แม้ปริศนาคำทายเป็นสิ่งที่มีมานานในวัฒนธรรมไทยแต่เมื่อมีกระแสวัฒนธรรมอื่นเข้ามาในสังคมไทยผู้คิดปริศนาคำทายไทยก็ได้นำองค์ประกอบบางอย่างจากวัฒนธรรมอื่น ๆ ผนวกเข้ามาในปริศนาคำทายไทยทำให้เมื่อพิจารณาปริศนาคำทายไทยในปัจจุบัน เราจะพบลักษณะการผสมผสานทางวัฒนธรรมในลักษณะต่าง ๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ปริศนานี้นำชื่อของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์ระดับโลกมาเป็นเนื้อหา ตัวปริศนาแสดงให้เห็นถึงความรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับบริษัทภาพยนตร์ของฮอลลีวูดส์บริษัทนี้และความสามารถในการ "เล่น" กับความรับรู้ใหม่นี้โดยนำไปผูกกับความกำกวมทางภาษาระหว่างคำไทยว่า "โค" (คำสุภาพของ "วัว" ) และหน่วยคำเทียม "โค-" ในชื่อ "โคลัมเบียพิกเจอรส์" (Columbia Pictures)
จากตัวอย่างนี้ความรู้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลของโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของปริศนาคำทายของไทย ความคล้ายคลึงของการออกเสียงคำภาษาอังกฤษว่า she (หล่อน) และคำไทยว่า "ชี" (นักบวชเพศหญิง) ถูกนำมาสร้างเป็นแก่นหลักของปริศนา เมื่อพูดถึง "ชี" ในปริบทของข้อความภาษาไทยดังปริศนานี้ ชีในความหมายว่านักบวชเพศหญิงจะมีความเด่นชัดกว่า ดังนั้นปริศนาจึงสามารถลวงผู้ฟังให้หลงคิดโดยใช้ความหมายดังกล่าวเป็นหลักได้ เมื่อรู้ว่าคำเฉลยคือ "She likes to swim." ผู้ฟังจึงได้รู้ว่าปริศนาคำทายไทยข้อนี้ได้นำความรู้ภาษาอังกฤษมาใช้ ในรูปแบบการละเล่นพื้นบ้านของไทย
นอกจากปริศนาอะไรเอ่ยแล้ว ปริศนาผะหมีหรือโจ๊กก็มีลักษณะผสมผสานระหว่างรูปแบบปริศนาของไทยกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมต่างชาติ ดังในตัวอย่างต่อไปนี้
บาสดัง นั่งไม่ติด (NBA)
เรียนอังกฤษ ฟิตเสียงศัพท์ (AUA)
ลือเลื่อง เฟื่องสายลับ (CIA)
กับถิ่นมุ่ง เมืองลุงแซม (USA)
(ประสิทธิ์ ประสิว)
ปริศนานี้เป็นปริศนาชนิด "พ้องคำหลัง" กล่าวคือคำตอบในชุดต่างลงท้ายด้วยอักษร "A" ส่วนเนื้อหานั้นจะเห็นได้ว่ามีการนำภาษาอังกฤษมาใช้ปนอยู่ในปริศนาภาษาไทย นอกจากนี้เนื้อความในปริศนาก็ยังเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอเมริกันในแง่มุมต่าง ๆ ได้แก่ กีฬา การศึกษา การเมือง