ทองคำมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษโบราณว่า จีโอลู (geolu) แปลว่า เหลืองอร่าม เปล่งปลั่ง อ่อน ยืด ดึงได้ ภาษาอังกฤษในปัจจุบันคือ โกลด์ (gold) ภาษาละตินเรียกว่า ออรัม (aurum) และภาษาจีนเรียกทองคำว่า กิม (kim) ทองคำเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง ร่ำรวย และเป็นสื่อแห่งวัฒนธรรม เครื่องทองเก่าแก่ที่สุดค้นพบได้ที่เมืองวาร์นา ประเทศบัลแกเรียเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๕ มีอายุประมาณ ๖,๖๐๐ ปี
ประวัติทองคำของประเทศไทยมีหลักฐานจากหลักศิลาจารึกกรุงสุโขทัยระบุว่า “ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือน ค้าทอง ค้า” แสดงให้เห็นว่าธุรกิจค้าขายทองคำมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและจากการขุดค้นพบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ เช่น พระพุทธรูปที่ประดับหุ้มหรือหล่อด้วยทองคำ ในสมัยต่าง ๆ เช่น สมัยทวารวดี ศรีวิชัย เชียงแสน ก็ถือเป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ทองคำของไทยได้เป็นอย่างดี ในพ.ศ. ๒๔๙๘ มีการค้นพบพระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “หลวงพ่อทองคำ” อายุประมาณ ๗๐๐ ปี มีน้ำหนักกว่า ๕ เมตริกตัน เป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งถูกบันทึกไว้ในหนังสือกินเนสส์บุ๊ก ฉบับพ.ศ. ๒๕๓๔ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ