โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีอาการสำคัญ คือ มีความกระหายน้ำและดื่มน้ำปริมาณมาก มีปัสสาวะจำนวนมาก หากเจาะเลือดก็จะพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โรคเบาหวานโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท ดังนี้
มักพบในเด็กจึงเรียกว่า โรคเบาหวานในเด็ก (juvenile diabetes) เกิดจากมีแอนติบอดีมาทำลายบีตาเซลล์ในตับอ่อนที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลาโดยช่วยให้ร่างกายเผาผลาญกลูโคสเป็นพลังงานได้ เมื่อบีตาเซลล์ถูกทำลายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงสาเหตุการเกิดแอนติบอดียังไม่ทราบแน่ชัดแต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางตัวหรือมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์เนื่องจากจะพบโรคนี้ในสมาชิกของครอบครัวเดียวกัน
พบในผู้ใหญ่ สาเหตุไม่ได้เกิดจากร่างกายขาดอินซูลินแต่เกิดจากร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้ทั้ง ๆ ที่มีอินซูลินอยู่ในระดับสูง โรคเบาหวานชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกว่า เบาหวานชนิดดื้อกับอินซูลิน (insuline resistant diabetes) เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มเมแทบอลิกซินโดรม
โรคเบาหวานทั้ง ๒ ประเภท หากเป็นในระยะเวลานานโดยไม่มีการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่ตลอดเวลาก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหลาย ๆ อย่าง เช่น ปลายประสาทอักเสบเกิดแผลที่เท้าซึ่งอาจลุกลามจนต้องตัดขา การอักเสบของหลอดเลือดฝอยที่ตา (diabetic retinopathy) ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้นอกจากนี้ยังมีการอักเสบของหลอดเลือดที่ไต สมอง และหัวใจ ซึ่งทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้
สถิติของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกพบว่าขณะนี้มีประมาณ ๑๘๐ ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ ๓๒๔ ล้านคน ใน พ.ศ. ๒๕๖๘ สำหรับประเทศไทยพบว่ามีอัตราการตายจากโรคเบาหวานปีละประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน จากการศึกษาของนายแพทย์วิชัย เอกพลากรและคณะพบว่าความชุกของเบาหวานมีร้อยละ ๙.๖ ในประชากรอายุตั้งแต่ ๓๕ ปี ขึ้นไปและครึ่งหนึ่งของประชากรเหล่านี้ไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานจึงทำให้สูญเสียโอกาสในการเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
มีการศึกษาวิจัยทั้งต่างประเทศและในประเทศที่พยายามหาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของโรคเบาหวานเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคของประชากรซึ่งจะทำให้เกิดความรู้และความตระหนักในการป้อง กันโรคก่อนที่จะลุกลามและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้
สำหรับประเทศไทยศาสตราจารย์ นายแพทย์สมชาติ โลจายะ และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชัย ตันไพจิตร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการศึกษาวิจัยพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ การศึกษาวิจัยในครั้งนี้มีชื่อว่า EGAT ๑ เป็นการติดตามศึกษาพนักงานอายุระหว่าง ๓๕ - ๕๔ ปี จำนวน ๓,๔๙๙ คน เป็นระยะเวลา ๑๒ ปี โดยใน พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นการตรวจร่างกายมีผู้มารับการตรวจทั้งสิ้น ๒,๙๖๗ คน ต่อมาในพ.ศ. ๒๕๔๑ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิชัย ตันไพจิตร และ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา ได้ศึกษาวิจัย พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ อีกกลุ่มหนึ่งโดยใช้เวลาติดตามศึกษา ๕ ปี มีการตรวจร่างกายล่าสุด พ.ศ. ๒๕๔๖ การศึกษานี้ชื่อว่า EGAT ๒ จากการศึกษาทั้ง ๒ ครั้งได้วิเคราะห์ถึงความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานโดยการคำนวณและให้น้ำหนักแต่ละปัจจัยเสี่ยงเป็นคะแนนซึ่งพบว่า ความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) ที่เหมาะสมน่าจะสามารถใช้ในการทำนายความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ให้กับประชากรทั่วไปได้ ดังแสดงในตารางที่ ๒ คะแนนความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน (diabetes risk score) ส่วนการแปลผลคะแนนความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและข้อแนะนำสำหรับความเสี่ยงระดับต่าง ๆ แสดงไว้ในตารางที่ ๓
เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังการดูแลรักษาต้องกระทำอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือดูแลรักษาตนเองในการรับประทานยาและอาหารรวมทั้งการปฏิบัติตัวเพื่อสุขภาพที่ดีและมาตรวจติดตามผลกับแพทย์ผู้ดูแลเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอ
หลักสำคัญในการดูแลรักษา คือ
๑. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติไม่อ้วนหรือผอมเกินไป
๒. รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ
๓. ควบคุมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างเคร่งครัดโดยกินอาหารมื้อหลักทุกมื้อให้ตรงเวลาและกำหนดปริมาณของอาหารให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว ควรบริโภคคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ธัญพืชไม่ขัดสี ลดอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล น้ำอัดลม ขนมหวานต่าง ๆ นอกจากนี้ควรกินผักและผลไม้ให้มากแต่ผลไม้ต้องมีรสไม่หวานจัด