โรคมาลาเรียเป็นโรคที่มีมานานแล้วในประเทศไทย มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ ชื่อที่คุ้นหูคือโรคไข้จับสั่นเพราะคนที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการเป็นไข้หนาวสั่นเป็นพัก ๆ การเกิดโรคมาลาเรียมีสาเหตุมาจากการที่คนถูกยุงชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ยุงก้นปล่อง กัดและดูดเลือดพร้อมกับปล่อยเชื้อมาลาเรียเข้าไปในกระแสเลือดของคนที่ถูกกัด ส่วนที่เรียกว่ายุงก้นปล่องเนื่องจากยุงชนิดนี้เมื่อเกาะบนผิวหนังคนเพื่อกัดและดูดเลือดจะยกส่วนที่เป็นก้นชี้สูงขึ้นซึ่งแตกต่างจากยุงธรรมดาและมีเฉพาะยุงก้นปล่องเพศเมียเท่านั้นที่ดูดกินเลือดจากคน แหล่งที่อยู่อาศัยของยุงก้นปล่องคือตามบริเวณป่าดงหรือใกล้แหล่งน้ำที่มีวัชพืชขึ้นรกเมื่อคนเดินทางเข้าไปในบริเวณที่อยู่อาศัยของยุงก้นปล่องโดยไม่ระมัดระวังก็จะถูกยุงก้นปล่องกัดและได้รับเชื้อมาลาเรียมาจากยุง
ในสมัยก่อนโรคมาลาเรียเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในภูมิภาคเขตร้อนของทวีปต่าง ๆ เช่น ทวีปเอเชีย ทวีปแอฟริกา ซึ่งมีคนป่วยด้วยโรคมาลาเรียและเสียชีวิตเป็นจำนวนนับล้านคนในแต่ละปีทั้งนี้เพราะยังไม่มีวิธีกำจัดยุงก้นปล่องและวิธีรักษาคนที่ป่วยด้วยโรคมาลาเรียอย่างได้ผล ปัจจุบันโรคมาลาเรียมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับสมัยก่อนเนื่องจากมีวิธีการกำจัดยุงก้นปล่องให้ลดน้อยลงและมีวิธีรักษาคนที่ป่วยเป็นโรคมาลาเรียให้หายขาดได้แต่ถึงกระนั้นโรคมาลาเรียก็ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว ตามบริเวณป่าดงยังคงมียุงก้นปล่องซึ่งเป็นพาหะของโรคอาศัยอยู่มากคนที่เดินทางเข้าไปในป่าเมื่อถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัดก็จะได้รับเชื้อมาลาเรียเข้าไว้ในตัว นอกจากตนเองจะป่วยเป็นโรคมาลาเรียแล้วยังอาจแพร่เชื้อไปให้คนอื่นที่ถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัดต่อไปอีก
โรคมาลาเรียมีทั้งชนิดรุนแรงและไม่รุนแรงหากเป็นชนิดไม่รุนแรงผู้ป่วยอาจเพียงมีไข้ ตัวซีด ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไม่ถึงกับเสียชีวิตแต่ถ้าเป็นชนิดรุนแรงผู้ป่วยจะมีอาการทางสมองชักหรือหมดสติ อวัยวะที่สำคัญบางอย่างไม่ทำงานตามปกติ เช่น ปอดบวมน้ำ ไตวาย ดีซ่าน อ่อนแรงมาก จนบางรายถึงกับเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา ผู้ที่สงสัยว่าจะได้รับเชื้อมาลาเรีย เนื่องจากเคยเดินทางเข้าไปในป่าดงหรือในถิ่นที่มีโรคมาลาเรียโดยเฉพาะป่าตามชายแดนของประเทศไทยแล้วมีอาการไข้ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคมาลาเรียหรือไม่หากเป็นโรคมาลาเรียจะได้ให้การรักษาตามวิธีที่ถูกต้องโดยให้ยาที่เหมาะสมกับเชื้อมาลาเรียที่อยู่ในร่างกายของผู้ป่วยเนื่องจากเชื้อมาลาเรียมีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดต้องการยารักษาที่ไม่เหมือนกันหากให้ยาไม่ตรงกับชนิดก็ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้
การป้องกันไม่ให้เป็นโรคย่อมดีกว่าการปล่อยให้เป็นโรคแล้วจึงรักษาเพราะไม่ต้องเสี่ยงต่อการเสียสุขภาพอนามัยและค่ารักษาพยาบาล ดังนั้นทุกคนจึงควรรู้วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคมาลาเรียโดยหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในป่าดงหรือถิ่นที่มีโรคมาลาเรียระบาดหากจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปก็ต้องป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดโดยการทายากันยุง การนอนในมุ้งโดยเฉพาะมุ้งที่ชุบยาฆ่ายุง การสวมเสื้อผ้ามิดชิดและต้องดูที่พักแรมว่าไม่เป็นที่อยู่อาศัยของยุง สำหรับบ้านพักอาศัยที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำในป่าควรถางวัชพืชในบริเวณที่เป็นทางน้ำไหลเลี้ยงปลากินลูกน้ำเพื่อไม่ให้ยุงแพร่พันธุ์อย่างรวด เร็วและต้องกลบดินที่เป็นหลุมเป็นบ่อหรือมีน้ำขังเพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของยุง
โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำเชื้อมาลาเรียจากคนที่เป็นโรคไปแพร่กระจายให้แก่คนอื่น ๆ ต่อไป การแพร่กระจายของโรคเกิดจากยุงก้นปล่องไปกัดและดูดเลือดจากคนที่มีเชื้อมาลาเรียอยู่ในร่างกาย เชื้อมาลาเรียก็จะไปเจริญเติบโตอยู่ในตัวยุงเมื่อยุงตัวนั้นไปกัดและดูดเลือดคนอื่น ๆ ก็จะถ่ายเชื้อมาลาเรียให้แก่คนที่ถูกยุงกัดทำให้เชื้อมาลาเรียแพร่กระจายออกไปได้เรื่อย ๆ จนในที่สุดอาจมีการระบาดของโรคได้อย่างกว้างขวาง โรคมาลาเรียมีชื่อเรียกกันเป็นหลายชื่อในท้องถิ่นต่าง ๆ ของประเทศไทย ชื่อที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือโรคไข้จับสั่นเพราะผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีไข้หนาวสั่นเป็นระยะ ๆ ส่วนชื่ออื่น ๆ เป็นชื่อที่เรียกกันในบางท้องถิ่น ได้แก่ โรคไข้ป่า โรคไข้ดอกสัก โรคไข้ป้าง เหตุที่เรียกยุงที่เป็นพาหะนำเชื้อมาลาเรียว่า ยุงก้นปล่องนั้นเนื่องจากยุงชนิดนี้ เมื่อเกาะที่ผิวหนังคนเพื่อกัดและดูดเลือดจะยกส่วนก้นชี้ตั้งขึ้นคล้ายปล่องซึ่งแตกต่างจากยุงธรรมดาและภายในร่างกายของยุงมีส่วนที่เชื้อมาลาเรียสามารถเจริญเติบโตจนเป็นเชื้อที่สามารถทำให้เกิดโรคได้หากยุงตัวนั้นไปกัดคนที่น่าสังเกตคือ ยุงก้นปล่องที่กัดและดูดเลือดคนเป็นยุงเพศเมียเท่านั้น
เชื้อมาลาเรียมีอยู่หลายชนิดและมีชื่อเรียกแตกต่างกัน การรักษาโรคมาลาเรียให้ได้ผลดีจำเป็นต้องมีการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นเชื้อชนิดใดก่อนจึงจะสามารถให้ยาที่เหมาะสมกับเชื้อชนิดนั้น ๆ ผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อมาลาเรีย เช่น มีไข้หลังออกจากป่าควรไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคมาลาเรียหรือไม่และเป็นเชื้อชนิดใดแพทย์จะได้ให้ยารักษาที่ถูกต้อง การระบาดของโรคมาลาเรียมีมากในเขตร้อนของทวีปต่าง ๆ โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริการวมทั้งประเทศไทยในสมัยก่อนโรคมาลาเรียเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประชากรในประเทศไทยแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการรณรงค์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทยไม่ให้แพร่กระจายมากแต่ก็ยังคงมีอยู่ในบางท้องถิ่น เช่น ตามบริเวณแนวชายแดนของประเทศไทย บริเวณพื้นที่ป่าดง บริเวณที่ติดกับแหล่งน้ำ ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของยุงก้นปล่อง
โรคมาลาเรียมีทั้งชนิดรุนแรงและไม่รุนแรงหากเป็นชนิดไม่รุนแรงจะรักษาได้ง่ายกว่าชนิดรุนแรงและทำให้ผู้ป่วยไม่ถึงกับเสียชีวิตที่ควรระวังมากคือการเกิดโรคมาลาเรียในหญิงมีครรภ์จะทำให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนดและมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ด้วย เช่น ทารกตายขณะคลอด น้ำหนักแรกคลอดน้อยหรือเมื่อทารกคลอดออกมาแล้วก็อาจได้รับเชื้อมาลาเรียจากแม่ ทำให้มีอาการของโรคได้ หน่วยงานที่ให้บริการบำบัดรักษาโรคมาลาเรีย ได้แก่ มาลาเรียคลินิก สถานีอนามัย และโรงพยาบาล สถานที่เหล่านี้มีบุคลากรสาธารณสุขและเครื่องมือที่จะทำการตรวจวินิจฉัยตลอดจนการให้ยารักษาที่ถูกต้องเหมาะสม วิธีที่ดีกว่าการรักษาเมื่อเป็นโรคแล้ว คือ การป้องกันไม่ให้เป็นโรคซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอีกทั้งไม่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วย การป้องกันไม่ให้เป็นโรคทำได้หลายวิธี เช่น ไม่เดินทางเข้าไปในถิ่นที่มีโรคมาลาเรีย บริเวณที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งน้ำในป่าควรพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดยุงหรือกางมุ้งนอนโดยเฉพาะมุ้งที่ชุบสารเคมีฆ่ายุง สวมใส่เสื้อผ้ามิดชิดเพื่อไม่ให้ถูกยุงกัด ดูแลสถานที่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของยุงโดยถางวัชพืชริมน้ำ เลี้ยงปลากินลูกน้ำเพื่อกำจัดการแพร่พันธุ์ของยุง การควบคุมโรคมาลาเรียไม่ให้ระบาด นอกจากจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐแล้วประชาชนทั่วไปก็ควรจะร่วมมีบทบาทด้วยเพราะหากประชาชนมีวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้วการควบคุมโรคก็จะทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น