การตั้งคำถามของ Marc Antoine Fardin ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายบนโลกออนไลน์ เช่น ภาพแมวในแก้วน้ำ แมวในถัง และแมวในอ่าง เขาได้เขียนบทความวิจัยที่ชื่อว่า "On the Rheology of cats" (Rheology - ศาสตร์ที่อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปทรงและการไหล) หรือวิทยาศาสตร์การไหลของแมว เพื่ออธิบายปรากฏการณ์นี้
เริ่มจากการนำนิยามของของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ซึ่งเป็นสถานะ 3 สถานะในโลกมาเทียบเคียง โดยเขากล่าวว่า ของแข็งจะคงรูปร่างและปริมาตรเท่าเดิมไว้ ของเหลวจะคงปริมาตรแต่เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปตามภาชนะที่บรรจุ ส่วนก๊าซมีรูปร่างและปริมาตรไม่แน่นอน และจะเปลี่ยนแปลงไปตามภาชนะที่บรรจุ ซึ่งจากนิยามนี้จึงมีความเป็นไปได้ว่าแมวจะเป็นของเหลว แต่วิทยาศาสตร์มีบทพิสูจน์มากกว่านั้น เพราะ Marc Antoine Fardin ได้ใช้หลักการทางฟิสิกส์ที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์การไหล (Rheology) มาอธิบายเพิ่มเติม
Marc Antoine Fardin ใช้ ค่า De (Deborah number) ซึ่งเป็นค่าที่ใช้ในวิทยาศาสตร์การไหลเพื่ออธิบายลักษณะของวัสดุที่มีการไหล โดยทั่วไปค่า De หาได้จากสูตร
De = τ/T
τ คือ Relaxation time หรือเวลาที่ใช้ในการคลายตัว ซึ่งในกรณีนี้คือเวลาที่แมวมีการเปลี่ยนรูปร่างจนเต็มภาชนะ
T คือ Time scale of observation หรือเวลาที่ใช้ในการสังเกตการณ์
สำหรับของเหลวโดยทั่วไปจะมีค่า De น้อยกว่า 1 (De<1) นั่นหมายความว่า สิ่งที่มีสถานะเป็นของเหลว จะมีการเปลี่ยนรูปร่างไปตามภาชนะได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ส่วนของแข็งจะมีค่า De มากกว่า 1 (De>1) ซึ่งในกรณีของแมว มันสามารถเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปตามภาชนะได้อย่างรวดเร็วจนทำให้ค่า De น้อยกว่า 1 จึงสรุปได้ว่าแมวเป็นของเหลว
แต่ไม่ใช่เพียงเท่านั้น เพราะจากบทสรุปของงานวิจัย แมวยังเป็นของแข็งได้อีกด้วย เพราะในสถานการณ์ที่ต่างกัน เช่น เมื่อแมวอยู่ในภาชนะขนาดใหญ่อย่างอ่างอาบน้ำ มันก็สามารถทำตัวให้อยู่ในสถานะของแข็งได้เช่นกัน โดยค่า De ในสถานการณ์เช่นนี้จะมากกว่า 1
นอกจากนี้จากงานวิจัยของ Marc Antoine Fardin ยังสรุปได้ว่า แมวที่มีอายุน้อยกว่าหรือลูกแมวสามารถคงรูปร่างของพวกมันให้เป็นไปตามภาชนะต่าง ๆ ได้นานกว่าแมวที่มีอายุมาก ขณะที่แมวที่อายุมากกว่าจะมีเวลา Relaxation time หรือใช้เวลาในการเปลี่ยนรูปร่างให้เป็นไปตามภาชนะน้อยกว่าแมวที่อายุน้อย ที่สำคัญพวกมันยังขี้เกียจกว่าสัตว์ในตระกูลแมวอื่น ๆ ด้วย
ทั้งนี้งานวิจัยที่ช่วยคลายข้อสงสัยให้กับทาสแมวของ Marc Antoine Fardin ทำให้เขาได้รับเงินรางวัลไปถึงสิบล้านล้านซิมบับเวียนดอลลาร์ หรือเมื่อเทียบเป็นเงินไทยแล้ว มันมีมูลค่าไม่ถึง 10 บาทด้วยซ้ำ แต่ก็ถือว่าเป็นงานวิจัยแบบขำ ๆ ที่ทำให้คนอ่านอย่างเรายิ้มได้ก็แล้วกันเนอะ