โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากทั้ง ๔ โรคที่ได้กล่าวถึงมาก่อนหน้านี้ โดยเมื่อมีการอักเสบของหลอดเลือดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินก็จะมีระดับไขมันในเลือดสูงผิดปกติ ไขมันขนาดเล็กที่เรียกว่า แอลดีแอลคอเลสเตอรอล ก็จะมีระดับมากขึ้นและสะสมอยู่ด้านในของผนังหลอดเลือดโดยเข้าไปอยู่ใต้เซลล์เยื่อบุผนังด้านในของหลอดเลือด ต่อมาจะมีโมเลกุลของออกซิเจนเข้าไปเกาะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันทำให้เกิดอนุมูลอิสระ (free radical) ซึ่งเป็นพิษร่างกายก็จะส่งเม็ดเลือดขาวโมโนไซต์ไปยังผนังหลอดเลือดส่วนที่มีความเสียหายเพื่อเข้าไปกินสารพิษเหล่านี้ ต่อมาโมโนไซต์ก็จะตายกลายเป็นแผลที่เกิดจากการอักเสบ (Plaque) ติดอยู่ที่ผนังด้านในของหลอดเลือดซึ่งจะทำให้หลอดเลือดตีบลงและความยืดหยุ่นของหลอดเลือดลดลงเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคความดันโลหิตสูง แผลอักเสบเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วไปตามหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ หากมีการตีบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจก็จะทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายและหัวใจวายได้ ปัจจุบันสามารถตรวจวัดความหนาของหลอดเลือดเพื่อบอกถึงความรุนแรงได้โดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ที่สอดใส่เข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery) ที่เรียกว่า intravascular ultrasound (IVUS)
จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าในพ.ศ. ๒๕๔๖ อัตราการป่วยจากโรคหัวใจเท่ากับ ๓๙๗ คน ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน และมีอัตราการตายเท่ากับ ๒๗.๗ คน ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน ถือเป็นอันดับ ๔ รองจากโรคเอดส์ โรคมะเร็ง และอุบัติเหตุตามลำดับ จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่าการมีคราบไขมันบนผนังหลอดเลือดนั้นเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เด็กวัยรุ่นร้อยละ ๒๐ ในบางประเทศเริ่มมีคราบไขมันแล้วซึ่งต่อมาจะทำให้หลอดเลือดแดงตีบได้ในระยะเวลาไม่นานนักโดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีการบริโภคอาหารประเภทแป้ง ไขมัน และน้ำตาล ในปริมาณมากเกินความต้องการ