Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีเอาตัวรอดจากน้ำป่าไหลหลาก

Posted By sanomaru | 04 ก.ย. 60
14,401 Views

  Favorite

เมื่อถึงช่วงหน้าฝน เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ เกี่ยวกับข่าวน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของผู้คนไปเป็นจำนวนมาก แต่ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ความรุนแรงของน้ำป่าไหลหลาก ที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ถึงขั้นเสียชีวิต เพราะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และหลายคนไม่ทันได้ตั้งตัว น้ำป่าที่่มีความเร็วและความรุนแรงนี้อาจพัดพาเราไปกระแทกกับหิน ต้นไม้ เป็นต้น การรู้วิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์เฉพาะหน้าเช่นนี้จึงเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้เรามีโอกาสรอดได้

ความรุนแรงของน้ำป่า
ภาพ : Shutterstock

 

มีคลิปการทดลองของญี่ปุ่นคลิปหนึ่งที่น่าสนใจมาก เป็นการทดลองถึงวิธีการเอาตัวรอดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับน้ำป่าไหลหลากแบบฉับพลัน ในคลิปได้ทดลองโดยการกักน้ำปริมาณมากเอาไว้ แล้วปล่อยออกมาในคราวเดียว เพื่อจำลองการเกิดน้ำป่าไหลหลาก รอบแรกให้คนจำนวน 6 คน ยืนจับมือกันเป็นแถวหน้ากระดาน ตั้งรับน้ำที่กำลังจะไหลมา ผลปรากฏว่าคนทั้งหกถูกน้ำพัดพากระจายกันออกไป

แถวหน้ากระดาน
ภาพ : Shutterstock

 

พวกเขาทำการทดลองใหม่อีกครั้ง โดยกักน้ำปริมาณเท่าเดิมไว้ แล้วปล่อยออกมาในคราวเดียว แต่ครั้งนี้ให้คนทั้งหกคนยืนเกาะต่อกันเป็นแถวตอน ให้ผู้ชายอยู่ข้างหน้า ส่วนผู้หญิงอยู่ข้างหลัง เมื่อทำการปล่อยน้ำที่มีความแรงและเร็วออกมา ปรากฏว่าน้ำปะทะเข้ากับคนข้างหน้า จนชายคนข้างหน้าถอยร่นไปปะทะคนข้างหลัง แต่ทุกคนยังคงสามารถยืนอยู่ได้ แม้จะมีการถอยร่นไปบ้างตามแรงของน้ำ แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แถวตอนเรียงหนึ่ง
ภาพ : Shutterstock

 

การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า การเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ สติ และหากไม่สามารถหนีขึ้นที่สูง หรือหาที่ยึดเกาะที่มั่นคงได้ ให้ทุกคนยืนเรียงกันเป็นแถวตอนเรียงเดี่ยว และพยายามรักษาตำแหน่งเดิมของตนเองไว้ เพื่อลดแรงปะทะของน้ำ โอกาสที่น้ำจะพัดพาเราไปกระแทกสิ่งต่าง ๆ ก็จะลดลง และโอกาสรอดก็จะมีมากขึ้น

 

ทำไมการยืนเรียงเป็นแถวตอนจึงมีโอกาสรอดได้มากกว่าล่ะ

 

สิ่งนี้อธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์ง่าย ๆ จากเรื่องของ "กฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน" และของไหล ซึ่งตามกฎการเคลื่อนที่ของนิวตันข้อที่ 1 กล่าวว่า "วัตถุใด ๆ ก็ตามจะรักษาสภาพหยุดนิ่ง หรือเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ในทิศทางเดิม ก็ต่อเมื่อแรงลัพธ์ที่มากระทำต่อวัตถุมีค่าเท่ากับศูนย์" ในสถานการณ์ตามคลิปดังกล่าวนี้ ตัวคนก็เปรียบเสมือนวัตถุ ที่พยายามจะรักษาสภาพหยุดนิ่งไว้ แต่เมื่อแรงที่มากระทำต่อเรา ซึ่งก็คือน้ำ มีค่ามากกว่าศูนย์ จึงทำให้เราแทบจะไหลไปตามน้ำ ส่วนการที่ผู้ทดลองในคลิป เปลี่ยนจากการยืนจับมือเรียงกันแบบแถวหน้ากระดานไปเป็นการยืนเกาะกันแบบแถวตอน เป็นการลดพื้นที่หน้าตัดที่จะปะทะกับน้ำลง เมื่อพิจารณาสมการ P=F/A (P คือ ความดัน, F คือ แรงที่มากระทำ, A คือพื้นที่หน้าตัด) ความดันที่น้ำกระทำมีค่าเท่าเดิม แต่เมื่อพื้นที่มากขึ้นแรงที่กระทำจะมีค่ามากขึ้น จึงทำให้แถวของคนที่ยืนเรียงหน้ากระดาษไหลไปตามน้ำ จะเห็นว่า  แรงกระทำ (แรงที่น้ำกระทำกับตัวคน) นั้นแปรผันตรงกับพื้นที่หน้าตัด ดังนั้น หากพื้นที่หน้าตัดลดลง แรงที่มากระทำต่อตัวคนก็จะลดลงเช่นกันนั่นเอง

ภาพ : trueplookpanya

 

ในส่วนนี้เป็นการอธิบายด้วยหลักการง่าย ๆ ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น เพราะนอกจากนี้ก็ยังอาจมีปัจจัยหรือตัวแปรอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตาม ในภาวะฉุกเฉินที่ไม่มีทางเลือกอื่นใด การทำเช่นนี้ก็อาจเป็นทางเลือกและทางรอดหนึ่ง แต่ทางที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันและเฝ้าระวังโดยไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเช่นนี้หากเป็นไปได้

 

 

ภาพปก : Shutterstock

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow