ผลของการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มีทั้งข้อดีและข้อเสียให้ทั้งประโยชน์และโทษขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ปฏิกิริยานิวเคลียร์ กระบวนการจีเอ็มโอ การทำโคลนนิ่งและคอมพิวเตอร์ รวมทั้งในอนาคตอาจเป็นหุ่นยนต์ด้วย ดังนั้นการนำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไปใช้ควรพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ทางจริยธรรมและศาสนาและต้องมีกฎหมายรองรับอย่างพอเพียงรวมทั้งต้องศึกษาถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นควบคู่กันไปกับการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีนั้น ๆ เพราะมนุษย์เรามักจะวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองเท่านั้นไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบด้านอื่น ๆ ที่อาจมีต่อมนุษยชาติ ในเรื่องของนาโนเทคโนโลยีก็จำเป็นต้องตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วย การใช้เทคนิคทางนาโนเพื่อพัฒนางานวิจัยด้านพันธุวิศวกรรมตัดต่อสารพันธุกรรมเพื่อดัดแปลงหรือปรับปรุงพันธุ์สิ่งมีชีวิตอาจนำมาซึ่งโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลสะท้อนกลับไปยังมนุษย์ การใช้ระบบนาโนสร้างความฉลาดให้แก่หุ่นยนต์เพื่อการสร้างสรรค์และการทำให้คนพอใจได้แต่หุ่นยนต์ก็อาจเป็นภัยต่อวิถีชีวิตมนุษย์ได้เช่นกันถ้าหากมันใช้ความฉลาดในทางลบที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อน นอกจากนี้เสื้อสังเคราะห์พิเศษด้วยวัสดุนาโนที่สามารถป้องกันสิ่งต่าง ๆ มากมายหรือกล้องที่มีประสิทธิ ภาพในการมองทะลุได้ในทุกสภาวะสิ่งเหล่านี้หากตกไปอยู่ในเงื้อมมือของคนไม่ดีหรืออาชญากรก็อาจก่อให้เกิดภัยหรืออันตรายได้อย่างใหญ่หลวง
เมื่อตอนต้น พ.ศ. ๒๕๔๗ วารสาร Nature ได้รายงานเกี่ยวกับการค้นพบว่าอนุภาคนาโนคาร์บอนซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๕ นาโนเมตร สามารถเคลื่อนผ่านเข้าไปยังระบบประสาทที่สมองของหนูทดลองได้ ปัจจุบันท่อนาโนคาร์บอนซึ่งสามารถสังเคราะห์ได้ในห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ทั่วโลกนั้นกำลังนำมาใช้สร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์แต่จนถึงบัดนี้เรายังรู้น้อยมากเกี่ยวกับผลกระทบของอนุภาคนาโนคาร์บอน หากมันเคลื่อนที่ไปที่สมองหรือระบบอื่น ๆ ระบบความปลอดภัยที่มีในห้องปฏิบัติการนาโนส่วนใหญ่ยังใช้เช่นเดียวกับระบบความปลอดภัยที่มีอยู่เดิม โดยสรุปแล้วเป็นที่คาดหวังว่านาโนเทคโนโลยีจะเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตอันใกล้ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิวัติระบบการผลิตและการบริโภคในทุกระดับ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคจักต้องตระหนักอยู่เสมอถึงคุณและโทษและวางจิตใจไว้บนหลักแห่งจริยธรรมตลอดเวลา