เนื่องด้วยในเดือนตุลาคม 2560 นี้ อันเป็นเดือนแห่งพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทุกคนต่างมีความรู้สึกรักและหวนคำนึงถึงพระองค์ท่าน ตลอดจนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ถึงทุกเรื่องราวที่พระองค์ท่านได้ทรงสร้างสรรค์เอาไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือการให้ความสำคัญแก่ชาวผู้พิการทางสายตา
ตามปกติแล้ว การหยิบจับธนบัตรมาใช้จ่ายคงเป็นเรื่องธรรมดาของเรา เขาให้ธนบัตรอะไรไปก็รู้ ได้เงินทอนมาเท่าไหร่ก็ตรวจสอบเองได้ง่าย ๆ แต่สำหรับผู้พิการทางสายตา พวกเขาต้องอาศัยการเปรียบเทียบขนาดของธนบัตรแต่ละชนิด ด้วยการพับธนบัตรเสียบเทียบระหว่างนิ้วมือเพื่อวัดขนาด จึงจะสามารถแยกว่าธนบัตรนี้เป็นใบที่มูลค่าเท่าไร ซึ่งล่าช้าไม่สะดวกสบายเท่าใดนัก และยังมีเรื่องข้อจำกัดที่ต่างกันของความยาวนิ้วมือแต่ละคนอีกด้วย ส่งผลให้ยังมีหลายกรณีที่เกิดความผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง
เพื่อให้ความช่วยเหลือมอบสิ่งจำเป็น เพื่อความสะดวกรวดเร็วต่อการการใช้ชีวิตของผู้พิการทางสายตามากขึ้น และร่วมสานต่อที่พ่อทำ คอลัมน์เดือนนี้ของเราจึงอยากจะชวนเพื่อน ๆ มาทำ “ที่วัดขนาดธนบัตรเพื่อผู้พิการทางสายตา”
โดยสามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบง่าย ๆ ที่สามารถประดิษฐ์ได้เองจากอุปกรณ์จำพวกสันรูดปกรายงาน, แฟ้ม, พลาสติก หรือแบบที่ต้องสั่งผลิตเป็นบัตรพลาสติกขนาดกะทัดรัด ที่มีเส้นนูนบอกตำแหน่งพร้อมระบุอักษรเบรลล์ โดยแต่ละแบบจะมีความแม่นยำแตกต่างกันไปเล็กน้อย แต่ทุกแบบล้วนมีประโยชน์และสามารถใช้งานได้จริง
อุปกรณ์:
1) สันรูดพลาสติก สันปกรายงานแบบรูด
2) แผ่นยางรองตัด
3) ไม้บรรทัดฟุตเหล็ก
4) เทปกระดาษกาวย่น/ผ้า
5) ดินสอ/ปากกาปลายแหลม
6) มีดคัตเตอร์และใบมีดคัตเตอร์
ขั้นตอน:
เพียงวัดและตัดสันปกเป็นขั้นบันได ตามขนาดความยาวของธนบัตรแต่ละชนิด ตั้งแต่มูลค่า 20 ไปจนถึง 1,000 บาท
หากต้องการทำที่วัดธนบัตรเพื่อบริจาคให้ผู้พิการทางสายตาก็สามารถทำได้เอง แต่หากใครทำไม่เป็นก็สามารถสอบถามและขอคำแนะนำวิธีการทำ จากจิตอาสาผู้จัดกิจกรรมนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง อย่าง ดร.เมธี ธรรมวัฒนา อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ ม.บูรพา ผ่านเฟซบุ๊ก maytee tham หรือติดต่อเบอร์ 08-1929-8454 ได้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
และเมื่อทำเสร็จแล้วสามารถนำไปสมทบร่วมกับ ดร.เมธี หรือบริจาคได้ที่ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการทางสายตา, นักเรียนพิเศษตามโรงเรียนต่าง ๆ เช่น โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ เป็นต้น รวมทั้งสามารถบริจาคเป็นเงินทุนหรืออุปกรณ์ก็ได้เช่นกัน
สานต่อที่พ่อทำเพื่อให้พวกเขาพร้อมจะ “ยิ้มสู้” ดังเพลงพระราชนิพนธ์ ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานให้นำไปบรรเลงเพื่อเป็นการปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่คนตาบอดต่อไป #DoGoodTogether
แหล่งข้อมูล
www.posttoday.com/social/general/415959
www.volunteerspirit.org