Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อัตราส่วนรอบเอวต่อสะโพก บอกความเสี่ยงการเกิดโรคได้

Posted By sanomaru | 19 ก.ย. 60
60,495 Views

  Favorite

ค่า BMI (Body Mass Index) หรือดัชนีมวลกาย เป็นเครื่องมือที่ใช้วัดไขมันในร่างกายแบบง่าย ๆ โดยคำนวณจากส่วนสูงและน้ำหนัก ซึ่งจะบอกได้ว่า คุณเข่าข่ายโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกินหรือไม่ แต่นอกจากค่า BMI แแล้ว ยังมีเครื่่องมืออีกอย่างหนึ่งที่ใช้วัดไขมันและบ่งชี้ถึงภาวะสุขภาพของคุณ ตลอดจนความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจได้ด้วย นั่นคือค่า WHR (Waist-to-hip Ratio) หรืออัตราส่วนของรอบเอวต่อรอบสะโพก

 

สำหรับการวัดรอบเอวนั้น สามารถทำได้ในท่ายืนตัวตรงขณะที่หายใจออก โดยจะวัดในส่วนที่อยู่เหนือพุงขึ้นไป หรือเป็นส่วนที่คอดที่สุดของช่วงเอวนั่นเอง แต่ต้องระวังอย่าให้สายวัดตึงเกินไป ส่วนการวัดรอบสะโพกก็ต้องอยู่ในท่ายืนตรงเช่นกัน และใช้สายวัดวัดส่วนที่กว้างที่สุดของสะโพก ซึ่งสามารถบันทึกตัวเลขเป็นเซนติเมตรหรือนิ้วก็ได้ โดยที่ทั้งรอบเอวและรอบสะะโพกต้องใช้หน่วยเดียวกัน

 

ในการคำนวณหาค่า WHR หรืออัตราส่วนของรอบเอวต่อรอบสะโพก มีสูตรการคำนวณดังนี้
ค่า WHR = ความยาวของรอบเอว/ความยาวของรอบสะโพก

 

ตัวอย่างเช่น ความยาวรอบเอว 75 เซนติเมตร (30 นิ้ว) ความยาวรอบสะโพก 95 เซนติเมตร (38 นิ้ว)
ค่า WHR     = 75/95 หรือ 30/38
                = 0.789

 

โดยตามค่า WHR ที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) แนะนำไว้ อัตราส่วนนี้ไม่ควรเกิน 1.0 เพราะหากเกินกว่านั้นก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน เบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจ ซึ่งสำหรับผู้หญิงและผู้ชายนั้นแตกต่างกัน WHO แนะนำว่า
     ผู้หญิงที่มีค่า WHR เกินกว่า 0.85 บ่งชี้ว่าเป็นโรคอ้วน
     ผู้ชายที่มีค่า WHR เกินกว่า 0.9 บ่งชี้ว่าเป็นโรคอ้วน

 

ส่วนภาวะเสี่ยงต่อโรค WHO ได้แนะนำไว้ดังนี้

     ความเสี่ยงต่อโรคต่ำ    
     ค่า WHR ในผู้ชายอยู่ที่ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.95 ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.8

     ความเสี่ยงต่อโรคปานกลาง    
     ค่า WHR ในผู้ชายอยู่ที่ 0.96-1.0 ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ 0.81-0.85

     ความเสี่ยงต่อโรคสูง   
     ค่า WHR ในผู้ชายอยู่ที่ มากกว่าหรือเท่ากับ 1.0 ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ มากกว่าหรือเท่ากับ 0.86

 

โดยทั่วไปแล้ว กลุ่มที่มีค่า WHR สูง จะมีรูปร่างเป็นทรงแอปเปิ้ล (apple-shaped) ขณะที่กลุ่มที่มีค่า WHR ต่ำกว่า จะมีรูปร่างเป็นทรงลูกแพร์ (pear-shaped-สะโพกกว้างกว่าร่างกายช่วงบน) ซึ่งกลุ่มที่มีรูปร่างทรงแอปเปิ้ลจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากกว่า

ภาพ : Shutterstock

 

จากงานศึกษาวิจัยหนึ่งพบว่า ค่า WHR สามารถพยากรณ์โรคหลอดเลือดหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าค่า BMI หรือการวัดรอบเอวเพียงอย่างเดียวเสียอีก ส่วนอีกงานศึกษาวิจัยหนึ่งพบว่า ภาวะอ้วนลงพุงนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า ผู้หญิงที่มีค่า WHR สูงกว่า 0.80 จะะมีอัตราการตั้งครรภ์ต่ำกว่าผู้หญิงที่มีค่า WHR น้อยกว่านั้น

 

แม้ว่าค่า WHR จะมีประสิทธิภาพในการประเมินความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพในระดับหนึ่ง แต่ความคลาดเคลื่อนก็ยังคงมีอยู่ หากการวัดสัดส่วนไม่ถูกต้อง หรือมีการคำนวณผิดพลาด แต่โดยรวมแล้ว ก็ยังสามารถใช้ประเมินในเบื้องต้นได้ และในท้ายสุดหากคุณส่องกระจกแล้วเห็นว่ารูปร่างเปลี่ยนไป นั่นก็เป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งว่าควรหันมาเลือกรับประทานอาหารและออกกำลังกาย แต่หากรู้สึกว่าร่างกายมีความผิดปกติไป ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันการเกิดโรคเสียแต่เนิ่น ๆ

 

ภาพปก : Shutterstock

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow