ทำไมมันถึงยังไม่เกิดขึ้น เพราะมันทำไม่ได้ หรือว่ามนุษย์เรายังไม่ฉลาดพอที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้นั้นยังเป็นเรื่องที่คลุมเครือ แต่ที่แน่ ๆ คือ พวกเราไม่ใช่คนรุ่นแรกที่คิดเรื่องนี้ และมันก็ได้รับการพิสูจน์หลายครั้งแล้ว เพื่อหาความเป็นไปได้ที่จะทำให้มันเกิดขึ้น
เครื่องจักรนิรันดร์ หรือการเคลื่อนที่อันเป็นนิรันดร์นี้ อ้างอิงมาจากแนวคิดที่ว่า จะมีเครื่องจักรหรือกลไกอะไรบางอย่างหรือไม่ ที่ปล่อยพลังงานออกมาได้มากกว่าที่มันรับเข้าไป กล่าวถึงตรงนี้ก็อาจจะสามารถสรุปจบได้เลยว่า ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง เพราะว่ามันขัดกับ "กฎการอนุรักษ์พลังงาน" ที่ว่า "พลังงานที่ปล่อยออกมาต้องเท่ากับที่ได้รับเข้าไป แม้ว่าชนิดของพลังงานอาจจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม"
ผู้คนขบคิดเรื่องนี้กันมากถึงขนาดที่หน่วยงานจดสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา (United States Patent and Trademark Office หรือ USPTO) สั่งห้ามจดสิทธิบัตรแนวคิดประมาณนี้ จนกว่าจะมีอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่สามารถใช้งานได้จริงมาให้ทดสอบ เพราะว่าก่อนหน้านี้มีนักประดิษฐ์หัวใสจำนวนมากมาจดสิทธิบัตร และเอาไปหลอกขายฝันให้กับนายทุนจนเสียเงินเสียทองกันไปเยอะ รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรในอีกหลายประเทศก็ออกกฎในทิศทางเดียวกัน ยังไม่นับเรื่องที่ Royal Academy of Scienes แห่งกรุงปารีสในฝรั่งเศสเอง ก็เคยประกาศว่าจะไม่รับบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากเครื่องจักรนิรันดร์ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นไปตามกฎของเทอร์โมไดนามิกส์ (Laws of Thermodynamics) ซึ่งว่าด้วยเรื่องของพลังงาน อย่างน้อย ๆ หนึ่งข้อเสมอ
กฎของเทอร์โมไดนามิกส์ มี 3 ข้อด้วยกัน ซึ่งกล่าวถึงพลังงานชนิดต่าง ๆ และการเปลี่ยนแปลงชนิดของพลังงานระหว่างกัน
ข้อที่ 1 มีพื้นฐานมาจากกฎการอนุรักษ์พลังงาน โดยกล่าวว่า พลังงานไม่สามารถสร้างขึ้นหรือทำลายให้หายไปได้ พลังงานทั้งหลายที่เรารู้จักต่างหมุนเวียนเปลี่ยนไปในจักรวาลนี้ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือ เราไม่สามารถได้รับพลังงานที่ออกมาจากระบบมากกว่าพลังงานที่ใส่เข้าไปในระบบ ซึ่งกระทบกับแนวคิดเครื่องจักรนิรันดร์โดยตรง แต่แม้ว่าเราจะสามารถควบคุมเรื่องพลังงานที่ได้รับและส่งออกได้โดยไม่มีพลังงานภายนอกเข้ามารบกวน เครื่องจักรของเราก็ยังติดกับของกฎการอนุรักษ์พลังงานข้อที่ 2 อยู่ดี
ข้อที่ 2 กล่าวว่า พลังงานจะถูกส่งต่อโดยถ่ายทอดไปในรูปแบบอื่น ๆ เช่น แรงเสียดทาน และอาจทำให้ได้พลังงานความร้อนออกมา ซึ่งพลังงานเหล่านี้จะเล็ดลอดออกมาจากเครื่องจักรเรื่อย ๆ และนั่นทำให้พลังงานโดยรวมของระบบเปลี่ยนแปลงไป มันจึงไม่เสถียรและสูญเสียสภาพการเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหวของมันไปในที่สุด ดังนั้น ในปัจจุบันแค่คิดและสร้างเครื่องจักรหรือระบบสักอย่างที่สามารถทำงานได้ภายใต้กฎสองข้อนี้ก็ยากแล้ว มันจึงยังไม่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังถกเถียงกันอยู่ในตอนนี้คือ มันเป็นไม่ได้จริง ๆ หรือกฎที่เรามีในตอนนี้มันไม่ครอบคลุม มันโบราณเกินไป
(ส่วนกฎข้อที่ 3 กล่าวว่า ที่อุณหภูมิศูนย์สัมบูรณ์ (0 เคลวินหรือ -273 องศาเซลเซียส) ค่าความไม่เป็นระเบียบหรือความยุ่งเหยิงของระบบ (Entropy) จะเท่ากับ 0 ซึ่งจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกแช่แข็งและหยุดนิ่งโดยไม่มีพลังงานความร้อนอยู่ในนั้นเลย)