Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทองคำ

Posted By Plookpedia | 07 มี.ค. 60
15,402 Views

  Favorite

ทองคำ

      เมื่อกล่าวถึง “ทองคำ” หรือเรียกกันว่าสั้น ๆ ว่า “ทอง” ทุกคนมักนึกถึงโลหะที่มีค่ามากชนิดหนึ่ง มีสีเหลืองอร่าม มีประกายแวววาว ไม่หมองหรือเป็นสนิม เมื่อเก็บไว้นาน ๆ ทนทานต่อการสึกกร่อนและนำมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่ต้องการ นิยมนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน กำไล นอกจากนี้ยังนำไปหล่อเป็นพระพุทธรูป หรือเป็นชิ้นส่วนของสิ่งประดิษฐ์และเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ปากกา นาฬิกาข้อมือ กรอบแว่นตา หัวเข็มขัด  ในสมัยโบราณเมื่อยังไม่มีการใช้ธนบัตรมีการนำทองคำมาทำเป็นเงินตราซึ่งมีราคาสูงกว่าเงินเหรียญที่ทำด้วยโลหะชนิดอื่น ๆ เช่น เงิน ทองแดง ดีบุก นิกเกิล แต่หลังจากมีการใช้ธนบัตรแล้วการใช้ทองคำเป็นเงินตราก็ยังคงมีอยู่ในบางประเทศหรือใช้เป็นสิ่งที่ระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญในบางโอกาส เช่น เหรียญที่ระลึก แต่คนมักนิยมเก็บสะสมไว้เป็นสมบัติส่วนตัวไม่นำมาใช้

 

ทองคำ

 

      ทองคำที่คนนิยมสะสมแบ่งออกเป็น ๒ ชนิดใหญ่ ๆ คือ ทองรูปพรรณเป็นการนำทองคำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับและสิ่งของเครื่องใช้ที่มีราคาแพง เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน กำไล กระดุมเสื้อ เข็มกลัด กรอบรูป และทองแท่งเป็นการนำทองคำมาหลอมเป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีน้ำหนักมากหรือน้อยตามต้องการ ไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันแต่เก็บสะสมไว้เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งเพื่อแสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจของผู้เป็นเจ้าของ  ทองคำทั้ง ๒ ชนิดมีการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราได้ในราคาที่กำหนดไว้ค่อนข้างแน่นอนของแต่ละวัน ตามปกติราคาของทองรูปพรรณจะสูงกว่าราคาของทองแท่งเล็กน้อยเพราะการนำทองแท่งมาประดิษฐ์เป็นทองรูปพรรณชนิดต่าง ๆ จะมีค่าจ้างในการประดิษฐ์เรียกว่า “ค่ากำเหน็จ”

 

ทองคำ
ทองคำ

 

ทองคำ

 

      การเกิดของแร่ทองคำมีอยู่ ๒ แบบ คือ แบบปฐมภูมิเกิดจากการสะสมตัวของแร่ทองคำอยู่ในหินชนิดต่าง ๆ และแบบทุติยภูมิหรือแบบลานแร่เกิดจากการผุพังของหินที่มีแร่ทองคำสะสมอยู่โดยอาจสะสมตัวอยู่ในที่เดิมหรืออาจถูกน้ำพัดพาไปสะสมตัวอยู่ตามเชิงเขาหรือลำน้ำในบริเวณใกล้เคียงซึ่งต้องสำรวจแหล่งแร่แล้วทำเหมืองขุดเจาะนำแร่ทองคำนั้นมาเข้าสู่กระบวนการแต่งแร่ให้ได้ทองคำบริสุทธิ์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ต่อไป  ปัจจุบันมีเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยเปิดดำเนินการอยู่ ๒ เหมือง คือ แหล่งแร่ทองคำชาตรีของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตรอยต่อของอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ และแหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้าของบริษัททุ่งคำ จำกัด อยู่ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

 

 

 

      ทุกคนคงเคยเห็นหรือเคยมีเครื่องประดับประเภทสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ต่างหู ที่มีสีเหลืองอร่ามเมื่อสวมใส่แล้วทำให้ดูสวยงาม  มีสง่าราศี เครื่องประดับชนิดนี้ทำด้วยทองคำซึ่งเป็นแร่โลหะชนิดหนึ่งในจำนวนแร่โลหะต่าง ๆ ที่มีอยู่หลายชนิด เป็นแร่ที่หายากและมีค่ามาก นอกจากทำเป็นเครื่องประดับแล้วยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้หลากหลาย เช่น เป็นส่วนผสมของชุดนักบินอวกาศและอุปกรณ์อื่น ๆ ด้านทันตกรรม รูปปั้น รูปหล่อ ตลอดจนส่วนประกอบของอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้าต่าง ๆ นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการเก็บทองคำไว้เป็นทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทางการเงินการคลังของประเทศ  มนุษย์ต่างแสวงหาและต้องการครอบครองทองคำมาตั้งแต่โบราณไม่ว่าจะเป็นทองรูปพรรณ เช่น สร้อยคอ กำไล ต่างหู ฯลฯ บางคนก็เก็บสะสมเป็นทองคำแท่งซึ่งสามารถนำออกมาจำหน่ายได้อย่างรวดเร็วและได้ราคาดี  ในสมัยโบราณมนุษย์ยึดถือทองคำเป็นวัตถุที่ใช้แทนเงินตราซื้อ-ขายสินค้า การครอบครองทองคำไว้ในปริมาณมากเป็นสิ่งแสดงถึงความร่ำรวย ความเป็นผู้นำ และการเป็นผู้มีอำนาจ

 

ทองคำ
ปิดทองคำเปลวองค์พระพุทธรูป

 

ทองคำกับคนไทย   

      พุทธศาสนิกชนซึ่งมีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับวัดคงสังเกตเห็นพระพุทธรูปที่เป็นทองคำเหลืองอร่ามโดยอาจหล่อด้วยทองคำทั้งองค์หรือหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์แล้วปิดด้วยทองคำเปลว นอกจากนี้ยังมีการใช้ทองคำประดับตกแต่งส่วนอื่น ๆ ภายในวัด เช่น นำทองคำมาประดับตกแต่งอุโบสถ วิหาร เจดีย์ และปรางค์ ด้วยเหตุนี้คนไทยจึงถือว่าทองคำเป็นโลหะมงคลเป็นของมีค่าสูงจึงมักนำมาตั้งเป็นชื่อใช้เรียกขานกัน เช่น ทอง ทองคำ สุวรรณ หรือเป็นชื่อของจังหวัด เช่น จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

 

ทองคำ
พระพุทธชินราชประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารจังหวัดพิษณุโลก
ใช้ทองคำหุ้มองค์พระพุทธรูป


      อาชีพหนึ่งของคนไทยที่ทำกันมาแต่โบราณและเกี่ยวข้องกับทองคำ คือ ช่างทอง ส่วนใหญ่เป็นการทำเครื่องทองโบราณ เช่น การทำถมทอง ทองลงยา คร่ำทอง ลงรักปิดทอง ที่ถือเป็นงานศิลปะชั้นสูง นอกจากนี้เป็นงานสถาปัตยกรรม ได้แก่ การสร้างโบสถ์ วิหาร และงานด้านจิตรกรรม เช่น การตกแต่งภายในวัดเหล่านี้แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่งดงามของสังคมไทยมาแต่สมัยโบราณและเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน  การค้าขายทองคำมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยอาศัยหลักฐานจากศิลาจารึกกรุงสุโขทัยว่า “ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า  ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า” และจากการขุดพบศิลปวัตถุ ได้แก่ พระพุทธรูปต่าง ๆ ที่มีทองคำหุ้มหรือหล่อด้วยทองคำ เช่น พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรหรือเรียกอีกชื่อว่า หลวงพ่อทองคำซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยที่หล่อด้วยทองคำทั้งองค์ได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กรุงเทพฯ ปัจจุบันทองคำเข้ามามีบทบาทในสังคมและการดำรงชีวิตของคนไทยมากกว่าในอดีตเพราะในปัจจุบันคนนิยมใช้ทองคำเป็นเครื่องประดับหรือเก็บสะสมเป็นทรัพย์สมบัติเห็นได้จากร้านค้าทองคำที่มีอยู่ในแทบทุกตำบลหรือทุกอำเภอ ทำให้ในแต่ละวันมีการหมุนเวียนเงินตราที่มาจากการซื้อ-ขายทองคำเป็นจำนวนมาก

 

ทองคำ
ขันน้ำและตลับคร่ำทองที่มีทองคำเป็นส่วนประกอบ

 

สมบัติของทองคำ

      ทองคำมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษโบราณว่า จีโอลู (geolu) แปลว่า เหลืองอร่าม เปล่งปลั่ง อ่อน ยืดดึงได้ ภาษาอังกฤษในปัจจุบันคือ โกลด์ (gold) ซึ่งเป็นคำที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ทองคำมีสมบัติที่โดดเด่น ๒ ประการ ประการแรกเป็นสมบัติทางฟิสิกส์ คือ มีสีเหลืองอร่าม มันวาว ไม่ทำปฏิกิริยาเคมีง่าย ไม่ขึ้นสนิม ไม่หมอง ไม่สึกกร่อนตามกาลเวลา ทนต่อการกัดกร่อนของกรด-ด่าง และสามารถนำไปผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น รีด ตี แผ่ ยุบ หลอม จึงนำไปเป็นส่วนประกอบของวัตถุอื่น ๆ ได้ดี ประการที่ ๒ คือ สมบัติทางเคมี ทองคำมีสูตรทางเคมี Au มักเกิดเป็นธาตุอิสระในธรรมชาติแต่อาจผสมกับธาตุอื่น ๆ เช่น เงิน ทองแดง เหล็ก ละลายได้เฉพาะในกรดกัดทองเท่านั้น

 

ทองคำ
ทองคำเป็นแร่โลหะมีสมบัติพื้นฐานที่โดดเด่น มีสีเหลืองอร่าม
และสามารถนำไปหลอมหรือผสมกับโลหะชนิดอื่นได้
ทองคำ
ทองคำเป็นแร่โลหะมีสมบัติพื้นฐานที่โดดเด่น มีสีเหลืองอร่าม
และสามารถนำไปหลอมหรือผสมกับโลหะชนิดอื่นได้

 

การเกิดแร่ทองคำ   

มี ๒ แบบ คือ แบบปฐมภูมิและแบบทุติยภูมิ
๑. แบบปฐมภูมิ  
      เป็นแหล่งแร่ทองคำที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยา ทำให้เกิดการสะสมตัวของแร่ทองคำในหินชนิดต่าง ๆ อาจฝังประหรือเป็นสายแร่ในหิน แหล่งแร่ทองคำที่พบในประเทศไทยที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งโต๊ะโมะจังหวัดนราธิวาส แหล่งชาตรีจังหวัดพิจิตร-เพชรบูรณ์  แหล่งเขาสามสิบจังหวัดสระแก้ว
๒. แบบทุติยภูมิ  
      เรียกอีกอย่างว่าแหล่งแร่ทองคำแบบลานแร่ เกิดจากการผุพังของหินที่มีแร่ทองคำเป็นส่วนประกอบซึ่งจะเป็นเม็ดกลมหรือเกล็ดเล็ก ๆ อาจพบในที่ใกล้เคียงกับแหล่งปฐมภูมิโดยการถูกน้ำชะล้างพัดพาไปสะสมในบริเวณที่เหมาะสม เช่น เชิงเขา ลำห้วย แหล่งแร่ที่พบในประเทศไทย ได้แก่ บ้านป่าร่อนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บ้านนาล้อมจังหวัดปราจีนบุรี บ้านทุ่งฮั้วจังหวัดลำปาง

การสำรวจแร่ทองคำ

การสำรวจแร่ทองคำ มีวิธีการสำรวจ ๓ แบบ คือ   
๑) การสำรวจทางอากาศ 
      เป็นการสำรวจขั้นต้นทำได้รวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง ประกอบด้วยภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ และการบินสำรวจธรณีฟิสิกส์
๒) การสำรวจบนผิวดิน 
      มี ๓ ส่วนหลัก คือ การสำรวจธรณีวิทยา การสำรวจธรณีเคมี และการสำรวจธรณีฟิสิกส์ ส่วนวิธีที่รวดเร็วและง่ายที่สุดสำหรับการสำรวจพื้นที่ศักยภาพของแร่ทองคำ คือ การร่อนและเลียงแร่  
๓) การสำรวจใต้ดิน  
      เป็นวิธีการสุดท้ายหลังจากได้สำรวจด้วยวิธีการข้างต้นแล้ว ประกอบด้วยการขุดหลุมสำรวจ การขุดร่องสำรวจ และการเจาะสำรวจ ซึ่งการเจาะสำรวจจะมีต้นทุนสูงเพราะเป็นการเจาะลงไปเก็บตัวอย่างดิน หินและแร่ นำไปวิเคราะห์สมบัติทางฟิสิกส์และเคมีแล้วนำข้อมูลที่ได้ไปดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งแร่ในเชิงพาณิชย์ต่อไป

การทำเหมืองแร่ทองคำ

การทำเหมืองแร่ทองคำมี ๒ วิธี  คือ  
๑) เหมืองเปิด  
      เหมาะสำหรับแหล่งทองคำที่อยู่ไม่ลึกจากผิวดินมากนักซึ่งต้องใช้พื้นที่มากสำหรับการทำงานของเครื่องมือหนัก เช่น เครื่องเจาะ รถขุด รถตัก รถขนแร่ขนาดใหญ่  

 

ทองคำ
พื้นที่เหมืองแร่ทองคำแบบเหมืองเปิด


๒) เหมืองใต้ดิน   
      เหมาะสำหรับแหล่งทองคำที่อยู่ลึกจากผิวดินมากใช้พื้นที่หน้าเหมืองน้อยและต้องทำอุโมงค์เพื่อเข้าสู่แหล่งแร่ที่อยู่ในระดับลึก  สำหรับประเทศไทยกรมทรัพยากรธรณีได้ทำการสำรวจพบว่าพื้น ที่ซึ่งมีศักยภาพสูงในการผลิตแร่ทองคำ กระจายอยู่ในบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ ปัจจุบันมีการทำเหมืองแร่ทองคำอยู่ ๒ แห่ง เป็นการทำเหมืองแร่ทองคำแบบเหมืองเปิด คือ แหล่งแร่ทองคำชาตรีของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด อยู่ในเขตรอยต่อของอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีการทำเหมืองตั้งแต่ปลาย พ.ศ. ๒๕๔๔ อีกแห่งคือ แหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้าของบริษัททุ่งคำ จำกัด อยู่ที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เริ่มสำรวจตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ ปัจจุบันมีการทำเป็นเหมืองผลิตแร่แล้ว
      สำหรับเหมืองแร่ทองคำทั่วโลกมีทั้งหมดประมาณ ๘๒ ประเทศ ประเทศผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ ประกอบด้วย แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย รัสเซีย แคนาดา และเปรู โดยประเทศที่มีแหล่งแร่ทองคำมากที่สุดในโลก คือ แอฟริกาใต้ รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกาและบราซิล ส่วนแหล่งที่มีประวัติการทำเหมืองผลิตแร่ทองคำที่ยาวนานที่สุดในโลกคือแหล่งแร่ทองคำในบริเวณพื้นที่แอ่งที่ราบวิตวอเตอร์สแรนด์ (Witwatersrand Basin) ในประเทศแอฟริกาใต้ ปัจจุบันประเทศจีนมีการทำเหมืองแร่ทองคำมากที่สุดในโลก

 

ทองคำ
การทำเหมืองแร่ทองคำของแหล่งแร่ทองคำชาตรีบริเวณรอยต่อของอำเภอทับคล้อ
จังหวัดพิจิตรและอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow