Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เปรียบเทียบค่าใช้จ่าย อยู่บ้าน VS อยู่หอ ใช้เงินอย่างไรให้อยู่รอด

Posted By Plook TCAS | 02 ต.ค. 60
32,541 Views

  Favorite

หลังจากเข้าคณะที่ใช่สาขาที่ชอบได้สมปรารถนากันไปเป็นที่เรียบร้อย ต่อไปก็ถึงคิวใช้ชีวิตเด็กมหา’ลัยกันจริง ๆ แล้วใช่ไหมล่ะครับน้อง ๆ แต่หลายคนก็ไม่วายกังวลใจอยู่ให้เห็น นอกจากการปรับตัวแล้วก็เห็นจะเป็นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ นี่แหละที่หลายคนบ่นกันให้แซ่ด !! เพราะบางคนก็เลือกเรียนไกลบ้าน ต้องออกจากบ้านไปอยู่หอ แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายต้องเพิ่มขึ้น ไหนจะค่ากิน ค่าหอพัก ค่าเอกสาร โน่นนี่นั่นจิปาถะ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ต้องใช้จ่ายมากแค่ไหนกันเชียวเมื่อเทียบกับตอนอยู่บ้าน วันนี้พี่เลยเทียบมาให้ดูกันเลยครับ

เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายอยู่บ้าน VS อยู่หอ

ค่าครองชีพ : อยู่หอ

- อาหารเช้า 40 บาท/มื้อ
- อาหารเที่ยง 50 บาท/มื้อ
- อาหารเย็น 100 บาท/มื้อ
- ค่ารถ 200 บาท/วัน
- ค่าหอเดือนละ 3,500 บาท/เดือน
- ค่าน้ำ 200 บาท/เดือน
- ค่าไฟ 600 บาท/เดือน
- ค่าเน็ต/Wifi 400 บาท/เดือน (บางที่อาจมีให้ใช้ฟรี)
- ค่าของใช้ส่วนตัว 1000 บาท/เดือน

รวม 17,400 บาท/เดือน

ค่าครองชีพ : อยู่บ้าน

- อาหารเช้ากับเย็น เรากินข้าวที่บ้านได้
- อาหารเที่ยง 100 บาท/มื้อ
- ค่ารถ 250 บาท/วัน
- ไม่ต้องเสียค่าที่พัก
- ค่าเน็ต/Wifi ใช้ของที่บ้าน
- ค่าของใช้ส่วนตัว 500 บาท/เดือน

รวม 11,000 บาท/เดือน

 

กินให้เป็น ประหยัดกว่าที่คิด

เรื่องอาหารการกินปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าเป็นเรื่องใหญ่ว่าไหมล่ะครับน้อง ๆ เพราะกองทัพต้องเดินด้วยท้องสมองต้องบำรุงจะได้มีแรงไว้ฮึดสู้ !! ถ้าถามว่าค่ากินของเด็กมหา’ลัยเยอะไหม พี่คงบอกน้อง ๆ ว่าเยอะกว่าตอนอยู่บ้านครับ เพราะเงิน 100 บาทตอนอยู่บ้านอาจซื้ออะไรได้หลายอย่าง แต่ 100 บาทของเด็กมหา’ลัยอาจจะได้แค่ 1 มื้อก็ไม่พอแล้วมั้งแถมอาจไม่อิ่มอีกต่างหาก ก็ทั้งข้าว น้ำ หรือของกินเล่นนี่สิแพงเสียจริง นิสิต นักศึกษาอย่างเรา ๆ ก็หนีไม่พ้นปัญหานี้ว่าไหมล่ะครับน้อง ๆ

พี่ขอแนะนำสำหรับน้องคนไหนที่อยู่หอพักกับเพื่อนหลายคน หรือทางหออนุญาตให้ทำอาหารได้ก็อย่ารอช้า !! ลงมือทำอาหารกันเองก็น่าสนใจไม่น้อยเลยล่ะ เพราะประหยัดกว่าตั้งเยอะแถมยังได้อาหารรสชาติแซ่บถูกปากอีกต่างหาก (ว่าแล้วก็หิวขึ้นมาทันใด^^ ) เอาเป็นว่าใช้จ่ายกับเรื่องกินระมัดระวังหน่อยละกัน อย่าตามใจปากตัวเองมากเกินไป แต่ไม่ใช่ว่าประหยัดด้วยการอดอาหารหรือกินแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกวันนะ วิธีนี้พี่ไม่แนะนำ !!

 

ค่าหอ-ค่าน้ำค่าไฟ ใช้อย่างไรให้ไม่เกินตัว

แน่นอนว่าการอยู่หอพักมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าตอนอยู่บ้าน ไหนจะค่าน้ำ ค่าไฟที่ทางหอคิดแต่ละหน่วยสูงกว่าทั่วไป แถมยังค่าเช่าอีก รวม ๆ แล้วก็หลายพันทีเดียว น้อง ๆ คนไหนอยากประหยัดก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้หรือลองเปลี่ยนสถานที่อ่านหนังสือ ทำงาน ไปเป็นห้องสมุดของมหาวิทยาลัยหรือแหล่งเรียนรู้ที่เปิดให้เข้าใช้บริการฟรี ๆ ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจนะครับ อ้อ !! พูดถึงเรื่องหอพัก อย่าลืมตรวจดูล่ะว่าทางหอพักเก็บเงินค่าหอแต่ละเดือนของเราเกินจริงบ้างหรือเปล่า จะได้ไม่เสียเงินฟรี ๆ โดยไม่รู้ตัวไงล่ะ

 

ค่าเอกสารไม่บานปลายเพราะได้รุ่นพี่ช่วยไว้

นอกจากค่าใช้จ่ายเรื่องปากท้องและค่าหอแล้ว ค่าเอกสารนี่แหละที่ทำเอาเด็กมหา’ลัยหลายคนบ่นกันตั้งแต่ปี 1 ยันเรียนจบ !! หลายคนถึงขั้นยอมอดข้าวก็มี !! เพราะบางสาขาหรือคณะต้องใช้เอกสารประกอบการเรียนหรือทำงานที่เป็นรูปเล่มส่งอาจารย์อยู่บ่อยครั้ง น้อง ๆ ลองขอเอกสารประกอบการเรียนจากรุ่นพี่ดูสิ ไม่ว่าพี่ในสาขา คณะ หรือพี่รหัสก็แล้วแต่ พี่เชื่อว่าเนื้อหาที่เรียนก็คงไม่ต่างอะไรกันมาก ช่วยประหยัดได้ดีทีเดียวเลยล่ะ ไม่ต้องไปถ่ายเอกสาร เข้าเล่ม เข้าปกใหม่ให้เสียเงินเสียเวลา แถมน้อง ๆ ได้รู้จักพี่ ๆ ขึ้นอีกด้วยนะ เห็นไหมล่ะว่านอกจากประหยัดแล้วยังดีต่อใจอีกต่างหาก

 

ค่าใช้จ่ายข้างต้นเป็นค่าเฉลี่ยโดยประมาณ บางคนอาจจะใช้น้อยกว่านี้หรือเยอะกว่านี้ แต่ชี้ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายอยู่บ้านกับอยู่หอต่างกันอยู่พอสมควร อยากเรียนใกล้บ้านหรือไกลบ้าน ก็ลองประเมินค่าใช้จ่ายให้ดี ๆ แต่ไม่ว่าอยู่ที่ไหนหากน้อง ๆ ไม่รู้จักใช้รู้จักเก็บก็เปล่าประโยชน์นะครับ เงินที่ทางการบ้านส่งให้แต่ละเดือนจึงควรจัดสรรให้ดี อย่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากเกินไปล่ะ ส่วนใครที่รู้ตัวว่าเป็นสายเปย์ก็จัดการตัวเองให้ดีนะครับ เงินในกระเป๋าไม่เข้าใครออกใคร หากใช้อย่างขาดสติปัญหาตามมาแน่นอน

 

เรื่อง : ภานุวัฒน์ มานพ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow