อะไรเอ่ย เขียวชอุ่มพุ่มไสว ไม่มีใบมีแต่เม็ด ตอบว่า ฝนเพราะเมื่อฝนใกล้จะตกท้องฟ้ามืดครึ้มเมฆลอยลงต่ำหยดน้ำคือเม็ดฝนตกลงมาเป็นสายดูชุ่มฉ่ำไปทั่ว เมื่อสมาชิกในครอบครัวอยู่พร้อมหน้าหรือหมู่มิตรสหายมาพบกันในยามว่าง นอกจากการสนทนากันแล้วยังมีการคุยสนุกด้วยการเล่นปริศนาคำทาย ถ้อยคำในภาษาไทยนั้นมีหลายความหมายเราสามารถแต่ง ร้อยเรียง หรือผูกขึ้นเป็นปริศนาให้ถาม-ตอบเพื่อทายกันให้ถูก เป็นการฝึกคิดฝึกเชาวน์ไวไหวพริบและยังสนุกสนานไม่ว่าจะตอบได้หรือไม่ได้ คนไทยเล่นทายปริศนากันทุกภาค ปริศนาคำทายที่เล่นกันในภาคกลางใช้คำขึ้นต้นว่า "อะไรเอ่ย" ภาคเหนือใช้คำขึ้นต้นว่า "อะหยังเก๊าะ" หรือ "อะหยังเอ๊าะ" ภาคใต้ใช้คำว่า "ไอ้ไหรหา" ส่วนภาคอีสานลงท้ายปริศนาว่า "แม่นหยัง" หรือ "แม่นอีหยัง" ตัวอย่างเช่น
อะไรเอ่ย นั่งเท้าแขนอ่อน กินข้าวก่อนพระ (ทัพพี)
อะหยังเก๊าะ สุกก็บ่หอม งอมก็บ่หล่น คนกิ๋นก็บ่ได้ (พระจันทร์)
ไอ้ไหรหา สูงเทียมเขาเขียว กินคนเดียว เมาหมดทั้งเมือง (ราหูอมจันทร์)
แต่น้อยๆ นุ่งซิ่นขาว พอเป็นสาวนุ่งซิ่นเขียว บัดเฒ่านุ่งซิ่นแดง แม่นหยัง (พริก)
ปริศนาคำทายมีเนื้อหาและรูปแบบที่หลากหลาย ผู้ถามและผู้ตอบต้องสามารถตีความหมายของคำและเชื่อมโยงกันจนได้คำตอบ ผู้เล่นทั้ง ๒ ฝ่ายต้องมีความรู้รอบตัวและรู้จักสังเกตลักษณะของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงจะเล่นได้สนุกและฝึกการคิดได้อย่างรวดเร็ว
ปริศนาคือถ้อยคำหรือรูปภาพที่แต่งหรือประดิษฐ์ขึ้นมาให้มีเงื่อนงำ - ความหมายแฝงที่ผู้ทายต้องมีความรู้รอบตัวและมีเชาวน์ไวไหวพริบในการตีความจนสามารถทายปริศนานั้นได้ ปริศนาที่เป็นข้อความมักขึ้นต้นว่า "อะไรเอ่ย" แล้วตามด้วยถ้อยคำที่คล้องจองกัน ผู้ตอบต้องสามารถคิดเชื่อมโยงและมีความสามารถในการใช้ภาษาจึงจะโต้ตอบเล่นทายปริศนากันได้สนุก การเล่นทายปริศนามีมานานนับตั้งแต่สมัยกรีกจนถึงปัจจุบันและมีอยู่ในประเทศต่าง ๆ การทายปริศนาเน้นการฝึกสมองและความสนุกสนานและเป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่ม คนไทยนิยมเล่นทายปริศนากันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน นอกจากผู้ถามต้องมีความสามารถทางการคิดและการใช้ภาษาแล้วยังต้องมีความเข้าใจด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอีกด้วย ปริศนาคำทายคำตอบเดียวอาจใช้ภาษาถิ่นและสำนวนที่แตกต่างกัน ในแต่ละท้องถิ่นปริศนาคำทายในแต่ละภาคจึงมีลักษณะเฉพาะตามประเพณี ความเชื่อ และธรรมชาติแวดล้อมในภูมิภาคนั้น ๆ ปริศนาคำทายแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ แบ่งตามเนื้อหาและแบ่งตามรูปแบบ
เป็นการแบ่งโดยพิจารณาว่าข้อความและคำเฉลยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม มนุษย์ สัตว์ สิ่งของ หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ดังตัวอย่าง เช่น
เนื้อหาเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม
อะไรเอ่ย สูงเยี่ยมเทียมฟ้า ต่ำกว่าหญ้านิดเดียว
(เฉลย : ภูเขา)
เนื้อหาเกี่ยวกับ สัตว์
อะไรเอ่ย สี่คนหาม สามคนแห่ สองคนพัด คนหนึ่งปัดแส้
(เฉลย : ช้าง ๔ ขา งวงงา หู หาง)
เนื้อหาเกี่ยวกับ พืช
อะไรเอ่ย ต้นเท่าขา ใบวาเดียว (เฉลย : ต้นกล้วย)
ต้นเท่าแขน ใบแล่นเสี้ยว (เฉลย : ต้นอ้อย)
ต้นเท่าครก ใบปรกดิน (เฉลย : กอตะไคร้)
เป็นการแบ่งโดยพิจารณาจากรูปแบบการแต่งปริศนา ได้แก่ ปริศนาที่สื่อด้วยถ้อยคำซึ่งอาจเป็นร้อยแก้วหรือคำประพันธ์ร้อยกรอง เช่น โคลงทาย ผะหมี โจ๊ก และอีกรูปแบบหนึ่งเป็นปริศนาคำทายที่สื่อด้วยภาพ ปริศนาคำทายมีองค์ประกอบหลัก ๒ ส่วน คือ ปริศนาและคำเฉลย ปริศนาเป็นถ้อยคำ ข้อความหรือภาพที่อธิบายบอกใบ้และบางครั้งลวงให้ผู้ตอบหลงทาง ส่วนคำเฉลยนั้นช่วยสร้างความสนุก ปลุกเร้าความสนใจ ให้แง่คิด ผู้ที่ตอบปริศนาได้จึงมีความพึงพอใจที่ทำได้สำเร็จ เนื้อหาของปริศนาคำทายเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งที่เป็นธรรมชาติ สิ่งของ บุคคล และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ บางครั้งมีการนำลักษณะพิเศษของภาษามาสร้างเป็นปริศนา เช่น คำพ้อง คำผวน หรือนำคำไทยที่ออกเสียงคล้ายกับภาษาอื่นมาแต่งเป็นปริศนาคำทาย เนื้อหาอีกรูปแบบหนึ่ง คือการคิดสร้างสรรค์ถ้อยคำที่แหวกแนวและหลายความหมายมาแต่งปริศนา การตอบคำทายรูปแบบนี้ ไม่มีหลักเกณฑ์ความรู้ตามแบบแผน เช่น "อะไรเอ่ยอยู่บนบ้าน" คำเฉลยคือ "ไม้โท"
การเล่นปริศนาคำทายบ่งบอกถึงความสามารถทางภาษาไทยและการคิดสร้างสรรค์ของผู้แต่งและผู้ตอบเพราะมีการเล่นเสียงสัมผัสการใช้คำซ้ำ การใช้คำผวน การใช้ความเปรียบ การใช้คำกำกวมและการใช้ข้อความที่มีความหมายขัดแย้งกัน ปัจจุบันสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านการดำเนินชีวิตประจำวัน การใช้ภาษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเนื้อหาและรูปแบบของปริศนาคำทายตลอดจนการนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ ก็แปลกใหม่และเพิ่มรูปแบบหลากหลายขึ้นด้วย การเล่นปริศนาคำทายให้สนุกผู้ถามและผู้ตอบจึงต้องมีไหวพริบ ช่างสังเกต สนใจสิ่งแวดล้อม และมีความรู้เรื่องภาษา ถ้อยคำ คำศัพท์ การแต่งคำประพันธ์ จึงจะทำให้สามารถถามและตอบได้คล่อง ปริศนาคำทายจึงเป็นการละเล่นของไทยแบบหนึ่งที่มีพื้นฐานสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย