นับตั้งแต่ศาสตราจารย์ริชาร์ด ฟิลลิปส์ ไฟยน์แมน ได้จุดประกายแนวคิดเกี่ยวกับนาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยีไว้เมื่อประมาณ ๔๐ ปีที่แล้วและเดรกซ์เลอร์ได้มีการศึกษาหาแนวทางเพื่อทำให้แนวคิดดังกล่าวเกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา จนในที่สุดเทคโนโลยีที่เคยเชื่อว่าจะพบแต่ในนิยายหรือภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ เช่น เรื่อง Star Trex หรือ Fantastic Voyage ได้กลายมาเป็นเทคโนโลยีที่เป็นความหวังสูงสุดของมนุษยชาติที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านพลังงาน การคมนาคมสื่อสาร การเกษตร ฯลฯ นั่นคือนาโนเทคโนโลยีซึ่งถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีเชิงบูรณาการแห่งอนาคตและเชื่อกันว่าเป็นวิทยาการที่ดีที่สุดอย่างแท้จริง
การศึกษาและพัฒนานาโนเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบเริ่มจากการที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของนาโนเทคโนโลยีโดยสะท้อนจากคำพูดตอนหนึ่งของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ว่า "...ด้วยนาโนเทคโนโลยีเราสามารถที่จะเก็บข้อมูลจากหนังสือในห้องสมุดรัฐสภาทั้งห้องไว้บนเนื้อที่เล็กจิ๋วขนาดเท่าหัวเข็มหมุดเท่านั้น..." และได้อนุมัติงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อใช้ในการก่อตั้งหน่วยงานชื่อ National Nanotechnology Initiative (NNI) นับจากนั้นเป็นต้นมาผลงานต่าง ๆ ทางด้านนาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยีก็ได้เพิ่มทวีคูณอย่างรวดเร็วเมื่อวัดจากผลงานตีพิมพ์และการจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับนาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี ต่อมาประเทศอื่น ๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริการวมทั้งประเทศไทยได้เกิดแรงกระตุ้นประกอบกับแรงกดดันจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศจนเป็นผลทำให้เกิดการส่งเสริมงานด้านนาโนกันอย่างกว้างขวางในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งศูนย์วิจัย สถาบัน เครือข่ายต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับนานาชาติไปจนถึงระดับท้องถิ่นในทุกมุมโลก จากข้อมูลในพ.ศ. ๒๕๔๖ พบว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้ทุ่มงบประมาณเพื่อการแข่งขันและพัฒนาทางด้านนาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยีเป็นจำนวนเงินประมาณ ๘๐๐ ล้านดอลลาร์ สหรัฐอเมริกา ๗๗๔ ล้านดอลลาร์ สหภาพยุโรป ๖๕๐ ล้านดอลลาร์ เกาหลีใต้ ๒๒๕ ล้านดอลลาร์ ไต้หวัน ๑๐๕ ล้านดอลลาร์ จีน ๖๐ ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ ๒๐ ล้านดอลลาร์ และมาเลเซีย ๕ ล้านดอลลาร์ ขณะที่รัฐบาลไทยเริ่มต้นที่ ๐.๑๕ ล้านดอลลาร์หรือประมาณ ๖ ล้านบาท ทั้งนี้ทุกประเทศมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการพัฒนาทางด้านนี้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ จำเป็นต้องอาศัยเวลาอาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาด้านนาโนในปัจจุบันโดยภาพรวมยังอยู่ในระยะเด็กทารกมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ทำนายว่าอาจจะต้องใช้เวลาไปจนถึงพ.ศ. ๒๕๖๘ ในการบุกเบิกคิดค้นจนสามารถประยุกต์องค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ด้านนาโน มาเป็นเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในเชิงพาณิชย์จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของมนุษย์
อันที่จริงเมื่อพิจารณาถึงความสำเร็จของนาโนเทคโนโลยีในปัจจุบันและน่าจะเป็นจริงในอนาคตด้วยจะพบว่าการพัฒนานาโนเทคโนโลยีมักควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น หรืออาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องพึ่งพาหรือเติมเต็มซึ่งกันและกัน ตัวอย่างเช่น การตัดต่อและสังเคราะห์โปรตีน การทำเครื่องจักรนาโนเพื่อใช้กับตัวตรวจจับทางชีววิทยา (biosensor) การสังเคราะห์วัสดุเลียนแบบธรรมชาติเพื่อการสร้างเนื้อเยื่อเทียม (biomimitic materials) การสร้างตัวขนส่งยานาโน (nano - drug delivery) รวมทั้งวัสดุและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นาโน (nanoelectronics) ที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำงานและเก็บข้อมูลโดยสิ้นเปลืองเนื้อที่และพลังงานน้อยมาก นอกจากนี้ยังมีเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่มีสมรรถนะสูงและมีขนาดเล็กเท่าฝ่ามือและการพัฒนาระบบจอภาพสารอินทรีย์เรืองแสง (Organic Light Emitting Diode : OLED) ล้วนกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยสำหรับการผลิตอุปกรณ์ตรวจสอบหรือตรวจหาและเครื่องป้องกันอาวุธเคมีหรืออาวุธชีวภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีควรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญเพื่อลดปัญหามลภาวะโดยการลดของเสียเหลือใช้และการแปรรูปปรับสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือที่เรียกว่า "Green Technology" รวมไปถึงเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มอัจฉริยะที่ไม่ติดคราบสกปรก นั่นคือในยุคนาโนเทคโนโลยีอาจมีเสื้อผ้าที่สามารถปรับเปลี่ยนสภาพไปตามสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านของสี การควบคุมความร้อนและความเย็นสามารถป้องกันเชื้อโรคซึ่งปัจจุบันได้มีการผลิตออกมาใช้แล้วทั้งในลักษณะของการผลิตในวงจำกัดที่เกี่ยวกับการทหารและความมั่นคงและในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มตัว ที่เห็นได้ชัดเจน คือ เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา เช่น ไม้และลูกเทนนิส ไม้กอล์ฟ นอกจากนี้สักวันหนึ่งอาจจะมียารักษาโรคทุกโรค โดยวิธีการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ หรือมีหุ่นยนต์ใช้แทนคนรับใช้ในบ้านหรือมีกล้องที่สามารถมองทะลุทุกสิ่งทุกอย่างได้รวมทั้งสามารถเดินทางไปในอวกาศด้วยค่าใช้จ่ายเวลาและความเสี่ยงที่น้อยกว่าในปัจจุบันมากมาย
หากกล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับความสำเร็จหรือความก้าวหน้าของนาโนเทคโนโลยีในปัจจุบันจะพบว่ามีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและมีผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงความสำเร็จออกมาเป็นระยะ ๆ ซึ่งอาจแบ่งเป็นกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมการแพทย์ วิศวกรรม อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งก่อสร้าง อุตสาหกรรมสิ่งทอ พลังงาน เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ในบ้านและอุปกรณ์กีฬา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอาหาร สิ่งทอ และเครื่องสำอาง อาจถือว่าประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์สูงสุด ผลิตภัณฑ์จากนาโนเทคโนโลยีมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในช่วงปลาย พ.ศ. ๒๕๔๖ Forbes นิตยสารธุรกิจชั้นนำของโลกได้ประกาศ ๑๐ สุดยอดผลิตภัณฑ์จากนาโนเทคโนโลยีซึ่งมีส่วนช่วยในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านนาโนเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์เป็นอย่างมากซึ่งสินค้านาโนเทคโนโลยีดังกล่าว ประกอบด้วย ครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด กล้องถ่ายรูปดิจิทัล แว่นตากันแดด แร็กเก็ตเทนนิส ลูกเทนนิส เป็นต้น