Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การประกวดและแข่งขันหุ่นยนต์ในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 03 เม.ย. 60
1,843 Views

  Favorite

การประกวดและแข่งขันหุ่นยนต์ในประเทศไทย

การประกวดและแข่งขันหุ่นยนต์ สพฐ. ชิงแชมป์ประเทศไทย

      เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) การแข่งขันแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ การประกวดหุ่นยนต์ (หุ่นยนต์ความคิดสร้างสรรค์) และการแข่งขันหุ่นยนต์ (การแข่งขันทำภารกิจบนสนามไม้) กติกาการแข่งขันจะแตกต่างกันไปในแต่ละปีเพื่อให้การแข่งขันเกิดความสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ และเป็นการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมในการแข่งขันโดยทีมที่ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ คือ การแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์โลก (World Robot Olympiad: WRO)

การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย

      เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาจัดโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. และสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ การแข่งขันนี้จัดขึ้นเพื่อคัดเลือกทีมที่ชนะเลิศเป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ เอบียู เอเชีย-แปซิฟิก โรบอต คอนเทสต์ (ABU Asia-Pacific Robot Contest) ซึ่งจัดขึ้นโดยสหภาพวิทยุและโทรทัศน์แห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (The Asia-Pacific Broadcasting Union: ABU) โดยสถานีโทรทัศน์ที่เป็นสมาชิกของเอบียูจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันขึ้นเป็นประจำทุกปี กติกาการแข่งขันจะกำหนดขึ้นโดยเจ้าภาพที่จัดการแข่งขันซึ่งส่วนมากจะดัดแปลงจากขนบธรรมเนียมประเพณีหรือสัญลักษณ์ที่สำคัญของแต่ละประเทศทำให้การแข่งขันเกิดความสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ และยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมที่ดีงามให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันจากประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ทางสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ยังจัดการแข่งขันอื่น ๆ อีก ได้แก่ การแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ด้วยพีแอลซีและการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ยุวชนกรังด์ปรีซ์

 

หุ่นยนต์
การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย

 

การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทย

      เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับอุดมศึกษาจัดโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมการแข่งขันนี้จะพัฒนาทีมหุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบใช้ล้อทีมละไม่เกิน ๖ ตัว เพื่อเลี้ยงลูกฟุตบอลและยิงประตูฝ่ายตรงข้ามโดยการแข่งขันจะต้องอาศัยความรู้เรื่องระบบภาพการประมวลผลภาพในคอมพิวเตอร์และใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการวางแผนการรุกและรับโดยผู้ชนะเลิศจะได้เป็นตัว แทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก (World RoboCup)

 

หุ่นยนต์
การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทย

 

การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย

      เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาจัดขึ้นโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะพัฒนาหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดยคนหรือหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อใช้ในการกู้ภัยโดยมีการจำลองสนามจากซากปรักหักพังและมีหุ่นเหยื่อวางอยู่ตามตำแหน่งต่าง ๆ หุ่นยนต์ต้องใช้อุปกรณ์ตรวจรู้ในการสำรวจตำแหน่ง อุณหภูมิ เสียง และการเคลื่อนไหวของหุ่นเหยื่อเพื่อสร้างแผนที่และระบุตำแหน่งรวมทั้งสภาวะของหุ่นเหยื่อได้อย่างถูกต้องและแม่นยำโดยผู้ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก

การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย

      เป็นการแข่งขันประดิษฐ์รถระบบอัตโนมัติในระดับอุดมศึกษาจัดโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะพัฒนารถระบบอัตโนมัติที่สามารถเคลื่อนที่จากจุดเริ่มต้นไปสู่จุดหมายปลายทางได้โดยไม่ต้องมีผู้ควบคุมหรือเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งรถอัจฉริยะต้องมีความสามารถในการหลบหลีกสิ่งกีดขวางและปฏิบัติตามสัญญาณจราจรได้อย่างถูกต้อง การแข่งขันต้องอาศัยความรู้ในเรื่องระบบภาพ การประมวลผลภาพ และการประมวลผลสัญญาณบอกตำแหน่งจากดาวเทียม

 

หุ่นยนต์
การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย

 

การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทย

      เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับอุดมศึกษาจัดขึ้นโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะพัฒนาหุ่นยนต์เดิน ๒ ขาขนาดเล็กโดยในสนามแต่ละทีมจะมีหุ่นยนต์ผู้เล่นทีมละ ๓ ตัว หุ่นยนต์ต้องมีความเป็นอัตโนมัติ การประมวลผลจากภาพ การตัดสินใจ และการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ก็ต้องทำภายในตัวของหุ่นยนต์  ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องของขนาดและการทรงตัว ไม่มีการใช้หน่วยประมวลผลกลาง นอกจากนี้ยังต้องมีการทำงานแบบกระจายซึ่งหมายความว่าหุ่นยนต์แต่ละตัวต้องทำงานได้อย่างเป็นอิสระต่อกันโดยใช้หน่วยประมวลผลที่ตัวหุ่นยนต์เท่านั้นส่วนการติดต่อสื่อสารระหว่างหุ่นยนต์สามารถทำได้โดยการใช้ระบบเครือข่ายแบบไร้สาย (wireless networks) โดยผู้ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก

 

หุ่นยนต์
หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์แข่งขันฟุตบอล

 

การแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย

      เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษาจัดโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ในการแข่งขันผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันจะต้องออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อใช้ในการรับคำสั่งต่าง ๆ จากมนุษย์  ดังนั้นตัวหุ่นยนต์จึงต้องประกอบไปด้วยอุปกรณ์ตรวจรู้ต่าง ๆ มากมาย เช่น กล้องที่ใช้ในการรับภาพ ไมโครโฟนที่ใช้ในการรับฟังเสียง  อุปกรณ์ตรวจรู้ที่ใช้ในการนำทางเคลื่อนที่และตรวจสิ่งกีดขวาง อุปกรณ์และกลไกในการหยิบจับสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งกลไกการเคลื่อนที่  นอกจากนี้หุ่นยนต์ยังต้องมีการประมวลผลที่ชาญฉลาดเพราะต้องแยกแยะแต่ ละคำสั่งที่ได้รับจากมนุษย์สามารถที่จะคิดวิเคราะห์ในคำสั่งแยกแยะสิ่งต่าง ๆ และทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จลุล่วง โดยผู้ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก

การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย

      เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษาจัดโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ในการแข่งขันผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันจะต้องออกแบบและพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการรักษาสมดุลแบบ ๒ ล้อหน้า-หลังได้ด้วยตัวเองโดยไม่ล้มไปด้านข้าง  โดยนำความรู้ด้านพลศาสตร์มาใช้ในการควบคุมจึงสามารถวิ่งได้เองจากจุดเริ่มต้นไปถึงเส้นชัยโดยไร้คนบังคับ การแข่งขันจะต้องอาศัยทักษะความรู้ในเรื่องอุปกรณ์ตรวจรู้ต่าง ๆ การรักษาสมดุลทรงตัว การประมวลผลภาพ และการประมวลสัญญาณบอกตำแหน่งจากดาวเทียม

 

หุ่นยนต์
การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย

 

การแข่งขันหุ่นยนต์ไอเน็กซัสชิงแชมป์ประเทศไทย

      เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษาจัดโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ในการแข่งขันผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันจะพัฒนาหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ (๑ ตัว) และหุ่นยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (ไม่เกิน ๒ ตัว) ที่สามารถทำงานร่วมกันในการนำวัตถุที่วางสุ่มอยู่ในสนามกลับมายังตำแหน่งเริ่มต้นได้  โดยหุ่นยนต์บังคับด้วยมือและหุ่นยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติต้องเดินทางกลับมายังตำแหน่งเริ่มต้นและระหว่างการเดินทางกลับนี้หุ่นยนต์บังคับด้วยมือสามารถให้ความช่วยเหลือหุ่นยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้

การแข่งขันออกแบบสร้างหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย

      การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเพื่อสร้างการเรียนรู้พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ตามโจทย์จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ  การแข่งขันจัดขึ้นเพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ ไอดีซี โรโบคอน (the Internation Design Contest: IDC RoBoCon) รูปแบบของการแข่งขันคือ ทีมแข่งขันที่ประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันจะได้รับการอบรมภาคทฤษฎีเพื่อให้ความรู้ทางด้านการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์พร้อมทั้งลงมือสร้างหุ่นยนต์จริงจำนวน ๒ ตัวสำหรับใช้ในการแข่งขัน การแข่งขันนี้นอกจากจะได้รับความสนุกสนานแล้วยังได้มิตรภาพและได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมรวมทั้งได้ประสบการณ์ต่าง ๆ มากมายนอกเหนือจากในชั้นเรียนอีกด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow