นาโนเทคโนโลยีเชิงชีวภาพและนาโนเทคโนโลยีทางการแพทย์มีบทบาทเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างมากและยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับความต้องการพื้นฐานของมนุษยชาติ เช่น การมีอายุยืนยาวและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสิ่งแวดล้อมที่ดีรวมทั้งมีรูปร่างหน้าตาสวยงามตลอดเวลา การศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจังอยู่ในส่วนของการแพทย์แผนนาโนและเทคโนโลยีชีวภาพนาโน
เป็นศาสตร์เกี่ยวกับการแพทย์หรือตัวยาหรือการบำบัดรักษาโดยยาที่เกี่ยวข้องกับระบบขนาดนาโน การศึกษาวิจัยเรื่องนี้ถือเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ใหม่มากส่วนมากอยู่ในขั้นการทดลอง และยังไม่มีการนำมาใช้กันอย่างเป็นระบบในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าจุดเริ่มต้นของการแพทย์แผนนาโนมาจากนิยายวิทยาศาสตร์ที่เขียนขึ้นเมื่อประมาณ ๕๐ ปีมาแล้ว โดยกล่าวถึงการนำเรือดำน้ำจิ๋ว หรือหุ่นยนต์นาโนลักษณะคล้ายเรือดำน้ำส่งเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยเพื่อปฏิบัติภารกิจในการรักษาหรือซ่อมแซมส่วนที่ผิดปกติในครั้งนั้นไม่มีใครเชื่อว่าจินตนาการดังกล่าวจะเป็นจริงได้แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าเรื่องหุ่นยนต์นาโนหรืออวัยวะเทียมอาจเป็นจริง ผลจากการศึกษาวิจัยจนถึงปัจจุบันพบว่าได้มีการเสนอแบบจำลองของหุ่นยนต์นาโนที่เรียกว่า หุ่นยนต์นาโน (nano robot) ที่สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์หลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านทันตกรรมมีความสามารถในการตรวจสอบซ่อมแซมทำความสะอาดผิวฟันโดยการควบคุมผ่านระบบคอมพิวเตอร์ทางไกลทำให้ความรู้สึกเจ็บปวดในขณะทำฟันลดลงหรือแทบไม่รู้สึกว่ากำลังทำฟันอยู่ นอกจากนี้ยังมีการสร้างหุ่นยนต์นาโนเซลล์เม็ดเลือดแดงเทียม (respirocyte) ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นเลือดฝอยเพื่อให้เคลื่อนที่ไปในหลอดเลือดได้ เช่นเดียวกับเม็ดเลือดแดง หุ่นยนต์นาโนเซลล์เม็ดเลือดแดงเทียมนี้จะทำหน้าที่นำก๊าซออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายโดยออกแบบระบบควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งในด้านการป้อนพลังงานและระบบสื่อสารอย่างเหมาะสม หากเป็นผลสำเร็จคาดว่าจะสามารถนำหุ่นยนต์นาโนเซลล์เม็ดเลือดแดงเทียมนี้มาใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยที่เกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงซึ่งส่งผลให้มีก๊าซออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ ปัญหาโรคมะเร็งก็เช่นเดียวกันที่จนถึงปัจจุบันส่วนมากก็ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดอาจใช้เครื่องมือที่ลักษณะเหมือนหุ่นยนต์นาโน (nanodevice) หรือวัสดุนาโนเป็นตัวขนส่งยา (drug delivery agent) นำเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการรักษารวมทั้งการรักษาโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด โรคเอดส์ โรคไข้หวัดนก ก็อาจอาศัยการแพทย์แผนนาโนรักษาเยียวยา นอกจากเป้าหมายในการรักษาแล้วการศึกษาวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยียังนำไปสู่การตอบสนองในเรื่องอื่น ๆ เช่น การสร้างระบบภูมิคุ้มกัน การรักษาเกี่ยวกับความบกพร่องทางด้านประสาทสัมผัสต่าง ๆ ทั้งระบบผิวหนัง การมองเห็น การได้ยิน และการรับรสหรือกลิ่น อาจกล่าวได้ว่าการแพทย์แผนนาโนจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ในอนาคตได้นานัปการ
เน้นในเรื่องการเกษตร อาหาร อุตสาหกรรมเชิงชีวภาพและการศึกษาวิจัยตัวรับรู้นาโน (nanosensor) เช่น ไมโครแอเรย์ (micro-array) หรือนาโนแอเรย์ (nanoarray) ที่สามารถใช้ตรวจหาหรือบ่งชี้เกี่ยวกับโรคหรือเชื้อโรคได้ผลอย่างรวดเร็วและแม่นยำ นื่องจากสามารถตรวจสอบสมบัติได้ทีละหลาย ๆ ตัวอย่าง รวมทั้งความพยายามที่จะสร้างหุ่นยนต์นาโนเพื่อเลียนแบบสิ่งมีชีวิตและเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยตั้งแต่ในระดับเนื้อเยื่อไปจนถึงระดับโมเลกุลภายในเซลล์ ความสำเร็จที่โดดเด่นของเทคโนโลยีชีวภาพนาโน ได้แก่ ความสำเร็จในการพัฒนาตัวรับรู้และการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อการบริโภครวมทั้งการผลิตเครื่องวินิจฉัยโรคแบบพกพา (Lab kit) ที่มีราคาถูกให้ผลเร็วและเชื่อถือได้