ในสมัยก่อนการเดินทางที่มีสิ่งของจะใช้วิธีบรรทุกขนส่งด้วยการหาบ การหาม โดยใช้แรงคนหรือแรงสัตว์ต่อมาเมื่อสามารถสร้างเกวียนซึ่งเป็นพาหนะขับเคลื่อนด้วยล้อ ๒ ล้อที่ใช้แรงงานสัตว์เทียมลากได้แล้ว เกวียนจึงกลายเป็นพาหนะหลักใช้ในการบรรทุกเดินทางขนส่งทางบกระหว่างชนบทกับชนบทหรือชนบทกับในเมืองและเป็นเสมือนพาหนะคู่ใจของคนในสังคมเกษตรกรรมจนอาจกล่าวได้ว่าทุกครอบครัวในสังคมเกษตรกรรมต้องมีเกวียนไว้ใช้งานอย่างน้อย ๑ เล่ม ถ้าพิจารณาความหมายของสถาปัตยกรรมในแง่มุมว่าเป็นสิ่งที่มีพื้นที่ใช้สอยแล้วเกวียนก็จัดว่าเป็นสถาปัตยกรรมประเภทหนึ่ง คือ เป็นเสมือนเรือนเคลื่อนที่ของเกษตรกรในช่วงหน้าแล้งตั้งแต่ช่วงการเก็บเกี่ยวจนถึงก่อนการทำนาโดยใช้บรรทุกขนส่งหรือเดินทางทางบกทั้งระยะใกล้และระยะไกลเป็นประจำทุกปี ปัจจุบันความสำคัญของเกวียนลดน้อยลงมากจากที่เคยใช้เป็นพาหนะหลักในการบรรทุกและการเดินทางขนส่งก็นำมาใช้เป็นเพียงเครื่องประดับตกแต่งบ้านเรือนและเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในอดีตของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ