ละครชาตรีเป็นละครรำประเภทหนึ่งที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างโนราของภาคใต้กับละครนอกของภาคกลางเมื่อพ.ศ. ๒๓๗๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ผู้แสดงโนราจากนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ได้อพยพหนีความอดอยากแห้งแล้งติดตามกองทัพไทยขึ้นมาตั้งถิ่นฐานที่กรุงเทพฯ บริเวณถนนหลานหลวงและทำมาหากินโดยรับจ้างแสดงละครซึ่งถือเป็นของแปลกใหม่และได้รับความนิยม ในการแสดงมีการใช้คาถาอาคมด้วยจึงใช้ในการแก้บน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้รับเอาวัฒนธรรมละครนอกไปใช้ในการแสดงและเปลี่ยนผู้แสดงจากผู้ชายเป็นผู้หญิงโดยรูปแบบและวิธีการแสดง ค่อย ๆ แปลงไปเป็นละครนอกจนปัจจุบันมีลักษณะของความเป็นโนราเพียงในพิธีกรรมก่อนการแสดงละครและการร้องเพลงชาตรีในบางแห่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้กรมศิลปากรจึงได้ฟื้นฟูการแสดงละครชาตรีขึ้นมาเป็นละครโรงใหญ่โดยมีการจัดแสดงเรื่อง “มโนราห์” จากสุธนชาดกในพ.ศ. ๒๔๙๘ และเรื่อง “รถเสน” จากรถเสนชาดกในพ.ศ. ๒๕๐๐ จนเป็นที่เลื่องลือในเรื่องความไพเราะและความงดงามตระการตามาจนถึงในปัจจุบัน ต่อมาได้พัฒนาให้เป็นแนวละครชาตรีจากการแสดงเรื่อง “ศรีธรรมาโศกราช” ในพ.ศ. ๒๕๑๓ และเรื่อง “ตามพรลิงค์” ในพ.ศ. ๒๕๒๔ ตามลำดับ บทประพันธ์ของสมภพ จันทรประภา ส่วนละครชาตรีแก้บนทั่วไปก็ได้รับความนิยมลดลงมีเจ้าภาพจัดหาไปแสดงแก้บนน้อยลงมากโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ อย่างไรก็ตามละครชาตรีแบบดั้งเดิมคงมีแสดงอยู่บ้าง เช่น ที่วัดมหาธาตุวรวิหารจังหวัดเพชรบุรีซึ่งมีการแสดงอยู่เกือบทุกวันยกเว้นช่วงเข้าพรรษา การแสดงละครชาตรีในปัจจุบันเริ่มในเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. แล้วพักเที่ยงจากนั้นแสดงต่อจนจบในเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ถ้าเจ้าภาพมีงบประมาณน้อยก็จะจ้างรำแก้บนเป็นชุดสั้น ๆ การแสดงละครชาตรีส่วนใหญ่ใช้ธรรมเนียมการแสดงของละครนอกโดยมีแบบแผนของโนราผสมผสานอยู่บ้าง ในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงเพราะขาดการศึกษาและสืบทอดเนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องฝึกฝนอย่างมากแต่ทำรายได้น้อย อย่างไรก็ตามละครชาตรีเป็นศิลปวัฒนธรรมการแสดงของไทยที่มีคุณค่าสมควรที่จะรักษาและอนุรักษ์ไว้ให้คู่กับชาติไทยสืบไป