ละครชาตรี เป็นละครรำของไทยประเภทหนึ่งที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างโนราของภาคใต้กับละครนอกของภาคกลาง ละครชาตรีรับจ้างแสดงแก้บนที่บ้าน วัด หรือเทวสถานที่ผู้คนนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ การแสดงมี ๒ แบบ คือ แบบรำเป็นระบำชุดสั้น ๆ และแบบละคร การแสดงละครชาตรีแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่ ๑ พิธีกรรมเริ่มประมาณเก้าโมงเช้าเป็นพิธีทำโรงบูชาครู โหมโรงร้องเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาปกป้องคุ้มครองการแสดงรำถวายมือซึ่งก็คือการรำเชิญเครื่องสังเวยให้เทวดามารับสินบนประกาศโรงและรำซัดชาตรี ส่วนที่ ๒ การแสดงละครต่อจากพิธีกรรมในภาคเช้าจบด้วยพิธีลาเครื่องสังเวยแล้วพักเที่ยงจากนั้นแสดงละครต่อไปจนถึงเวลาประมาณสี่โมงเย็นจึงปิดการแสดงและส่วนที่ ๓ พิธีลาโรง
ละครชาตรีใช้ผู้หญิงแสดงเป็นตัวเอก ผู้ชายแสดงเป็นตัวตลกและตัวเบ็ดเตล็ด แต่งกายแบบละครนอกร้องรำไปตามคำกลอนของคนบอกบทและตามทำนองเพลงของวงปี่พาทย์ชาตรีที่ประกอบด้วย ปี่ ระนาด ตะโพน โทนชาตรีคู่ กลองตุ๊ก กรับไม้ไผ่ ฉิ่ง ฉาบ และมีลูกคู่ร้องรับ ปัจจุบันหาดูละครชาตรีแก้บนได้ที่ศาลหลักเมืองและศาลพระพรหมเอราวัณ กรุงเทพฯ วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา วัดมหาธาตุวรวิหารจังหวัดเพชรบุรี กรมศิลปากรได้ปรับปรุงละครชาตรีขึ้นใหม่ให้ยิ่งใหญ่และงดงามโดยตัดส่วนของพิธีกรรมออกเหลือไว้เฉพาะที่จะแสดงบนเวทีให้ประชาชนดูเท่านั้น
ละครชาตรีเป็นละครรำของไทยประเภทหนึ่งที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างโนราของภาคใต้และละครนอกของภาคกลาง เมื่อพ.ศ. ๒๓๗๕ รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ยกทัพลงไประงับเหตุการณ์ร้ายทางหัวเมืองภาคใต้ซึ่งเวลานั้นเกิดฝนแล้งราษฎรอดอยาก ชาวเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา จึงพากันอพยพติดตามกองทัพเข้ามายังกรุงเทพฯ และตั้งบ้านเรือนซึ่งในปัจจุบันคือบริเวณถนนหลานหลวง นักแสดงโนราที่ติดตามมาด้วยก็ตั้งเป็นคณะขึ้นรับจ้างแสดงในที่ต่าง ๆ จนเป็นที่นิยมโดยเฉพาะใช้แสดงแก้บนเนื่องจากเป็นสิ่งแปลกใหม่ และยังมีการใช้คาถาอาคมทำให้ดูขลังยิ่งขึ้น ต่อมาคณะโนราได้ปรับการแสดงให้เข้ากับรสนิยมของผู้ชมในกรุงเทพฯ โดยนำศิลปะของละครนอกมาผสมผสาน เช่น บทละคร ดนตรี การรำ การแต่งกาย และพัฒนารูปแบบมาเป็นละครสำหรับใช้แสดงแก้บนที่บ้าน วัด หรือเทวสถานดังที่เห็นในปัจจุบัน
ตัวละครชาตรีมี ๔ กลุ่ม คือ ตัวพระ ตัวนาง ตัวอิจฉา และตัวตลก สำหรับตัวพระ ตัวนาง และตัวอิจฉาใช้ผู้หญิงแสดงโดยแต่งกายเหมือนแบบละครนอกส่วนตัวตลกใช้ผู้ชายแสดงและแต่งกายแบบชาวบ้าน วิธีแสดงละครชาตรีคือต้นบทตะโกนบอกบทเป็นท่อน ๆ ให้ผู้แสดงร้องรำไปตามบท สำหรับโรงละครชาตรีมีเสื่อปูบนพื้นดินขนาดประมาณ ๔x๔ เมตร ด้านหนึ่งวางตั่งที่นั่งแสดงได้ ๓-๔ คน โดยหันหน้าไปทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะแสดงแก้บนถวาย ด้านข้างของโรงทั้ง ๒ ด้าน เป็นที่นั่งพักของผู้แสดงซึ่งทำหน้าที่เป็นลูกคู่ช่วยร้องรับและตีกรับ ส่วนวงปี่พาทย์ตั้งอยู่ด้านขวาของผู้แสดง
การแสดงละครชาตรีแก้บนเต็มรูปแบบ แบ่งเป็น ๓ ส่วน
ส่วนที่ ๑ พิธีกรรมเริ่มเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. เป็นพิธีกรรมต่าง ๆ ก่อนเริ่มการแสดง คือ พิธีทำโรง บูชาครู โหมโรง ร้องเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รำถวายมือ ประกาศโรง และรำซัดชาตรี
ส่วนที่ ๒ การแสดงละครต่อจากพิธีกรรมในภาคเช้าจบด้วยพิธีลาเครื่องสังเวยแล้วพักเที่ยงจากนั้นในเวลาประมาณ ๑๓.๓๐ น. ก็โหมโรงดนตรีแล้วแสดงละครต่อจนถึงเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. จึงปิดการแสดงและจบลงด้วย
ส่วนที่ ๓ พิธีลาโรง
ละครชาตรีนำเค้าโครงบทละครนอกมาแต่งเป็นสำนวนพื้นบ้านเมื่อผู้แสดงร้องกลอนไปตามบทแล้วปี่พาทย์ก็บรรเลงรับพร้อมกับผู้แสดงเจรจาร้อยแก้วทวนบทเป็นสำนวนภาษาท้องถิ่นให้เข้าใจยิ่งขึ้นเนื่องจากละครชาตรีเป็นการแสดงถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้จัดแสดงจึงไม่ค่อยคำนึงว่าจะมีคนดูมากหรือน้อย คนดูที่นั่งดูอยู่เป็นเวลานานมักเป็นสตรีสูงวัยและเด็ก ๆ ที่สนุกสนานไปกับมุขตลก
ปัจจุบันมีละครชาตรีแก้บนแสดงประจำอยู่ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลหลักเมืองและศาลพระพรหมเอราวัณ กรุงเทพฯ วัดโสธรวรารามวรวิหารจังหวัดฉะเชิงเทรา วัดมหาธาตุวรวิหารจังหวัดเพชรบุรี และตามวัดสำคัญในจังหวัดทางภาคกลาง การแสดงแบ่งเป็น ๒ แบบ คือ การรำเป็นชุด เช่น ระบำเทพบันเทิงและการแสดงละคร การแสดงละครชาตรีแบบดั้งเดิมยังมีอยู่บ้าง เช่น คณะนายพูน เรืองนนท์ ที่ถนนหลานหลวง กรุงเทพฯ และคณะละครชาตรีที่จังหวัดเพชรบุรีหลายคณะ กรมศิลปากรได้จัดการแสดงละครชาตรีจากนิทานชาดก ๒ เรื่อง แต่ปรับปรุงบทใหม่คือ เรื่อง “มโนราห์” ในพ.ศ. ๒๔๙๘ และเรื่อง “รถเสน” ในพ.ศ. ๒๕๐๐ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๓ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแสดงละครชาตรีอิงพงศาวดาร เรื่อง “ศรีธรรมาโศกราช” และ พ.ศ. ๒๕๒๔ คณะละครอาสาสมัครในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดแสดงละครชาตรีอิงพงศาวดารเรื่อง “ตามพรลิงค์” บทประพันธ์ของสมภพ จันทรประภา ณ โรงละครแห่งชาติ ปัจจุบันคณะละครชาตรีมีจำนวนลดน้อยลงอาจเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำต่อเนื่องหลายปีทำให้ไม่ค่อยมีเจ้าภาพจ้างไปแสดงลูกหลานของคณะละครชาตรีเองก็ไม่ต้องการสืบทอดเพราะฝึกหัดยาก มีรายได้น้อยและรู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยจึงทำให้ละครชาตรีค่อย ๆ เสื่อมถอยลง ผู้ที่เห็นคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมจึงควรช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้เป็นศิลปะการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของชาติไทยสืบไป