ทันไปเสียดื้อ ๆ
-พยายามฟังคำประเภท Signpost words เช่น However, Although, Nevertheless, But, Finally เพราะเนื้อหาหลังคำเหล่านั้นมักจะเป็นคำตอบที่ซ่อนอยู่
-ระวังการออกเสียงเลขบางตัวที่มักจะทำให้สับสน เช่น 13-30 โดยที่ 13 นั้นจะออกเสียงเน้นไปที่คำหลัง (เถอะ-ทีน) ส่วน 30 นั้นจะออกเสียงเน้นไปที่คำหน้า (เท้อ-ถิ)
7) ตอบทุกคำถามทันทีเมื่อฟังจบ อย่ารอหรือเว้นเอาไว้ แม้ว่าบางครั้งผู้เข้าสอบจะไม่มั่นใจในคำตอบนักก็ตาม เพราะการจำเอาไว้แล้วไปเขียนทีหลังจะมีแนวโน้มลืมคำตอบสูงมาก หรือถ้าต้องจำหลาย ๆ คำตอบพร้อมกัน ก็อาจจะเกิดความสับสน เขียนผิด ๆ ถูก ๆ ได้ ถ้าตอบข้อไหนไม่ได้จริง ๆ อย่าติดอยู่ที่ข้อนั้นเด็ดขาด ให้ทำข้อต่อไปเรื่อย ๆ ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการรวนแบบโดมิโนล้ม
Note: คำตอบมักจะเป็นคำที่ผู้พูด “เน้น” มีการลงน้ำหนักเสียงที่หนักแน่น ให้ตั้งใจฟังหาคำเหล่านี้ให้ดี
8) ตรวจทานคำตอบ หลังจบแต่ละ section จะมีเวลาให้ตรวจทานคำตอบ 30 วินาที ให้ใช้เวลานี้ให้เป็นประโยชน์ โดยตรวจการสะกดคำ ประเภทของคำที่เขียนว่าถูกต้องหรือไม่ (ลงท้ายด้วย s/es/ed/ly/ious) จำนวนคำที่เขียนตรงตามคำสั่งหรือไม่ และใช้เวลานี้อ่านคำถามใน section ต่อไปด้วย
9) กรอกคำตอบด้วยความรอบคอบ เมื่อถึงเวลา 10 นาทีในการกรอกคำตอบลงในกระดาษคำตอบ ให้กรอกด้วยความรอบคอบและให้ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่เท่านั้น เขียนด้วยลายมือบรรจง และตรวจทานว่าเขียนคำตอบไม่เกิน 3 คำ (หรือตามคำสั่งตอนต้น) หรือไม่ ข้อใดที่อาจมีการเว้นไว้ตอนต้นให้เดาอย่างมีเหตุผลหรือใช้หลัก Common Sense ยังดีกว่าเว้นเอาไว้โดยไม่ได้เขียนอะไรลงไปเลย
Note: สิ่งสำคัญที่สุดในการกรอกคำตอบคือ “Spelling” หรือการสะกดให้ถูกต้อง เพราะถ้าสะกดผิดแม้แต่ตัวอักษรเดียวจะไม่ได้คะแนนในข้อนั้นไป ฉะนั้น การรู้ศัพท์เยอะๆ และการท่องศัพท์สะสมไว้เป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ