อาหารรสเผ็ดหรือเครื่องเทศและพริกที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อนไม่เพียงแต่ให้ความร้อนกับร่างกาย มันมีประโยชน์ในแง่กระตุ้นการเผาผลาญและความอยากอาหารด้วย แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่แวดล้อมไปด้วยคำเตือนเรื่องรสชาติและส่วนประกอบของอาหาร อาหารหวานจัด เป็นปัจจัยความเสี่ยงแรกที่ทุกคนให้ความคำนึงถึง อาหารรสหวานถูกเชื่อมโยงกับความเสี่ยงของโรคเบาหวาน แต่ใช่ว่าน้ำตาล น้ำเชื่อม และขนมต่าง ๆ จะเป็นสิ่งที่ควรระวังเท่านั้น อาหารที่มีรสเค็มจัด หรือมีเกลือเป็นส่วนประกอบในปริมาณมาก ก็อาจจะก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายไม่แพ้อาหารหวาน
หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำเตือนที่ว่าให้กินเค็มน้อยลงบ้าง ใส่เกลือน้อย ๆ หน่อย หรือเหยาะซีอิ๊วให้เพลา ๆ มือหน่อย เพราะมันส่งผลต่อความดันเลือด แต่คำกล่าวอ้างเหล่านั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ มีหลักฐานหรือผลงานวิจัยมาสนับสนุนหรือไม่ คำตอบคือ มีผลการวิจัยเกี่ยวกับรสเค็มของอาหาร ซึ่งมันคือเรื่องจริง และเป็นจริงดั่งคำ "เขา" ว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ อาหารที่เรารับประทานส่วนใหญ่ได้รับการเตรียมหรือปรุงสุกมาก่อนล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน พร้อมอุ่นรับประทาน อาหารแช่เย็น อาหารแช่แข็ง หรือแม้แต่อาหารแห้งอาหารกระป๋อง ที่ล้วนแต่มีเกลือเป็นส่วนประกอบในปริมาณมาก
ปริมาณเกลือที่สมควรบริโภคหรือได้รับเข้าสู่ร่างกายต่อวันอยู่ที่ประมาณ 1 ช้อนชา หรือประมาณ 180 - 500 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ความเป็นจริงเราได้รับเกลือจากอาหารเยอะกว่านั้นมาก อันที่จริงปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความเค็มของเกลือจะทำให้ลิ้นของคุณเปื่อยหรือต่อมรับรสผิดเพี้ยน แต่มันคือปริมาณโซเดียม ที่ได้รับจากเกลือ เนื่องจากระบบต่าง ๆ ของร่างกายต้องการโซเดียมในการทำงาน
โซเดียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย สำคัญมากขนาดที่ว่า Salary ซึ่งแปลว่าเงินเดือน มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินที่แปลว่า Salt หรือเกลือ เกลือสำคัญต่อการทำงานของเซลล์และการสื่อประสาทของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย หากมีไม่เพียงพอก็จะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคุณต้องรับประทานมันเข้าไปมาก ๆ
รูปแบบของโซเดียมโดยปกติที่เราได้รับ คือ เกลือที่ปรุงรสอาหาร รวมถึงน้ำปลาและซีอิ๊วต่าง ๆ ประโยชน์โดยตรงต่อร่างกายของเรา คือ ช่วยให้การดูดซึมสารอาหารในระบบย่อยทำงานได้เป็นปกติ ยกตัวอย่างเช่น การดูดซึมกลูโคส และทำให้โมเลกุลต่าง ๆ สามารถเดินทางผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ได้เป็นปกติ เมื่อมันอยู่ภายในเซลล์ โซเดียมจะมีประจุลบ ซึ่งทำให้สารอาหารสามารถเดินทางเข้าไปในเซลล์ได้ รวมถึงช่วยในการสื่อสารระหว่างเซลล์ นอกจากนี้ โซเดียมยังช่วยทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อ มีส่วนช่วยรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย ซึ่งกระบวนการปรับสมดุลนี้เกิดขึ้นที่ไต
โดยปกติแล้วเราได้โซเดียมจากอาหารที่รับประทานอยู่แล้ว ยกเว้นกลุ่มคนบางกลุ่มที่ต้องรับประทานโซเดียมเสริมเพื่อช่วยรักษาสมดุลของโซเดียม เช่น นักกีฬา และผู้ใช้แรงงานที่ใช้พลังงานและเสียเหงื่อมาก อาจจะต้องได้รับโซเดียมเพิ่มเป็น 1,500 มิลลิกรัม แต่ไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม เนื่องจากเหงื่อมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ นอกจากร่างกายจะสูญเสียน้ำไปพร้อมกับเหงื่อแล้วยังเสียโซเดียมไปด้วย และนั่นเป็นจุดที่ทำให้เรามีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของเกลือแร่ออกมาทำตลาดมากมาย
แม้ว่าการได้รับโซเดียมมากเกินไปไม่ได้ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง แต่ก็เป็นปัจจัยประกอบที่ส่งผลให้เกิดได้ หากร่างกายของเราไม่สามารถกำจัดโซเดียมที่มีอยู่มากเกินไปในร่างกาย มันก็จะทำให้ปริมาตรของเลือดโดยรวมเพิ่มขึ้น การหมุนเวียนในเลือดยากขึ้น และหัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดแรงดันเลือดสูง แน่นอนว่าการที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานหนักขึ้นนั้นเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจด้วยเช่นกัน การทำงานของไตก็จะมีปัญหาเนื่องจากไตเป็นส่วนที่ทำหน้าที่คัดกรองและปรับสมดุลของน้ำและสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกระแสเลือด มันต้องทำงานอย่างหนักเป็นประจำหากคุณเป็นคนกินเค็มหรือมีปริมาณโซเดียมในเลือดสูงอยู่ตลอดเวลา ในทางกลับการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำก็ไม่ได้ทำให้ผู้ที่มีภาวะความดันเลือดสูงอยู่แล้วสามารถลดความดันเลือดลงมาได้ เนื่องจากภาวะความดันสูงไม่ได้เกิดจากปริมาณของโซเดียมในเลือดสูงกว่าปกติเท่านั้น แต่อาจจะเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น คลอเรสเตอรอลในกระแสเลือด
ท้ายที่สุดแล้วคนเราก็ต้องกลับกลับมาที่เรื่องทางเดินสายกลาง การทำอะไรแต่พอดีคือสิ่งที่ดีสุดแล้ว หากเราไม่ได้กินรสจัด ไม่เค็มจัด ไม่หวานจัด ไม่เผ็ดจัด บางคนอาจจะติดกินอาหารรสจืด นาน ๆ ก็มีหลุดกินรสจัดบ้างให้เป็นสีสันของมื้ออาหาร อาจจะเข้าข่ายกินน้อย ๆ แต่กินได้นาน ๆ ดีกว่า ใช้ชีวิตคุ้มค่าจัดจ้านไปทุกมิติแต่ทุกอย่างหยุดหมดก่อนจะถึงวัยเกษียณเพราะว่าโรครุมเร้าทุกด้าน ต้องกินอาหารคนป่วย นอนเตียงหมอไปยาว ๆ ก็คงจะไม่สนุก