การสำรวจหาพื้นที่ศักยภาพของแร่ทองคำของกรมทรัพยากรธรณีพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพของแร่ทองคำสูงยกเว้นบริเวณพื้นที่ตอนกลางและตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นที่ราบสูงที่ประกอบด้วยหินชั้นเป็นส่วนใหญ่และพื้นที่ของภาคกลางตอนล่างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแอ่งเจ้าพระยาที่ถูกปิดทับด้วยหินชั้นและตะกอน ผลการสำรวจสามารถกำหนดพื้นที่หลักที่มีศักยภาพแร่ทองคำสูงได้ ๒ แนว คือ
๑. พื้นที่ที่อยู่ในแนวพาดผ่านตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และระยอง
๒. พื้นที่ที่อยู่ในแนวพาดผ่านตั้งแต่จังหวัดเชียงราย แพร่ ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก
ประเทศไทยมีแหล่งแร่ทองคำที่เกิดแบบปฐมภูมิประมาณ ๗๐ แห่ง และแบบทุติยภูมิประมาณ ๑๐๐ แห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในเชิงพาณิชย์สามารถลงทุนทำเหมืองผลิตแร่ทองคำได้อย่างคุ้มค่าจำนวน ๒ แหล่ง มีปริมาณทรัพยากรแร่ทองคำที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการเพื่อดำเนินการทำเหมืองผลิตแร่ไปแล้วมีประมาณ ๒๒,๐๐๐ กิโลกรัม หรือประมาณ ๒๒ เมตริกตัน และในเบื้องต้นปริมาณสำรองแหล่งแร่ทองคำแบบคาดคะเนของไทยมีประมาณ ๑๖๘,๐๐๐ กิโลกรัมหรือประมาณ ๑๖๘ เมตริกตัน พื้นที่ที่มีศักยภาพสูงเชิงพาณิชย์ที่สามารถลงทุนทำเหมืองผลิตแร่ทองคำได้อย่างคุ้มค่า ปัจจุบันมีอยู่ ๒ แหล่ง คือ
ของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตรอยต่อของอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๑,๒๐๐ ไร่ จากการประเมินเบื้องต้นของ บริษัทฯ พบว่าพื้นที่แหล่งแร่ทองคำชาตรีมีปริมาณแร่สำรองประมาณ ๑๔.๕๐ ล้านเมตริกตัน ที่ค่าความสมบูรณ์ของทองคำและเงินโดยเฉลี่ยประมาณ ๒.๖๐ และ ๑๓.๓๐ กรัมต่อเมตริกตัน ตามลำดับ ซึ่งสามารถผลิตโลหะทองคำได้ประมาณ ๓๒,๐๐๐ กิโลกรัมหรือประมาณ ๓๒ เมตริกตัน และผลิตโลหะเงินได้ประมาณ ๙๘,๐๐๐ กิโลกรัมหรือประมาณ ๙๘ เมตริกตัน แหล่งแร่นี้ได้เริ่มดำเนินการทำเหมืองผลิตแร่ตั้งแต่เมื่อปลาย พ.ศ. ๒๕๔๔
ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๑,๓๐๐ ไร่ จากการประเมินในเบื้องต้นของบริษัทฯ พบว่าพื้นที่แหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้ามีปริมาณแร่สำรองประมาณ ๑ ล้านเมตริกตันที่ค่าความสมบูรณ์ของทองคำโดยเฉลี่ยประมาณ ๕ กรัมต่อเมตริกตันซึ่งสามารถผลิตโลหะทองคำได้ประมาณ ๕,๐๐๐ กิโลกรัมหรือประมาณ ๕ เมตริกตัน แหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้าได้เริ่มดำเนินการสำรวจตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ ปัจจุบันได้ดำเนินการทำเหมืองผลิตแร่แล้ว
ในปัจจุบันพื้นที่ประเทศไทยที่มีศักยภาพสูงในการผลิตแร่ทองคำ ประกอบด้วย ๙ พื้นที่ ดังนี้
๑. พื้นที่ในเขตตอนเหนือของจังหวัดอุดรธานี อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย อำเภอเมืองฯ อำเภอเชียงคาน และอำเภอปากชม จังหวัดเลย
๒. พื้นที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอเมืองฯ และอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว
๓. พื้นที่อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และอำเภอวังชิ้น อำเภอลอง จังหวัดแพร่
๔. พื้นที่อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ขึ้นไปทางเหนือผ่านอำเภอเมืองฯ อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
๕. พื้นที่อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ลงไปถึงอำเภอบ้านบึง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี จรดชายฝั่งทะเลที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
๖. พื้นที่อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอปะทิว และอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
๗. พื้นที่อำเภอสุคิริน อำเภอระแงะ และอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส และบริเวณตอนใต้ของจังหวัดยะลา
๘. พื้นที่อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ถึงอำเภอสวนผึ้ง และอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
๙. พื้นที่อำเภอเมืองฯ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอโคกสำโรง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี และอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์