เกวียนเป็นพาหนะทางบกที่สำคัญในอดีตช่วยทุ่นแรงคนในการเดินทางและการบรรทุกขนส่งเกวียนจึงเป็นเสมือนพาหนะคู่ใจของชาวนาไทยที่ทุกครอบครัวจำเป็นต้องมีเป็นของตนเอง เกวียนแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท โดยเรียกตามแรงงานสัตว์ที่ใช้เทียมลาก คือ เกวียนวัวและเกวียนควายเนื่องจากวัวตัวเล็กกว่าควายและมีแรงน้อยกว่าควายเกวียนวัวจึงมีขนาดเล็กกว่าเกวียนควายทำให้คล่องตัวและเหมาะกับภูมิประเทศที่เป็นที่ดอนสูง ป่าดง มีหล่มโคลนน้อย ส่วนเกวียนควายมีขนาดใหญ่จึงเหมาะกับภูมิประเทศที่เป็นที่ราบลุ่ม มีหล่มโคลนมาก เพราะวงล้อใหญ่และควายมีแรงลากมากกว่าวัว ส่วนคำที่ใช้เรียกเกวียนบางแห่งเรียกว่า ระแทะซึ่งมาจากคำว่าระแตะหรือรอเตะฮฺในภาษาเขมรทางภาคอีสานและประเทศลาวออกเสียงว่า เกียนและสาลี่ ภาคเหนือในอดีตเคยเรียกว่า ล้อเฮือนหรือเฮือนล้อซึ่งหมายถึงเรือนที่มีล้อบางทีก็เรียกว่าล้องัวต่อมาภายหลังเรียกว่าเกวี๋ยนหรือล้อ สำหรับไม้ที่ใช้ทำเกวียนจำเป็นต้องใช้ไม้เนื้อแข็งทั้งในส่วนที่เป็นโครงสร้างและส่วนประกอบของเกวียนเพราะต้องใช้บรรทุกสิ่งของและเดินทางไกลซึ่งต้องรับน้ำหนักมากตลอดจนรับแรงกระแทกและแรงเสียดสีตลอดเวลาที่ใช้งานทุกครั้ง
ช่างเกวียนมีการสร้างสรรค์ความงามเสริมคุณค่าให้แก่เกวียนด้วยการต่อเติมชิ้นส่วนต่าง ๆ ของตัวเรือนเกวียนให้มีรูปร่างอ่อนช้อยมากกว่าปกติ ช่างเกวียนบางท้องถิ่นมีการตกแต่งเพิ่มเติมให้เกวียนดูสวยงามยิ่งขึ้นด้วยการติดกระจกสีฝังลงในเนื้อไม้ บางแห่งก็ใช้วิธีการเขียนภาพและระบายสีลงบนแผ่นไม้รอบตัวเรือนเกวียนหรือใช้วิธีการแกะสลักลวดลายลงบนเนื้อไม้แต่ละส่วนอย่างประณีตสวยงาม
เมื่อต้องใช้วัวหรือควายเทียมลากเกวียนจึงจำเป็นต้องฝึกวัวและควายให้เป็นงานเทียมเกวียนก่อนซึ่งโดยปกติเริ่มฝึกเมื่อมีอายุ ๓-๔ ปี สำหรับวัวเทียมจะใช้เฉพาะวัวเพศผู้ที่ตอนแล้วเท่านั้น เพราะแข็งแรงกว่าวัวเพศเมีย ส่วนควายเทียมใช้ได้ทั้งเพศผู้และเพศเมียในการฝึกวัวและควายเทียมเกวียนหากเริ่มฝึกอยู่ข้างไหนของแอกเกวียนก็ต้องใช้งานข้างนั้นตลอดไปเพราะถนัดคุ้นเคยกับแอกข้างนั้นและคุ้นกับการใช้สัญญาณบังคับจากคนขับให้เดินตรงไปข้างหน้า เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หรือสั่งให้หยุด-จอด การที่สังคมชนบทเป็นสังคมเกษตรกรรมที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผูกพันใกล้ชิดกับเกวียนมาอย่างยาวนานจึงมักพบเรื่องราวเกี่ยวกับเกวียนแทรกอยู่ในวิถีชีวิตและในสังคมทั้งในนิทาน ตำนาน ประวัติศาสตร์ คำพังเพย และผญาภาษิต ตลอดจนการละเล่นของเด็กที่เรียกว่า โค้งตีนเกวียนหรือระวงตีนเกวียน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงในด้านการปฏิรูปการปกครองและเริ่มมีสาธารณูปโภคโดยการสร้างทางรถไฟจนมาถึงในสมัยที่ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจจึงสร้างเส้นทางถนนสำหรับรถยนต์ซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่าเกวียนทำให้การใช้เกวียนลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนต้องนำไปเก็บไว้ใต้ถุนบ้านเรือนเสมือนเป็นเกวียนร้างเพราะไม่ได้ใช้งานและไม่มีการดูแลรักษาเมื่อไม่มีคนสั่งทำเกวียนกลุ่มช่างเกวียนจึงไม่ได้สืบทอดภูมิปัญญาแขนงนี้ เกวียนที่ไม่ได้ใช้งานแล้วจะถูกซื้อขายด้วยวัตถุประสงค์ใหม่คือเพื่อการอนุรักษ์โดยถอดชิ้นส่วนต่าง ๆ ทำเป็นสิ่งประดับตกแต่งบ้านหรือนำไปประกอบใหม่เป็นเครื่องใช้เครื่องเรือนแบบใหม่
พาหนะของคนในชนบทที่ใช้กันมากในอดีตคือเกวียนซึ่งใช้ในการเดินทางและบรรทุกสิ่งของ ในสังคมเกษตรกรรมแต่ละครอบครัวจำเป็นต้องมีเกวียนไว้ใช้ซึ่งถ้าพิจารณาทางด้านสถาปัตยกรรมแล้วเกวียนก็เปรียบเสมือนเรือนเคลื่อนที่ของเกษตรกร
เกวียนแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทหลัก คือ เกวียนเทียมวัวและเกวียนเทียมควายแต่ทั่วไปมักเรียกกันว่าเกวียนวัวและเกวียนควาย เกวียนวัวมีขนาดเล็กกว่าเกวียนควายทำให้มีความคล่องตัวจึงเหมาะกับสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ดอนสูง ป่าดง มีหล่มโคลนน้อย เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน ส่วนเกวียนควายเหมาะกับที่ราบลุ่ม มีหล่มโคลนมากกว่า เช่น ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้
เนื่องจากเกวียนเป็นพาหนะที่ใช้สำหรับการเดินทางไกลและบรรทุกหนัก โครงสร้างและส่วนประกอบของเกวียนส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องใช้ไม้เนื้อแข็งมีการเลือกไม้บางชนิดให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานในแต่ละส่วนของเกวียนด้วย คือ ไม้พยุง ไม้มะค่า ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้เต็ง ไม้เค็ง ไม้พะยอม ไม้ตะเคียน ไม้ชาด ไม้เหลื่อม ไม้กระทุ่ม ไม้จิก ไม้เพกา ฯลฯ เพราะนอกจากจะใช้บรรทุกข้าวเป็นประจำทุกปีแล้วหลายแห่งก็มักมีการรวมกลุ่มกันใช้เกวียนเป็นพาหนะสำหรับต้อนวัวควายไปขายถึงภาคกลางและภาคตะวันออกในครั้งหนึ่ง ๆ เป็นเวลานานบางครั้งเป็นเดือนรวมทั้งรับจ้างพ่อค้าในการบรรทุกลำเลียงสินค้าข้าวและของป่าจากทุ่งนาป่าดงไปยังจุดขนถ่ายสินค้าทางเรือหรือทางรถไฟ นอกจากนี้เมื่อมีงานบุญประเพณีต่าง ๆ ก็ยังใช้เกวียนร่วมขบวนแห่หรือใช้เป็นพาหนะ สำหรับเดินทางไปนมัสการปูชนียสถานทั้งใกล้และไกลตามโอกาส แม้ว่าในสังคมเกษตรกรรมนำเกวียนมาใช้เพื่อบรรทุกขนส่งและเดินทางในแต่ละท้องถิ่นก็ตามแต่ช่างเกวียนก็ยังสร้างสรรค์ความงามให้แก่เกวียนโดยใช้วิธีต่อเติมและเพิ่มเติม คือ ต่อเติมชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเกวียนให้มีรูปร่างอ่อนช้อยงดงามมากขึ้นกว่าปกติและเพิ่มเติมด้วยการเลือกใช้วัสดุตกแต่ง เขียนภาพระบายสีหรือสลักลวดลายต่าง ๆ ทำให้เกวียนมีคุณค่าและมูลค่าเพิ่มมากขึ้นจนเป็นเสมือนเครื่องแสดงสถานภาพทางสังคมและฐานะของเจ้าของเกวียนอีกด้วย
คนไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีความผูกพันกับเกวียนและต้องใช้เกวียนเป็นพาหนะ ดังนั้นจึงพบว่าเกวียนได้เข้ามาเกี่ยวข้องในวิถีชีวิตหลายอย่างดังเห็นได้จากนิทาน ตำนาน ประวัติศาสตร์ รวมทั้งผญาภาษิต คำพังเพย และการละเล่นของเด็ก เช่น นิทานเรื่องเทวดากับคนขับเกวียน นิทานเรื่องโคนันทวิศาล นิทานเรื่องคันธนามโพธิสัตว์หรือท้าวคันธนาม ตำนานพระธาตุพนม ตอนทรงปรารภบุพกรรมของพระพุทธเจ้า ตอนสละคนเป็นข้าโอกาสและตั้งบ้านธาตุพนม ในพงศาวดารโยนกเรื่องพระยามังรายตั้งเมืองเชียงใหม่มีการเปรียบเทียบให้เห็นว่ามีการใช้เกวียนเป็นพาหนะรวมทั้ง ผญาภาษิต คำพังเพยที่เป็นคติคำสอนในการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมและการละเล่นของเด็กที่เรียกว่า โค้งตีนเกวียนหรือระวงตีนเกวียน
เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงการคมนาคมทางรถไฟที่เป็นผลจากการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการบรรทุกขนส่งและการเดินทางแทนที่บทบาทของเกวียนแม้จะมีการใช้เกวียนแต่มีระยะทางสั้นลงประกอบกับในรัชกาลที่ ๕ มีการใช้กฎข้อบังคับเพื่อควบคุมการใช้เกวียนและในรัชกาลที่ ๖ มีการกำหนดให้จดทะเบียนใบอนุญาตขับรถรวมทั้งในรัชกาลที่ ๘ มีการตราพระราชบัญญัติล้อเลื่อน พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงทำให้มีผลกระทบต่อการทำเกวียนและการใช้เกวียนด้วย สมัยต่อมามีการพัฒนาประเทศในหลาย ๆ ด้าน เช่น ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีการสร้างถนนมิตรภาพ ตามมาด้วยการสร้างถนนสายรองเชื่อมชุมชนเมืองและชนบทอย่างต่อเนื่องทำให้การคมนาคมด้วยรถยนต์ทุกขนาดเข้ามีบทบาทแทนเกวียนมากขึ้นอย่างชัดเจนเพราะสะดวกและรวด เร็วกว่าส่งผลให้เกวียนที่เคยใช้กันในทุกครอบครัวค่อย ๆ ถูกนำไปเก็บไว้ใต้ถุนบ้านโดยขาดการดูแลรักษาจนเป็นเกวียนร้างเพราะไม่ได้ใช้งาน ปัจจุบันช่างเกวียนก็เปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นเพราะไม่มีคนสั่งทำเกวียนทำให้ไม่มีการสืบทอดภูมิปัญญาด้านนี้ ในปัจจุบันมีการแสวงหาเกวียนที่ถูกทิ้งร้างไว้เพื่อการอนุรักษ์หรือนำไปถอดชิ้นส่วนแปรรูป บางครั้งมีการสั่งทำเกวียนใหม่แต่แม้จะสั่งทำใหม่ก็หาไม้เนื้อแข็งมาทำได้ยาก บรรดาช่างเกวียนที่เหลืออยู่ก็ต้องปรับเปลี่ยนมาทำเกวียนแบบย่อส่วนเพื่อใช้เป็นของที่ระลึกและตั้งแสดงเท่านั้น