Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โทรคมนาคม

Posted By Plookpedia | 01 ก.ย. 60
2,515 Views

  Favorite

โทรคมนาคม

 

เด็ก ๆ คงสังเกตเห็นว่าน้องที่เกิดมาใหม่ ๆ เอาแต่นอนและส่งเสียงร้องเมื่อหิวนมหรือผ้าอ้อมเปียกต่อมาเมื่อน้องโตขึ้นก็รู้จักพูดและแสดงท่าทางเพื่อให้คนอื่นที่อยู่ใกล้ตัว เช่น พ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา รู้ว่าตนต้องการอะไรและมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรครั้นเมื่อได้เรียนจนเขียนตัวหนังสือได้ก็สามารถแสดงความคิดเห็นความต้องการและความรู้สึกของตนถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือส่งไปยังคนที่อยู่ไกล ๆ ออกไปได้

 

การถ่ายทอดความคิดเห็นความต้องการและความรู้สึกของตนไปยังคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลนี่แหละคือการติดต่อ หรือการสื่อสาร

 

 

การติดต่อกับคนอื่นจึงเป็นงานประจำวันของเราถ้าอยู่ใกล้กันก็ใช้พูดให้เขาฟังและฟังที่เขาพูดแต่ถ้าอยู่ไกล ๆ ก็ต้องเขียนเป็นข่าวสารส่งไป

ในสมัยโบราณอาศัยนักวิ่งเร็วหรือที่เรียกว่า "ม้าเร็ว" เป็นผู้นำข่าวสารไปแต่ก็ไปได้เร็วเพียงประมาณ ๑๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น

 

 

ชาวป่าแอฟริกาส่งข่าวถึงกันด้วยเสียงกล่องชาวกรีกและชาวโรมันใช้แสงไฟหรือแสงสะท้อนจากวัสดุขัดมัน เช่น โล่หรือกระจกเงาในการส่งข่าวชาวอินเดียแดงในอเมริกาส่งข่าวติดต่อถึงกันด้วยควันไฟ

 

ชาวเปอร์เซียได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มใช้เสียงพูดในการสื่อสารคือคัดเลือกคนที่มีเสียงดัง ๆ ประจำอยู่แท่นสูงหรือหอคอยเรียงรายห่างกันช่วงละ ๒ กิโลเมตร แล้วใช้เสียงตะโกนแจ้งข่างสารต่อ ๆ กันไป

 

 

นอกจากที่กล่าวแล้วยังมีการใช้สัตว์ เช่น นกพิราบนำข่าวสารไปด้วยซึ่งไปได้เร็วกว่ามนุษย์วิ่งและเมื่อมนุษย์สามารถสร้างกล้องส่องทางไกลขึ้นได้ก็ช่วยให้แลเห็นแสงไฟหรือควันไฟในระยะทางไกลมากขึ้นแต่อย่างไรก็ดีมนุษย์ก็ยังแสวงหาวิธีการสื่อสารใหม่ ๆ เพื่อให้ส่งข่าวสารได้ไกลและเร็วยิ่งขึ้นตลอดมา

 

 

ครั้นเมื่อมนุษย์รู้จักไฟฟ้ารู้จักทำหม้อไฟฟ้าและรู้จักวิธีส่งกระแสไฟฟ้าไปในสายลวดการสื่อสารแบบใหม่ ๆ ซึ่งเรียกว่า "โทรเลข" ก็เกิดขึ้น

โทรเลขเป็นการส่งกระแสไฟฟ้าไปในสายลวดให้มีจังหวะไหลยาวบ้างสั้นบางเป็นรหัสนัดหมายรู้กันกับฝ่ายรับปลายทางว่า หมายถึง อักษรตัวใด เช่น จังหวะ "ยาว-ยาว-สั้น" หมายความว่า อักษรตัว "ก" เป็นต้น

แม้โทรเลขจะเป็นการสื่อสารที่รวดเร็วเนื่องจากระแสไฟฟ้าเคลื่อนที่ได้เร็วมากแต่ก็ยังไม่สะดวกแต่ผู้ใช้เพราะต้องเขียนข่าวสารที่จะส่งไปเป็นตัวหนังสือและส่งเป็นรหัสไปทีละตัว ๆ มนุษย์จึงแสวงหาวิธีติดต่อสื่อสารแบบอื่นที่จะใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้นในที่สุดก็ได้ "โทรศัพท์"

โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้านั้นไปในสายลวดไปเข้าเครื่องรับปลายทางที่จะทำหน้าที่เปลี่ยนกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่งจึงสะดวกขึ้นเพราะใช้เสียงพูดติดต่อกันได้เลย

แต่ความไม่สะดวกก็ยังมีเพราะทั้งโทรเลขและโทรศัพท์ต้องใช้สายลวดถ้าที่ใดขึงสายลวดไปถึงไม่ได้ก็ใช้โทรเลขหรือโทรศัพท์ไม่ได้

 

มนุษย์ต้องรอต่อไปจนมีผู้คิดทำให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าคลื่นวิทยุขึ้นได้จึงใช้คลื่นวิทยุแทนสายลวดส่งโทรเลขและพูดโทรศัพท์ไปได้ไกล ๆ ทั้งยังสามารถใช้ส่งข่าวสารติดต่อกับเรือที่แล่นอยู่ในทะเลและเครื่องบินที่เดินทางอยู่ในท้องฟ้าได้อีกด้วย

 

 

ต่อมาได้ใช้คลื่นวิทยุส่งเสียงพูดเสียงดนตรีและเสียงแสดงละครไปให้ประชาชนที่อยู่ตามบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาทั่วไปรังฟังซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า "วิทยุกระจายเสียง" และยังใช้คลื่นวิทยุส่งภาพถ่าย ภาพเอกสาร ฯลฯ ไปทางไกลได้อีก เรียกว่า "วิทยุโทรภาพ"

 

 

ยิ่งไปกว่านั้นยังใช้คลื่นวิทยุส่งภาพเหตุการณ์สด ๆ ที่เคลื่อนไหวได้ เช่น ภาพการเล่นฟุตบอล ภาพการชกมวย ภาพการแสดงละครและภาพการบรรเลงดนตรีไปให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นเหมือนกับได้เห็นเหตุการณ์นั้น ๆ ณ ที่เกิดจริง ๆ ได้อีกด้วยวิธีการนี้เรียกว่า "วิทยุโทรทัศน์"

การสื่อสารชนิดใช้กระแสไฟฟ้าและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีชื่อเรียกอย่างใหม่เฉพาะว่า "โทรคมนาคม" (อ่านว่า โท-ระ-คะ-มะ-นา-คม)

 

____________________________________________________________

 

บางวันเราจะเห็นผู้ชายแต่งเครื่องแบบสีกากีใส่หมวกแก๊ปสีเดียวกับเสื้อ กางเกง มีผ้าพันหมวกสีกากีมีขลิบสีเลือดหมูทั้งส่วนบนและส่วนล่างขี่รถจักรยานยนต์บ้าง ขี่รถจักรยานสองล้อบ้างบางทีก็เดินมาที่บ้านและส่งซองจดหมายหรือห่อพัสดุให้จดหมายหรือห่อพัสดุนั้นมาจากผู้ส่งที่อยู่ใกล้บ้าง ไกลบ้างผู้ที่นำจดหมายหรือห่อพัสดุมาให้นั้น เราเรียกว่าบุรุษไปรษณีย์

 

บางทีสิ่งที่บุรุษไปรษณีย์นำมาส่งให้เป็นซองเล็ก ๆ ภายในมีกระดาษข้อความเป็นตัวพิมพ์ดีดสิ่งนั้นเรียกว่า โทรเลข

บุรุษไปรษณีย์กำลังส่งจดหมายโดยรถจักรยาน

 

 

จดหมายเป็นสิ่งที่ผู้ส่งจัดทำขึ้นเองบางทีเป็นตัวหนังสือเขียนบางทีก็เป็นตัวพิมพ์ดีดและผู้ส่งเขียนลงชื่อตนเองแต่โทรเลขเป็นเพียงข้อความหรือใจความที่ส่งมาไม่ใช่กระดาษแผ่นที่ผู้ส่งเขียนข้อความนั้น

 

การส่งจดหมายไปมาถึงกันเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง เรียกว่า การสื่อสารไปรษณีย์หรือเรียกสั้น ๆ ว่า การไปรษณีย์แต่การส่งข้อความเป็นโทรเลขถึงกันเป็นการสื่อสารอีกวิธีหนี่ง เรียกว่า การโทรคมนาคม

บุรุษไปรษณีย์กำลังส่งจดหมายโดยรถจักรยานยนต์

 

 

การที่เราอยู่ห่างไกลจากญาติพี่น้องเพื่อนฝูงและสำนักงานธุรกิจที่เราต้องติดต่อด้วยทำให้เราต้องพึ่งการสื่อสารไปรษณีย์หรือการโทรคมนาคมไม่เพียงเท่านั้นเรายังต้องการความรวดเร็วด้วยจดหมายอาจใช้เวลาเดินทาง ๓–๔ วัน หรือเป็นสัปดาห์ โทรเลขอาจใช้เวลา ๓–๔ ชั่วโมง หรือครึ่งวัน ดังนั้นบางบ้านที่มีเครื่องโทรศัพท์ก็อาจใช้โทรศัพท์พูดติดต่อส่งข่าวสารไต่ถามทุกข์สุขหรือปรึกษาธุรกิจการงานต่าง ๆ เพราะสะดวกรวดเร็วยิ่งกว่าใช้โทรเลข

การลำเลียงจดหมายเพื่อนำไปส่งยังต่างประเทศ

 

 

ปัจจุบันนี้เมื่อเราอยู่แต่ในบ้านเราอาจได้ยินข่าวได้ฟังเสียงดนตรีและเสียงแสดงละครด้วยเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง เสียงนั้นอาจมาจากระยะทางไกลครึ่งค่อนโลกแต่เราก็ได้ฟังคล้ายกับว่าอยู่ใกล้ตัวเรา

หากเรามีเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์เราอาจได้แลเห็นภาพข่าวเหตุการณ์ภาพการแข่งขันกีฬา ภาพการแสดงดนตรีและการบันเทิงต่าง ๆ ฯลฯ จากทั่วทุกมุมโลกบางทีเป็นภาพที่เกิดขึ้นในขณะเวลาที่เรามองดูอยู่ด้วยซ้ำเป็นการรวดเร็วอย่างน่ามหัศจรรย์

เครื่องรับหรือเครื่องขยายเสียงแบบสเตอริโอโฟนิก

 

 

เหล่านี้เป็นผลจากการโทรคมนาคมทั้งสิ้น

การโทรคมนาคมหมายถึงการส่งหรือการรับซึ่งเครื่องหมายสัญญาณการขีดเขียนเป็นตัวหนังสือ รูปภาพและเสียงด้วยกระแสไฟฟ้าในสายลวดด้วยคลื่นวิทยุด้วยแสง (หรือทรรศนาการ) หรือด้วยระบบแม่เหล็กไฟฟ้าอื่น ๆ

 

ดังนั้นการโทรคมนาคมจึงจำแนกออกได้ดังนี้

 

(๑) ประเภทใช้สายลวด ได้แก่ 

 

โทรเลข

โทรภาพ

โทรศัพท์

 

(๒) ประเภทใช้คลื่นวิทยุ ได้แก่

วิทยุโทรเลข

วิทยุโทรภาพ

วิทยุโทรศัพท์

วิทยุกระจายเสียง

วิทยุโทรทัศน์

 


(๓) ประเภทใช้แสง (ทรรศนาการ) หรือใช้สายตา ได้แก่

 

แผ่นป้ายสัญญาณ

แสงไฟ แสงแดด

ควันไฟ

ธงสัญญาณ

เครื่องรับวิทยุกระจายเสียง

 

 

การโทรคมนาคมมีประวัติยืดยาวอย่างมีมีการพัฒนามาอย่างไรจะทราบได้จากเรื่องราวต่อไปนี้

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow