Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

28 กันยายน วันพระราชทานธงชาติไทย : ครบ 100 ปี ธงไตรรงค์ พร้อมประวัติความเป็นมา ธงชาติไทย

Posted By มหัทธโน | 28 ก.ย. 60
21,136 Views

  Favorite



วันที่ 28 กันยายน 60 จะเป็นวันแรก ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวันสำคัญของประเทศไทยนั่นคือ "วันพระราชทานไทย (Thai National Flag Day)"  และเป็นวันครบรอบ 100 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานธงไตรรงค์ ให้เป็นธงชาติของประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 

 

ประวัติความเป็นมาของธงชาติไทย 

ธงชาติไทยผืนแรก คือ ธงแดงเกลี้ยง

 

ภาพ : http://www.thaiflag.org/

 

ปรากฏเรื่องราวอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุของฝรั่งเศส โดยได้กล่าวไว้ว่า
เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2223 เรือรบของฝรั่งเศสชื่อ เลอรโวตูร์ โดยมี มองซิเออร์ คอนูแอน เป็นนายเรือ ได้นำเรือเข้ามาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเจริญพระราชไมตรีและการค้า นายเรือได้สอบถามทางกรุงศรีอยุธยาว่า ถ้าจะยิงสลุต (ยิงปืนให้ความเคารพ) ให้แก่สยาม เมื่อเรือผ่านป้อมวิไชเยนทร์ (ปัจจุบันคือป้อมวิชัยสิทธิ์) ตามประเพณีของชาวยุโรป จะเป็นการขัดข้องหรือไม่

สมเด็จพระนารายณ์ทรงอนุญาต และรับสั่งให้เจ้าเมืองบางกอก คือ ออกพระศักดิ์สงคราม ให้ทางป้อมยิง สลุตตอบด้วย และในการที่เรือรบฝรั่งเศลได้ยิงสลุตให้นั้น ทางป้อมก็ชักธงชาติขึ้น แต่ในห้วงเวลานั้นธงชาติสยามยังไม่มี จึงได้ชักธงชาติฮอลันดาขึ้นแทน แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมยิงสลุต เพราะเห็นว่าไม่ใช่ธงของชาติสยาม จึงแจ้งให้ทราบว่า หากสยามประสงค์จะให้ฝรั่งเศสยิงสลุตให้ ก็เอาธงฮอลันดาลงเสีย แล้วชักธงอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นแทน

เผอิญในสมัยนั้นธงสีแดงถือเป็นธงที่สยามใช้สำหรับเป็นธงนำทัพอยู่แล้ว สยามจึงนำธงแดงชักขึ้น จากนั้นฝรั่งเศสจึงยิงสลุตให้ ด้วยเหตุนี้สยามจึงถือเอาธงสีแดงเป็นธงชาติสยาม

 

จากธงแดงล้วนสู่ ธงวงจักร และ ธงช้าง

ภาพ : http://www.thaiflag.org/

 

ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังคงใช้ธงสีแดงเกลี้ยงชักเป็นเครื่องหมายประจำเรือค้าขายกับต่างประเทศอยู่ ธงแดงนี้ใช้ชักขึ้นทั้งในเรือหลวงและเรือราษฎร

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ทรงมีพระราชดำริว่าเรือหลวงกับเรือราษฎรควรมีเครื่องหมายให้เห็นแตกต่างกัน จึงมีพระบรมราชโองการให้ทำรูป "จักร" สีขาวติดไว้กลางธงสีแดงเป็นเครื่องหมายใช้เฉพาะเรือหลวง ส่วนเรือค้าขายของราษฎรทั่วไปนั้น ยังคงใช้สีแดงเกลี้ยงอยู่

 

ธงช้างสีขาวยืนพื้นอยู่ในวงจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดง

ภาพ : http://www.thaiflag.org/

 

ขึ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. 2360-2366 (รัชกาลที่ 2) ประเทศอังกฤษได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าขายอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และพระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือกำปั่นของหลวงขึ้น 2 ลำเพื่อล่องค้าขายระหว่างสิงคโปร์และมาเก๊า โดยที่เรือหลวงทั้งสองลำดังกล่าวจะชักธงแดงตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

กระทั่งวันหนึ่งประเทศอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าเมืองสิงคโปร์ได้บอกกับนายเรือหลวงของสยามให้มากราบบังคับทูลพระเจ้ากรุงสยามว่า ...
"เรือเดินทะเลชาวมลายูที่ค้าขายกับสิงคโปร์ก็ชักธงแดงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงขอให้พระเจ้ากรุงสยามใช้ธงอย่างอื่นเสีย เพื่อจะได้จัดการรับรองเรือหลวงได้สะดวกและไม่สับสน"...

และที่สำคัญในช่วงรัชกาลที่ 2 นี้ พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอกมาสู่พระบารมีถึง ๓ ช้าง คือ พระเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์ ซึ่งถือเป็นพระเกียรติยศอย่างสูง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปช้างสีขาวยืนพื้นอยู่ในวงจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดงอันมีความหมายว่า “พระเจ้าแผ่นดินผู้มีช้างเผือก” และธงรูปช้างเผือกสีขาวอยู่ในวงจักรสีขาวนี้ก็ใช้เฉพาะเรือหลวงเท่านั้น ส่วนเรือพ่อค้าไทยทั่วไปก็ยังคงใช้ธงแดงอยู่ตามเดิม โดยใช้ธงสยามแบบนี้จนถึงรัชกาลที่ 3

 
รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง

ครั้นขึ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) สยามได้มีการทำหนังสือสัญญาเปิดการค้าขายกับชาวตะวันตกมากขึ้น ทำให้มีเรือสินค้าของประเทศต่าง ๆ ทั้งจากยุโรปและอเมริกาล่องเข้ามาค้าขายมากขึ้น พร้อมทั้งมีสถานกงสุลตั้งอยู่ในพระนคร ซึ่งชักธงชาติของประเทศตนเองขึ้นเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ประเทศสยามจะต้องมีธงชาติที่แน่นอน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริว่า ธงสีแดงซึ่งเป็นธงที่ใช้กับเรือของสามัญชนชาวสยามนั้น ซ้ำกับประเทศอื่น ยากต่อการแยกแยะ สมควรยกเลิกเสีย และหันมาใช้ธงอย่างเรือหลวงเป็นธงชาติสยามสำหรับเรือสามัญชนด้วย แต่โปรดเกล้าให้เอารูปวงจักรสีขาวออกเสีย เพราะเป็นของสูงซึ่งถือเป็นเครื่องหมายเฉพาะของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น โดยให้คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง แต่ทว่าให้ปรับขนาดช้างเผือกให้ใหญ่ขึ้น โดยในช่วงแรกเป็นแบบช้างเผือกยืนพื้น

ภาพ : http://www.thaiflag.org/

 

ต่อมาปรับรูปช้างเป็นแบบช้างเผือกปล่อย

ภาพ : http://www.thaiflag.org/



(หมายเหตุ : จากหลักฐานล่าสุดที่พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยได้ค้นคว้าจนค้นพบเรื่องการใช้ธงช้างเผือกเป็นธงชาติสยาม ได้พบว่ามีหนังสือหลายเล่มของต่างประเทศ ได้พิมพ์ธงช้างเผือก ในฐานะธงชาติสยามมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แล้ว ... โปรดศึกษาหลักฐานจากหน้าเฉพาะเรื่อง)

 

ธงพื้นสีแดงตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกสีขาวปล่อยหันหน้าเข้าหาเสา

ภาพ : http://www.thaiflag.org/


ช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนแท่น หน้าหันเข้าเสา 

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ก็ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยามเป็นครั้งแรก ตรงกับรัตนโกสินทร์ศก 110 ต่อมาคือพระราชบัญญัติธงสยาม รัตนโกสินทร์ศก 116 และพระราชบัญญัติธงสยาม รัตนโกสินทร์ศก 118 โดยทุกฉบับได้ยืนยันถึงลักษณะของธงชาติสยามเป็นแบบธงพื้นสีแดงตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกสีขาวปล่อยหันหน้าเข้าหาเสา
ธงที่ใช้กับเรือหลวง ถูกปรับรูปแบบอีกครั้ง จากช้างสีขาวธรรมดา ปรับให้เป็น "ช้างทรงเครื่องยืนแท่น" หันหน้าเข้าข้างเสา เนื่องจากช้างเผือกเปรียบเป็นเครื่องแทนตัวของพระมหากษัตริย์แล้ว การปรับให้ช้างทรงเครื่องยืนแท่น จึงเพื่อความสง่างามและเหมาะสมกับชั้นของพระมหากษัตริย์
 

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้ทรงพระราชดำริว่า เมื่อมองธงชาติซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นแต่ไกล จะมีลักษณะไม่ต่างจากธงราชการเท่าไร และรูปช้างที่อยู่กลางธงก็ไม่งดงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 129 ตามมาตรา 4 ข้อ 15 โดยแก้ไขลักษณะธงชาติเป็นดังนี้
"ให้แก้ธงชาติเปนพื้นสีแดง กลางเปนรูปช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนแท่น หน้าหันเข้าเสา สำหรับเปนธงราชการ" ประกาศมา ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2459"
ซึ่งถือเป็นธงช้างรูปสุดท้ายของธงในสมัยรัตนโกสินทร์

 

 

ภาพ : http://www.thaiflag.org/

 

ธงแถบสี 5 ริ้ว

ภาพ : http://www.thaiflag.org/

 

ธงแดงขาว 5 ริ้ว ถือกำเนิดขึ้นที่จังหวัดอุทัยธานี

เมื่อ พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นประสบเหตุอุทกภัย เมื่อขบวนเสด็จได้เดินผ่านบ้านหลังหนึ่งก็มีอาการสะดุดพระเนตร พระองค์ได้ทอดพระเนตรขึ้นไปเห็นธงช้างติดอยู่ในลักษณะช้างนอนหงายเอาเท้าชี้ฟ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่เป็นมงคล
 

พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก และธงช้างผลิตจากหลายประเทศรูปร่างของช้างที่ปรากฏจึงไม่น่าดู จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติอีกครั้ง
 

โดยเปลี่ยนเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นรูปแบบสมมาตร ไม่ว่าจะติดด้านไหนก็ไม่มีลักษณะกลับหัว โดยมีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถบสีขาว 2 แถบ เรียกธงนี้ว่า ธงแดงขาว 5 ริ้ว โดยสีแดงมาจากสีเดิมของธง ส่วนสีขาวมาจากช้างเผือกนั่นเอง

 

ถือกำเนิดธงไตรรงค์

ภาพ : http://www.thaiflag.org/

 

เมื่อปี พ.ศ. 2460 รัชกาลที่ 6 ทรงอ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ฉบับภาษาอังกฤษ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2460 มีผู้เขียนเรื่องธงใช้นามปากกาว่า "อะแควเรียส" มีสาระว่า
"ธงห้าริ้วสวยงามดี แต่หากจะให้ดีน่าจะมีสีน้ำเงินใส่เข้าไปด้วย เพราะสีน้ำเงิน เป็นสีแสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในนานาประเทศ"  
 

พระองค์จึงทรงให้เปลี่ยนแถบสีแดงที่ตรงกลางธงเป็น สีน้ำเงินขาบ หรือสีน้ำเงินเข้มเจือม่วง อีกทั้งการที่พระองค์ได้เลือกสีนี้เพราะสีขาบเป็นสีประจำพระองค์ที่โปรดมาก เนื่องจากเป็นสีประจำวันพระราชสมภพคือวันเสาร์ตามคติโหราศาสตร์ไทย และอีกประการหนึ่ง สีน้ำเงินยังแสดงถึงชัยชนะและความเป็นหนึ่งเดียวของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เช่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งใช้สีแดง ขาว น้ำเงินเป็นสีในธงชาติเป็นส่วนใหญ่ด้วย


พระราชทาน "ธงไตรรงค์" พร้อมความหมาย

พระองค์ทรงพระราชทานชื่อเรียกใหม่ว่า "ธงไตรรงค์" พร้อมความหมาย
สีแดง    หมายถึง เลือดอันยอมพลีเพื่อธำรงรักษาชาติและศาสนา
สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ 
สีขาว    หมายถึง  ความบริสุทธิ์แห่งศาสนา

ธงไตรรงค์ในการเฉลิมฉลองชัยชนะของฝ่ายพันธมิตร

ความภาคภูมิใจครั้งแรกของธงชาติไทยคือธงไตรรงค์ของสยามก็ได้เดินผ่านประตูชัยที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับคณะทหารอาสา ในการเฉลิมฉลองชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2462 ซึ่งนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของผู้ชนะสงครามร่วมกับชาติมหาอำนาจในยุโรปแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ชาติมหาอำนาจในยุโรปให้การยอมรับสยามในเวทีโลก

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow