Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นวลักษณ์ของปริศนาคำทายไทยในปัจจุบัน

Posted By Plookpedia | 12 พ.ค. 60
3,153 Views

  Favorite

นวลักษณ์ของปริศนาคำทายไทยในปัจจุบัน

      ปริศนาคำทายเป็นการละเล่นที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลานานแม้กระนั้นปริศนาคำทายไทยในปัจจุบันก็มีลักษณะใหม่ ๆ หรือ "นวลักษณ์" หลายประการซึ่งทำให้การละเล่นไทยชนิดนี้ยังเป็นที่นิยมของคนไทย นวลักษณ์ของปริศนาคำทายไทยในปัจจุบันที่จะกล่าวถึงคือนวลักษณ์ด้านเนื้อหา นวลักษณ์ด้านรูปแบบ และนวลักษณ์ด้านการนำเสนอปริศนาคำทาย

นวลักษณ์ด้านเนื้อหา

เนื้อหาของปริศนาคำทายในปัจจุบันมีลักษณะใหม่คือมีการกล่าวถึงเทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ อาทิ

  • อะไรเอ่ยคบไม่ได้ (เฉลย : รถไฟฟ้าบีทีเอสเพราะมีสองหัว)

       ปริศนาคำทายนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับรถไฟฟ้าซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการคมนาคมขนส่งใหม่สำหรับสังคมไทย รถไฟฟ้าแต่ละขบวนจะมีหัวรถจักร ๒ หัว อยู่ที่บริเวณส่วนหัวและส่วนท้ายของขบวน หัวรถจักรมีลักษณะเหมือนหัวของจรวดจึงทำให้ขบวนรถไฟฟ้ามีส่วนปลายเป็นหัวจรวดเหมือนกันทั้งสองด้าน  ปริศนานี้นำลักษณะเด่นของรถไฟฟ้า คือ การมี "สองหัว" มาเล่นกับสำนวน "นกสองหัว" ซึ่งหมายถึงคนที่เข้าด้วยกับทั้งสองฝ่ายคบไม่ได้ 

  • คนเก็บเงินค่าทางด่วนชื่ออะไร (เฉลย : พอดี เพราะก่อนถึงด่านเก็บเงินจะมีป้ายบอกว่า "กรุณาเตรียมเงินค่าผ่านทางให้พอดี")

       ปริศนานี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับทางด่วน บริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนจะมีป้ายขอความร่วมมือให้ผู้ใช้ทางด่วนเตรียมเงินสำหรับชำระค่าผ่านทางให้พอดีกับอัตราที่จัดเก็บเพื่อความสะดวกรวดเร็วข้อความในป้ายมีว่า "กรุณาเตรียมเงินค่าผ่านทางให้พอดี" ผู้คิดปริศนานี้นำความกำกวมของข้อความดังกล่าวมาใช้ผูกปริศนาขึ้นโดยปกติข้อความนี้หมายความว่า "กรุณาเตรียมเงินให้เท่ากับจำนวนที่ระบุไว้" ความกำกวมที่เกิดจากข้อความ "ให้พอดี" ทำให้สามารถตีความอย่างพิสดารได้ว่า "กรุณาเตรียมเงินค่าผ่านทางเพื่อมอบให้แก่คนที่ชื่อพอดี" ปริศนาคำทายนี้นำการตีความแบบแหวกแนวนี้มาสร้างความงุนงง นอกจากปริศนาอะไรเอ่ยแล้วโจ๊กปริศนาก็มีเนื้อหาที่แปลกใหม่ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 


คิดระเบิดปรมาณูผู้ยอดยิ่ง  

(ไอน์สไตน์)
ฉันรักเธอจริงจริงอิงอังกฤษ 
    (ไอเลิฟยู - I love you.)
สารกินไปไม่คอพอกมากออกพิษ 

(ไอโอดีน)
สารเสพติดดมดูดสูดไม่ดี 
(ไอระเหย)
(ประสิทธิ์   ประสิว)


ปริศนานี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความรู้ด้านภาษาอังกฤษเป็นการนำความรู้สมัยใหม่มาใช้ในการเล่นทายเพื่อความสนุกสนาน

นวลักษณ์ด้านรูปแบบ

      นวลักษณ์ด้านรูปแบบของปริศนาคำทายในปัจจุบันที่จะกล่าวถึงในที่นี้มี ๒ ประการ คือ การเน้นการเล่นกับภาษามากขึ้นและปริศนาคำทายบางส่วนมีลักษณะซับซ้อนมากขึ้นทั้งนี้นวลักษณ์ประการหนึ่งของปริศนาคำทายในปัจจุบันคือการ "เล่น" กับภาษามากขึ้นในขณะที่ปริศนาที่เป็นการพรรณนาเชิงเปรียบเทียบมีน้อยลง ดังจะเห็นได้จากปริศนาที่ยกมาเป็นตัวอย่างทั้งสองข้อซึ่งทั้งสองปริศนาเล่นกับความกำกวมของภาษา กล่าวคือปริศนาแรกเล่นกับความกำกวมของวลี "สองหัว" ที่สามารถตีความตามตัวอักษรและตีความในลักษณะสำนวนสำหรับปริศนาที่ ๒ เล่นกับความกำกวมของวลี "ให้พอดี" ที่สามารถตีความว่าเป็นคำขยายระบุลักษณะของการ "เตรียมเงิน" หรือเป็นส่วนขยายบอกวัตถุประสงค์ของการ "เตรียมเงิน"
นอกจากการ "เล่น" กับความกำกวมของภาษาแล้วปริศนาคำทายในปัจจุบันยังนิยมใช้การผวนคำเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปริศนาด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 

  • หมูอะไรเอ่ยหมุนคอได้ เฉลย : หมูยอ เพราะสามารถผวนและปรับเปลี่ยนได้จาก "หมูยอ" ผวนได้เป็น "หมอยู" จากนั้นก็แทนคำว่า "ยู" ซึ่งเสียงเหมือนกับ "you" แปลว่า "คุณ" ทำให้ได้เป็น "หมอคุณ" จากนั้นผวนอีกครั้งหนึ่งจาก "หมอคุณ" จะได้เป็น "หมุนคอ" ดังสรุปได้ตามลำดับต่อไปนี้
    หมูยอ -> หมอยู -> หมอyou -> หมอคุณ -> หมุนคอ

      รูปแบบใหม่ของปริศนาคำทายในยุคปัจจุบันคือมีความซับซ้อนมากขึ้นดังจะเห็นได้จากตัวอย่างข้างต้นซึ่งต้องมีการผวนคำและปรับเปลี่ยนรูปคำหลายชั้นจึงจะได้คำเฉลยที่สมบูรณ์นอกจากนี้บางครั้งมีการผูกปริศนาคำทายเป็นชุด ดังตัวอย่างนี้

  • รถไฟกับรางรถไฟอะไรยาวกว่ากัน (เฉลย : รางรถไฟ)
  • เอาอะไรไปวัด (เฉลย : ปิ่นโต)

      ปริศนา ๒ ข้อนี้เป็นชุดเดียวกันต้องถามต่อเนื่องกันเนื้อความในปริศนาทั้งสองข้อดูเหมือนจะต่อเนื่องสัมพันธ์กันแต่แท้จริงแล้วมิได้สัมพันธ์กัน ปริศนาในข้อแรกนั้นถามถึงความยาวระหว่าง "รถไฟ" กับ "รางรถไฟ" โดยให้เปรียบเทียบว่าสิ่งใดยาวกว่ากัน คำเฉลยของปริศนาข้อแรกจึงชัดเจนง่ายดายส่วนปริศนาในข้อที่ ๒ ดูเหมือนจะต่อเนื่องกับปริศนาข้อแรกที่ถามเรื่องความยาวเพราะเนื้อความถามว่า "เอาอะไรไปวัด" แต่เมื่อได้ฟังเฉลยแล้วผู้ฟังจึงทราบว่าแท้จริงแล้วเนื้อความของปริศนาข้อที่ ๒ นั้นมิได้ต่อเนื่องกับปริศนาข้อแรกแต่อย่างใด กล่าวคือ "เอาอะไรไปวัด" ในปริศนาข้อที่ตามมานั้นไม่ได้หมายถึง "ใช้อุปกรณ์อะไรในการคำนวณความยาว" แต่หมายถึง "นำสิ่งใดติดตัวไปเวลาไปทำบุญที่สถานที่ทางศาสนาที่เรียกว่า วัด"

นวลักษณ์ด้านการนำเสนอปริศนาคำทาย    

      นวลักษณ์อีกประการหนึ่งของการเล่นปริศนาคำทายในปัจจุบัน คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่และการเล่นทายปริศนา โดยทั่วไปแล้วปริศนาคำทายเป็น การละเล่นที่มักเล่นทายกันระหว่างเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องในโอกาสที่ได้พบปะกัน อย่างไรก็ดีนอกจากการเล่นปริศนาแบบตัวต่อตัวดังกล่าวแล้วยังมีการนำเสนอและเผยแพร่ปริศนาคำทายผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ ในช่วงพ.ศ. ๒๕๓๒ - พ.ศ. ๒๕๔๔ ในรายการเกมโชว์ชื่อ "เวทีทอง" ก็ได้มีการประยุกต์ใช้ปริศนาผะหมีทั้งแบบร้อยกรองและรูปภาพเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันในรายการ ในสื่อสิ่งพิมพ์ก็มีการนำปริศนาอะไรเอ่ยไปเผยแพร่ดังในหนังสือการ์ตูนรายปักษ์ เช่น หนูจ๋าและในหนังสือเกมรายปักษ์ เช่น Puzzle Kids ปริศนาหรรษา และเกมลับสมอง 
      นวลักษณ์ในด้านการนำเสนอปริศนาคำทายในปัจจุบันอีกประการหนึ่งคือการนำเสนอและเผยแพร่ปริศนาคำทาย ผ่านระบบการสื่อสาร ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือที่รู้จักและเรียกกันโดยทั่วไปว่า "อินเทอร์เน็ต" การเล่นทายปริศนาผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนั้นสามารถทำได้ในหลาย ๆ รูปแบบ ได้แก่ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) เว็บไซต์ (website) ห้องสนทนา (chat room) กระดานสนทนา (web discussion board) สิ่งที่ปรากฏให้เห็นบ่อย ๆ ผ่านการเผยแพร่ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และห้องสนทนาคือการส่งต่อหรือการทายปริศนาอะไรเอ่ยในหมู่เพื่อนหรือคนรู้จักกลุ่มย่อย ส่วนการเผยแพร่และการเล่นทายปริศนาผ่านเว็บไซต์และกระดานสนทนามีลักษณะที่เปิดกว้างมากกว่าเพราะผู้ที่จะแวะมาอ่านหรือร่วมกิจกรรมสามารถเป็นผู้ใดก็ได้ที่สนใจในกิจกรรมนี้ เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ปริศนาคำทายนั้นในปัจจุบันมีหลายเว็บไซต์ ได้แก่ www.sanook.com, www.mthai.com,  www.funfanclub.com และบ้านปริศนาผะหมี (www.pamee.com) ส่วนการเล่นปริศนาคำทายผ่านทางกระดานสนทนานั้นพบได้ที่ห้อง "โต๊ะห้องสมุด" ของเว็บไซต์ www.pantip.com ซึ่งมีกิจกรรมการเล่นทายปริศนา "ผะหมี"

 

ปริศนาคำทายของไทย
เว็บไซต์บ้านปริศนาผะหมี

 

      กิจกรรมการเล่นทายปริศนาผะหมีบนกระดานสนทนา (web discussion board) "โต๊ะห้องสมุด" ในเว็บไซต์ www.pantip.com นั้นเกิดจากความคิดของสมาชิกที่ใช้สมญานามว่า "ตั่วปุ้ย" ซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวชลบุรีและรู้จักการเล่นทายปริศนาพื้นบ้านชนิดนี้เพราะเคยพบเห็นในงานศพ ต่อมาการละเล่นชนิดนี้เริ่มห่างหายไปตั่วปุ้ยต้องการอนุรักษ์และฟื้นฟูกิจกรรมดังกล่าวจึงได้ริเริ่มและนำเสนอการเล่นทายปริศนาผะหมีแก่เพื่อนสมาชิก "โต๊ะห้องสมุด" จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวได้มีผู้ร่วมสานต่อการละเล่นทายปริศนาผะหมีมาโดยตลอด กระดานสนทนาได้ทำหน้าที่เป็นเวทีที่ผู้คิดปริศนาสามารถนำปริศนาของตนมานำเสนอไว้ จากนั้นผู้ที่สนใจสามารถลองทายได้โดยพิมพ์คำเฉลยและส่งไปยังกระดานสนทนาดังกล่าวโดยผู้คิดปริศนาและผู้ทายไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกันและไม่จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตในเวลาเดียวกัน คุณลักษณะดังที่กล่าวมานี้นับเป็นนวลักษณ์ในการเล่นทายปริศนาคำทายที่น่าสนใจแสดงถึงความชาญฉลาดในการปรับประยุกต์วิทยาการด้านการสื่อสาร สมัยใหม่เพื่อการเผยแพร่และอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow