Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมแทบอลิกซินโดรม (metabolic syndrome)

Posted By Plookpedia | 11 เม.ย. 60
1,518 Views

  Favorite

เมแทบอลิกซินโดรม (metabolic syndrome)

      คือ กลุ่มอาการหรือกลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดโดย ดร. เจอรัลด์ เรเวน (Dr. Gerald Reaven) แพทย์ชาวอเมริกันเรียกชื่อกลุ่มอาการนี้ใน พ.ศ. ๒๕๓๑ มาก่อนแล้วว่า syndrome x ต่อมารู้จักกันในชื่อ metabolic syndrome ปัจจุบันนักวิชาการในประเทศไทยเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า "โรคอ้วน"

เกณฑ์การวินิจฉัยเมแทบอลิกซินโดรม

      เกณฑ์การวินิจฉัยนี้มาจากหลายสถาบัน ล่าสุดสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation หรือ IDF) ได้ให้คำนิยามของเมแทบอลิกซินโดรมไว้ว่าผู้ป่วยต้องมีภาวะอ้วนลงพุง (central obesity) คือ มีขนาดของเอววัดได้ตั้งแต่ ๙๐ เซนติเมตร (๓๖ นิ้ว) ขึ้นไปในผู้ชายและตั้งแต่ ๘๐ เซนติเมตร (๓๒ นิ้ว) ขึ้นไปในผู้หญิง ขนาดของเอวมีเกณฑ์ต่างกันไปในแต่ละเชื้อชาติกรณีนี้ใช้เป็นเกณฑ์สำหรับประชากรในทวีปเอเชีย
นอกจากภาวะอ้วนลงพุงแล้ว ผู้ป่วยจะต้องมีภาวะผิดปกติเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย ๒ ใน ๔ ภาวะ ดังนี้คือ
      ๑. มีระดับไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในเลือดตั้งแต่ ๑๕๐ มิลลิกรัม/ เดซิลิตรขึ้นไป
      ๒. มีระดับเอชดีแอล คอเลสเตอรอล (HDL cholesterol) ในเลือดน้อยกว่า ๔๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้ชาย หรือน้อยกว่า ๕๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้หญิง
      ๓. มีระดับความดันโลหิต ตั้งแต่ ๑๓๐/๘๕ มิลลิเมตรปรอท
      ๔. มีระดับน้ำตาลในเลือดในขณะอดอาหารตั้งแต่ ๑๐๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไปหรือมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร ๒ ชั่วโมง ตั้งแต่ ๑๔๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป  

สาเหตุสำคัญของเมแทบอลิกซินโดรม

      สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการนี้คือ โรคอ้วน ซึ่งทำให้มีไขมันหน้าท้องและไขมันที่เกาะอยู่ตามอวัยวะในช่องท้องมากกว่าปกติ เซลล์ไขมันเหล่านี้ผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ และกรดไขมันอิสระออกมาสู่กระแสเลือดซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานประเภทที่ ๒ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดผิดปกติ และโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังจะกล่าวต่อไปในส่วนของแต่ละโรค

สถานการณ์ผู้ป่วยเมแทบอลิกซินโดรม

      สหพันธ์เบาหวานนานาชาติคาดการณ์ไว้ว่าปัจจุบันมีประชากรโลกประมาณร้อยละ ๒๐ - ๒๕ อยู่ในกลุ่มอาการนี้และเชื่อว่าผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองมีมากกว่าคนปกติถึง ๓ เท่า โดยมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคใดโรคหนึ่งดังกล่าวมากกว่าคนปกติถึง ๒ เท่า ทั้งนี้นายแพทย์ชัยชาญ  ดีโรจน์วงศ์และคณะได้ศึกษาในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานที่มีอายุมากกว่า ๒๐ ปีขึ้นไป จำนวน ๑,๖๒๓ รายทั่วประเทศ พบกลุ่มอาการนี้ร้อยละ ๒๔.๑ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจากสถาบันอื่น ๆ พบว่ามีความชุกระหว่างร้อยละ ๑๖.๔ - ๓๕.๘ แล้วแต่เกณฑ์การวินิจฉัยซึ่งแตกต่างกันออกไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow