Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ย้ายไปอยู่ดาวอังคารกันไหม

Posted By Plook Creator | 20 ก.ย. 60
12,595 Views

  Favorite

แม้ปัจจุบันมันจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นไปไม่ได้ สิ่งต่าง ๆ ที่เคยเห็น เคยมีอยู่แต่ในนิยายวิทยาศาสตร์ ทุกวันนี้หลายอย่างเกิดขึ้นจริงแล้ว เช่นเดียวกับการที่จะบอกว่าดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ไม่ใช่ดาวเคราะห์ดวงเดียวที่อาศัยอยู่ได้ เพราะอาจมีดาวดวงอื่นที่เราสามารถไปตั้งหลักปักฐาน อย่างเช่นดวงจันทร์ซึ่งอยู่ใกล้โลกที่สุด แต่นักวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า บนดวงจันทร์ไม่ได้มีปัจจัยที่เหมาะสำหรับการดำรงชีวิต แน่นอนว่ามันแห้งแล้ง และเราจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำและอากาศในการดำรงชีวิต แต่ดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้จากการสำรวจก็พบว่าไม่มีวี่แววของน้ำเช่นกัน

 

ดาวที่คาดว่าน่าจะเป็นไปได้ที่สุดที่มนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตจะสามารถอาศัยอยู่ในตอนนี้คือ ดาวอังคาร แม้ว่าเราจะสามารถมองเห็นดาวอังคารได้ด้วยตาเปล่าในคืนที่ฟ้าโปร่ง แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันอยู่ใกล้แค่เอื้อม มีการคำนวณระยะทางระหว่างโลกและดาวอังคารเอาไว้ว่ามันมีระยะทาง 680 ล้านกิโลเมตร ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาเดินทางหลายเดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีในแต่ละยุค

 

หากไม่นับเรื่องเวลาที่ต้องสูญเสียไป อาหารสำหรับคนที่จะต้องอยู่ในอวกาศนาน 10 เดือน รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่ต้องมีและต้องใช้ เพื่อให้ร่างกายของคนที่อยู่ในสภาพไร้น้ำหนักยังคงความแข็งแรงไว้ได้ เชื้อเพลิงที่ต้องใช้ในการเดินทางหนีแรงโน้มถ่วงโลก และหนีแรงโน้มถ่วงจากดาวอังคารเพื่อกลับมายังโลกก็มหาศาล เหล่านี้ไม่ใช่ทรัพยากรน้อย ๆ เลยที่ต้องเสียไป ยังไม่นับตำแหน่งของดวงดาวซึ่งดาวอังคารมีการโคจรไม่ตรงกับโลก ระยะที่ใกล้ที่สุดที่จะเดินทางได้จะเกิดขึ้นทุก ๆ 2 ปี ดังนั้น การเดินทางไปดาวอังคารจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และราคาถูกเลย แต่หากสมมติว่าการเดินทางไปในอวกาศ เพื่อข้ามไปอยู่บนดาวดวงอื่นเป็นเรื่องง่าย และเรามีเทคโนโลยีการเดินทางในอวกาศที่ก้าวหน้าพอจะเดินทางไปดาวอังคารเพียงไม่กี่วัน การไปอาศัยและตั้งอาณานิคมบนดาวสีแดงดวงนี้จะเป็นไปได้หรือไม่

ภาพ : Shutterstock

 

เมื่อหมดปัญหาเรื่องเทคโนโลยีที่ใช้ในการเดินทาง ก็ยังมีอุปสรรคลำดับถัดไป คือ เรื่องความสามารถในการต่อสู้และทนต่อรังสีต่าง ๆ ที่มี ซึ่งเเราต้องพบระหว่างการเดินทาง รังสีมากมายไม่สามารถเดินทางทะลุชั้นบรรยากาศโลกเข้ามากระทบเราได้ แต่เมื่อเราอยู่ในอวกาศ เราจำเป็นต้องพึ่งชุดอวกาศเฉพาะที่จะช่วยปกป้องเราจากรังสีต่าง ๆ เช่น คอสมิก เราต้องอาศัยอยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงซึ่งมีโทษต่อร่างกายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของของเหลวต่าง ๆ ในร่างกายที่ผิดปกติ การเคลื่อนตัวที่ใช้แรงน้อยกว่าปกติ กล้ามเนื้อไม่ได้ถูกใช้งานก็จะลีบเล็กลง มวลกระดูกก็ลดลงเช่นกัน แต่เมื่อเดินทางไปถึงดาวอังคารซึ่งมีแรงโน้มถ่วงมากกว่าโลกถึง 3 เท่า ร่างกายของเราต้องทนกับแรงโน้มถ่วงที่มากขึ้น ต้องมีกล้ามเนื้อมากขึ้น และมวลกระดูกต้องแข็งแรงเพื่อทนแรงกดให้ได้ และสิ่งต่าง ๆ นี้ ต้องเกิดขึ้นในทันทีที่เหยียบดาวอังคาร


นอกจากแรงโน้มถ่วงที่มากกว่าโลกและสามารถสัมผัสได้ในทันทีแล้ว พื้นผิวดาวอังคารซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลกก็หนาวจัด มันมีอุณหภูมิอยู่ในช่วงระหว่าง -140 องศาเซลเซียส ถึงร้อนสุดที่ 30 องศาเซลเซียส และชั้นบรรยากาศของดาวอังคารยังเบาบางกว่าโลกถึง 100 เท่า ทำให้คุณไม่สามารถเดินบนดาวอังคารได้โดยปลอดภัยจากรังสีต่าง ๆ หากไม่ใส่ชุดป้องกันก็ต้องลงไปใต้ดิน อาหารการกินในช่วงแรกก็จะเป็นอาหารที่ถูกนำขึ้นไปจากโลก คงไม่ต้องหวังว่ามันจะมีลักษณะหน้าตาหรือรสชาติที่ดี หากคุณต้องขนส่งทุกอย่างขึ้นไปจากโลก อาหารที่นำไปด้วยคงต้องมุ่งเน้นที่สารอาหารและพลังงานมากกว่ารสชาติ อย่างน้อย ๆ ก็จนกว่าเราจะทำเกษตรกรรมหรือปศุสัตว์บนอังคารได้

 

ทั้งนี้ยังมีเรื่องของการสร้างอาณานิคมบนพื้นที่ใด ๆ ที่จำเป็นต้องมีประชากรมากในระดับหนึ่ง เพื่อสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรม แต่มันจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะลำเลียงคนจำนวนมากในระดับหมื่นคนขึ้นไปอยู่บนนั้น น้ำที่ว่ามีอยู่ในชั้นใต้ดินของดาวอังคารจะสามารถสกัดออกมาได้จริงหรือไม่ และมันคุ้มค่าที่จะทำหรือไม่  หากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มันไม่ยากจนเกินไปที่จะจินตนาการ ท้ายสุดก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถไปอยู่บนดาวอังคารได้อยู่ดี เนื่องจากต้องผ่านการทดสอบเรื่องโรคทางพันธุกรรม สุขภาพ และอื่น ๆ อีกมาก จนกว่าจะถึงตอนนั้น บางทีการกลับไปอยู่ในโลกจินตนาการหรือดูหนังอาจจะช่วยบรรเทาความอยากย้ายดาวไปได้บ้าง

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow