Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคไต

Posted By Plookpedia | 11 เม.ย. 60
8,534 Views

  Favorite

โรคไต

      ร่างกายของเรามีอวัยวะภายในที่สำคัญหลายอย่างตั้งแต่สมอง หัวใจ ปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับ และไต ไตเป็นอวัยวะสำคัญต่อการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ไตมีรูปร่างเหมือนถั่วแดงขนาดใหญ่อยู่บริเวณบั้นเอวทั้ง ๒ ข้าง  ไตเป็นตัวกรองเอาของเสียในร่างกายออกมาจากเลือดแล้วขับของเสียออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะเมื่อใดที่เรารับประทานอาหารที่เค็มจัดซึ่งมีเกลือผสมอยู่จำนวนมากเราก็มักหิวน้ำและดื่มน้ำมากขึ้นขณะที่ไตช่วยกรองเกลือส่วนเกินและขับออกไปกับปัสสาวะ

 

โรคไต
โรคไต

 

      หากเราไม่สบายโดยเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะหรือขาดน้ำมากเกินไปอาจทำให้ไตทำงานหนักและเสื่อมสภาพจนทำให้มีของเสียสะสมไว้ในร่างกายมากไม่ถูกขับออกไปเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของเราได้  เด็ก ๆ จึงควรที่จะดูแลรักษาไตของตนเองไว้ให้ดี ดื่มน้ำให้เพียงพอเวลาอยู่กลางแดดร้อน ไม่ควรรับประทานอาหารรสเค็มจัดรวมทั้งระวังไม่ให้บริเวณบั้นเอวซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไตอยู่ถูกกระแทกจากการเล่นกีฬาและไม่ให้สัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งูพิษกัด ตัวต่อต่อย เด็ก ๆ จะได้มีสุขภาพดีและไม่ป่วยเป็นโรคไตทำให้มีความสุขตลอดไป

 

 

 

      โรคไตเป็นโรคหนึ่งที่พบมากในประเทศไทยประมาณกันว่ามีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะต่าง ๆ รวมกันมากถึงร้อยละ ๑๗.๕ ของประชากรไทย โดยมีผู้ป่วยรอรับไตบริจาคเพื่อการปลูกถ่ายไตใหม่และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีไตเทียมมากขึ้นทุกปี เฉพาะค่าใช้จ่ายที่ใช้สำหรับการรักษาด้วยการทำไตเทียมคิดเป็นจำนวนเงินสูงถึงหลายพันล้านบาทต่อปี โรคไตจึงเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย
      ไตเป็นอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ ร่างกายทุกคนจะมีไตอยู่ที่บริเวณบั้นเอวแต่ละข้าง ข้างละ ๑ อัน มีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วแดงขนาดใหญ่ความยาวประมาณ ๑ คืบ ไตมีหน้าที่หลักในการกรองของเสียออกจากระบบเลือดโดยในแต่ละวันเลือดที่ไหลออกจากหัวใจและผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่จะถูกส่งเข้าไปสู่หลอดเลือดแดงของไตแต่ละข้าง ภายในไตจะมีเนฟรอนซึ่งเป็นหน่วยไตขนาดเล็กจำนวนมหาศาลทำการกรองเลือดแล้วส่งเลือดที่กรองแล้วผ่านหลอดเลือดดำของไตกลับเข้าไปสู่หัวใจอีกครั้งหนึ่งของเสียที่กรองได้จากการทำงานของร่างกาย ได้แก่ ยูเรียและครีอะตินินจะถูกขับออกมาในรูปของน้ำปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะ  นอกจากกรองของเสียแล้วไตยังมีหน้าที่ปรับสมดุลของน้ำในร่างกายโดยการขับน้ำส่วนที่เกินความต้องการออกมาทางท่อปัสสาวะรวมทั้งปรับสมดุลของเกลือแร่และกรด-ด่างในร่างกายโดยขับเกลือแร่ส่วนเกินหลังรับประทานอาหารที่เค็มจัดหรือขับสารที่มีฤทธิ์เป็นกรดซึ่งเกิดจากโปรตีนที่รับประทานเข้าไป นอกจากนี้ไตยังสามารถผลิตสารสำคัญอีกหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนเรนินสำหรับควบคุมความดันโลหิตและการดูดซึมเกลือแร่ของไต ฮอร์โมนอิริโทรพอยอีตินสำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดงจากไขกระดูก วิตามินดีสำหรับการดูดซึมแคลเซียมและเสริมสร้างกระดูก

 

โรคไต
ระบบทางเดินปัสสาวะ


      โดยปกติแล้วแม้ว่าจะต้องเสียไตไปข้างหนึ่งเราก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ด้วยไตปกติข้างที่เหลือเนื่องจากไตสามารถปรับการทำงานให้สมดุลได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามถ้าร่างกายเกิดการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง เช่น มีอาการท้องเดินหรือเสียเลือดในปริมาณมากไตอาจสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็วทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงยิ่งไปกว่านั้นการที่ร่างกายได้รับสารพิษบางอย่างหรือมีอาการอักเสบอย่างรุนแรงจากการติดเชื้อก็สามารถทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้เช่นกันซึ่งอาจจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการฟอกเลือดเพื่อกำจัดของเสียที่ค้างอยู่ในร่าง กายออกโดยเร็วเพื่อให้ไตสามารถฟื้นตัวและทำงานได้อีกครั้ง  ความจริงแล้วผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่มักไม่สามารถฟื้นฟูไตให้กลับมาใช้งานใหม่ได้สาเหตุเนื่องจากเป็นโรคไตเรื้อรังโดยไตของผู้ป่วยจะถูกทำลายช้า ๆ อย่างต่อเนื่องและถาวร  จากผลของโรคข้างเคียงและปัจจัยต่าง ๆ จนในที่สุดผู้ป่วยต้องรักษาด้วยการฟอกเลือดหรือรอการปลูกถ่ายไตใหม่จากผู้บริจาคเท่านั้น ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเป็นโรคไตเรื้อรัง คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดต่าง ๆ ทำให้หลอดเลือดแดงเล็กของผู้ป่วยหนาขึ้นและแข็งตัวเลือดจึงไหลไปเลี้ยงไตและอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลงส่งผลให้เนื้อไตถูกทำลายทีละน้อย ๆ แต่ยังไม่แสดงอาการของโรคอย่างรุนแรงจนกว่าการทำงานของไตเหลือน้อยกว่า ๑ ใน ๔ นอกจากนี้ยังมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ไตที่อักเสบกลายเป็นแผลพังผืดและเสื่อมสภาพไปในที่สุด

 

โรคไต
ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยการฟอกไต

 

      ภาวะไตเรื้อรังยังอาจเกิดจากการอุดตันในทางเดินปัสสาวะ เช่น จากนิ่ว ต่อมลูกหมากโต หรือมีเนื้องอกที่ทางเดินปัสสาวะจนทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งลุกลามไปจนทำลายเนื้อไตได้และยังอาจเกิดการอักเสบของไต จากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายซึ่งเกิดจากการมีถุงน้ำเนื้องอกหรือมะเร็งที่ไต การได้รับยาหรือสารพิษอย่างต่อเนื่องตลอดจนการเป็นโรคไขข้อและมีกรดยูริกในเลือดสูง รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปีขึ้นไป หรือผู้ที่สมาชิกในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคไต

 

โรคไต
เครื่องฟอกไต
โรคไต
ระบบทางเดินปัสสาวะ

 

อาการแรกเริ่มของโรคไต  

      ได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร บวมและคันตามตัว ปัสสาวะมากในเวลากลางคืน เหล่านี้ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยหาโรคไตโดยเร็วทั้งการตรวจหาโปรตีนหรือเม็ดเลือดที่รั่วปนในปัสสาวะ การตรวจวัดค่าครีอะตินินในเลือดเพื่อดูการทำงานของไตและการถ่ายภาพเอกซเรย์หรือใช้คลื่นเสียงตรวจดูสภาพของไต ถ้าไตของผู้ป่วยยังไม่เสื่อมสภาพมากนักอาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาควบคุมระดับความดันโลหิตเกลือแร่และกรด-ด่างในเลือดร่วมกับการควบคุมอาหารให้เหมาะสมเพื่อชะลอการเสื่อมของไตแต่ผู้ป่วยโรคไตบางรายอาจไม่มีอาการอะไรนำมาก่อน  ในกรณีที่ไตของผู้ป่วยเสียการทำงานไปมากแล้วแพทย์จะให้การรักษาผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายนี้ด้วยวิธีการล้างไตซึ่งเป็นการฟอกเลือดของผู้ป่วยเพื่อล้างของเสียที่สะสมอยู่ออกจากร่างกายอาจใช้วิธีให้เลือดของผู้ป่วยออกมาผ่านตัวกรองในเครื่องไตเทียมแล้วหมุนเวียนเลือดดีกลับเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยหรืออาจใช้วิธีล้างไตด้วยการใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องรอให้ของเสียในเลือดผ่านเยื่อบุช่องท้องเข้าไปยังน้ำยาล้างไตเพื่อแลกเปลี่ยนกับน้ำยาดีแล้วถ่ายน้ำยาเสียออกก่อนที่จะทำซ้ำอีกหลายครั้ง  ผู้ป่วยจะต้องรับการรักษาเช่นนี้ไปตลอดชีวิตหรือจนกว่าจะได้รับการผ่าตัดนำไตจากญาติหรือผู้บริจาคที่มีเนื้อเยื่อเข้ากันได้มาปลูกถ่ายให้ใหม่ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุน้อย แข็งแรง และไม่มีข้อห้ามของการปลูกถ่ายไต

      ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงทุกคนควรตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อหาสัญญาณของการเป็นโรคไตและโรคที่อาจก่อให้เกิดอาการไตอักเสบได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ โรคนิ่ว และเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ควรดูแลรักษาร่างกายเพื่อให้ไตทำงานเป็นปกติ เช่น พยายามไม่ให้ร่างกายขาดน้ำเมื่อมีอาการท้องเดินหรือเมื่ออยู่ในที่ที่อากาศร้อนจัด ไม่รับประทานยาแก้ปวดเป็นระยะเวลานานเกินไป ไม่ควรใช้ยาที่โฆษณาอวดสรรพคุณต่าง ๆ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อไตหรือไม่ใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อไต ตลอดจนงดการสูบบุหรี่และลดการบริโภคอาหารที่เค็มจัดมีไขมันสูงหรือมีกรดยูริกมาก

 

โรคไต
อาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไต เช่น อาหารรสเค็มจัด อาหารหวานจัด อาหารหมักดอง อาหารที่มีไขมันสูง

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow