Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

Posted By Plookpedia | 14 มี.ค. 60
8,210 Views

  Favorite

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

      เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเกิดจากการทำความตกลงเพื่อกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนกันหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระกันและด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน การกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนได้กระทำกันในรูปของหนังสือสนธิสัญญาฉบับต่าง ๆ โดยมีประเทศไทยฝ่ายหนึ่งกับประเทศอังกฤษหรือประเทศฝรั่งเศสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคู่สัญญาเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๘ (ค.ศ. ๑๘๖๕) จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖)  จะเห็นได้ว่าการทำหนังสือสัญญาที่ว่าด้วยเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่าร้อยปีมาแล้วโดยได้กระทำกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก คือ อังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาปกครองดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านเป็นอาณานิคมอยู่  ต่อมาเมื่ออาณานิคมเหล่านั้นได้รับอิสรภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดเป็นประเทศเอกราชขึ้น ได้แก่ สหภาพพม่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ได้รับการสืบสิทธิ (succession) ในหนังสือสัญญาว่าด้วยการกำหนดแนวเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศอังกฤษหรือประเทศฝรั่งเศสที่เกี่ยวกับดินแดนหรืออาณาเขตของตนสืบมาจนทุกวันนี้

 

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ

 

๑. เส้นแบ่งเขตแดนทางบกระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา

ก. ภูมิหลังประวัติศาสตร์เกี่ยวกับหนังสือสัญญา และอนุสัญญาของแนวเขตแดนไทย - กัมพูชา
      แนวเขตแดนไทย - กัมพูชามีความเกี่ยวพันกับแนวเขตแดนไทย - ลาว กล่าวคือเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๐ (ค.ศ. ๑๘๖๗) สยาม (ไทย) กับฝรั่งเศสได้ลงนามในหนังสือสัญญาเขตแดนเมืองพระตะบองและได้ให้สัตยาบันกันเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๐ (ค.ศ. ๑๘๖๗) โดยหนังสือสัญญาฉบับนี้ได้ระบุไว้ว่าราชอาณาจักรเขมร (กัมพูชา) อยู่ในอารักขาของฝรั่งเศสและกำหนดให้เมืองพระตะบองและเสียมราฐเป็นดินแดนของไทย  ต่อมาในรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) ๑๐๗ (พ.ศ. ๒๔๓๑ หรือ ค.ศ. ๑๘๘๘) สยามได้เสียดินแดนสิบสองจุไทและหัวพันห้าทั้งหกให้แก่ฝรั่งเศส  ในรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖ หรือ ค.ศ. ๑๘๙๓) ได้มีเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศสและได้มีการทำหนังสือสัญญากับฝรั่งเศสฉบับลงวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ ยกพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ได้แก่ ลาวเกือบทั้งประเทศและกัมพูชาตอนเหนือบางส่วนให้แก่ฝรั่งเศสเนื่องจากพื้นที่ของกัมพูชาส่วนใหญ่อยู่ในอารักขาของฝรั่งเศสมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๐ แล้ว ส่วนฝรั่งเศสได้ส่งทหารหนึ่งกองพันไปยึดจันทบุรีไว้เพื่อเป็นประกันว่าสยามจะไม่บิดพลิ้วข้อเรียกร้อง 
      ถึงแม้ว่าสยามจะได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้วฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมถอนทหารออกจากจันทบุรียังคงยึดจันทบุรีอยู่นานถึง ๑๐ ปีเศษ ดังนั้นเพื่อแลกกับจันทบุรีสยามจึงได้ทำหนังสือสัญญาลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖ หรือ ค.ศ. ๑๙๐๔) ยกพื้นที่ฝั่งขวาบางส่วนของแม่น้ำโขงรวมทั้งอำเภอด่านซ้ายเมืองเลยให้แก่ฝรั่งเศส  หนังสือสัญญาฉบับนี้กำหนดเส้นแบ่งเขตแดนตั้งแต่ทะเล สาบเขมรจากปากคลองสดุงโรลูออสขึ้นไปจนถึงทิวเขาพนมดงรัก หลังจากนั้นได้มีการเจรจาต่อรองกันอีกโดยการทำพิธีสารต่อท้ายเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๗ (ค.ศ. ๑๙๐๔) กำหนดให้ฝรั่ง เศสได้ดินแดนตราดซึ่งห่างจากจันทบุรีประมาณ ๖๐ กิโลเมตร เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ฝรั่งเศสจะต้องถอนทหารและอพยพออกจากจันทบุรี  เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานได้มีการทำหนังสือสัญญากันอีก ๑ ฉบับ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙ หรือ ค.ศ. ๑๙๐๗) มีใจความสำคัญ คือ สยามยอมยกดินแดนเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกเปลี่ยนกับอำเภอด่านซ้ายและตราดรวมทั้งเกาะทั้งหลายที่ตั้งอยู่ใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูด 
     หลังเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๘๔ ไทยได้ทำหนังสือสัญญากับฝรั่งเศสโดยฝรั่งเศสยอมคืนเมืองพระตะบอง ศรีโสภณ และเสียมราฐ ให้แก่ไทย ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงแล้วได้มีการลงนามในข้อตกลงระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยให้ยกเลิกสัญญา พ.ศ. ๒๔๘๔ และให้เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชากลับคืนสู่สถานะเดิมก่อน พ.ศ. ๒๔๘๔

ข. ความยาวและลักษณะโดยสรุปของเส้นแบ่งเขตแดนไทย - กัมพูชา
ความยาวของเส้นแบ่งเขตแดนทางบกระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชามีรวมทั้งสิ้น ๗๙๘ กิโลเมตร ประกอบด้วย
      ๑) เส้นเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของทิวเขาพนมดงรักยาว ๓๖๔ กิโลเมตร ในจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์
      ๒) เส้นเขตแดนตามลำน้ำสายต่าง ๆ ยาว ๒๑๖ กิโลเมตร ในจังหวัดสระแก้วและจังหวัดจันทบุรี
      ๓) เส้นเขตแดนตามแนวเส้นตรงยาว ๕๗ กิโลเมตร ในจังหวัดสระแก้วและจังหวัดจันทบุรี
      ๔) เส้นเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของทิวเขาบรรทัดยาว ๑๖๐ กิโลเมตร ในจังหวัดตราด
      ๕) เส้นเขตแดนตามแนวเส้นตรงยาว ๑ กิโลเมตร ในจังหวัดตราด

 

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ

 

๒. เส้นแบ่งเขตแดนทางบก ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ก. ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับหนังสือสัญญา และอนุสัญญาของแนวเขตแดนไทย - ลาว
เส้นแบ่งเขตแดนไทย - ลาว เกิดขึ้นจากการทำสัญญาว่าด้วยการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศสแบ่งออกได้เป็น ๒ ตอน คือ
(๑) เส้นแบ่งเขตแดนไทย - ลาว บริเวณที่เป็นทิวเขาและลำน้ำสายเล็ก ๆ 
      เริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓) โดยฝรั่งเศสกดดันให้สยาม (ไทย) ต้องยอมทำหนังสือสัญญาลงวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ยกดินแดนฝั่งซ้ายฟากตะวันออกของแม่น้ำโขงรวมทั้งเกาะทุกเกาะในแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส  สัญญานี้ได้ให้สัตยาบันกันเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๖ แต่ฝรั่งเศสกลับส่งทหารหนึ่งกองพันไปยึดจันทบุรีไว้ โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อป้องกันการบิดพลิ้วของไทยและถึงแม้ไทยจะไม่ได้บิดพลิ้วสัญญาเขตแดนดังกล่าวข้างต้นแต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมถอนทหารออกจากจันทบุรีเป็นสาเหตุที่สร้างความกดดันให้ไทย จำต้องยกดินแดนฝั่งขวาบางส่วนของแม่น้ำโขงและอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยให้แก่ฝรั่งเศสอีกดังปรากฏในหนังสือสัญญาฉบับลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๖ (ค.ศ. ๑๙๐๔) 
      ต่อมาฝรั่งเศสได้คืนจันทบุรีให้ไทยแต่กลับไปยึดจังหวัดตราดแทนในระหว่างนั้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม - ฝรั่งเศสขึ้น ทำการปักปันเขตแดนกันโดยแบ่งเจ้าหน้าที่สำรวจปัก ปันเขตแดนออกเป็น ๒ ส่วน คือ
      ส่วนที่ ๑ ทำการสำรวจปักปันเขตแดนไทย - ลาว ตอนบนตั้งแต่แก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ไปตามสันปันน้ำของทิวเขาหลวงพระบางต่อด้วยลำน้ำเหืองจนออกสู่แม่น้ำโขงที่ปากน้ำเหือง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
      ส่วนที่ ๒ ทำการสำรวจปักปันเขตแดนไทย - ลาว ตั้งแต่แม่น้ำโขงตรงปากห้วยดอน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ไปตามสันปันน้ำของทิวเขาพนมดงรักจนกระทั่งถึงเขตต่อระหว่างจังหวัดศรีสะเกษกับจังหวัดสุรินทร์ เส้นแบ่งเขตแดนได้กันเอาพื้นที่ของเมืองเสียมราฐและพระตะบองไว้ในเขตไทยและเส้นแบ่งเขตแดนได้ไปตามเส้นแบ่งเขตจังหวัดจันทบุรีกับจังหวัดตราดออกสู่ทะเลที่ปาก น้ำเวฬุ 

      ในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ (ค.ศ. ๑๙๐๗) สยาม (ไทย) กับฝรั่งเศสได้ทำหนังสือสัญญากันใหม่โดยแลกเปลี่ยนจังหวัดตราดและอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย รวมทั้งอำนาจศาลกับเมืองเสียม ราฐ ศรีโสภณ และพระตะบอง
(๒) เส้นแบ่งเขตแดนไทย - ลาว ตามลำแม่น้ำโขง
      เส้นแบ่งเขตแดนไทย - ลาว ตามลำแม่น้ำโขงเป็นผลสืบเนื่องจากหนังสือสัญญาที่ไทยทำไว้กับฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓) ซึ่งกำหนดให้สยาม (ไทย) สละข้ออ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนฝั่งซ้ายรวมทั้งเกาะทุกเกาะในแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส  ต่อมาได้มีการทำอนุสัญญาฉบับลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ (ค.ศ. ๑๙๒๖) ซึ่งว่าด้วยแม่น้ำโขงโดยเฉพาะอนุสัญญาฉบับนี้กำหนดเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทย - ลาว ในแม่น้ำโขงโดยระบุว่าในตอนที่แม่น้ำโขงไม่แยกออกเป็นหลายสายเพราะมีเกาะตั้งอยู่ให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ส่วนในตอนที่แยกออกเป็นหลายสาย ให้ใช้ร่องน้ำลึกของสายแยกที่ใกล้ฝั่งไทยที่สุดเป็นเส้นแบ่งเขตแดนแม้ภายหลังร่องน้ำลึกดังกล่าวจะตื้นเขินจนเชื่อมเกาะติดกับฝั่งก็ยังคงให้ถือร่องน้ำเดิมที่ตื้นเขินนั้นเป็นเส้นแบ่งเขตแดนตลอดไป หากจะย้ายเส้นแบ่งเขตแดนก็ให้เป็นหน้าที่ของคณะข้าหลวงใหญ่ประจำแม่น้ำโขงเป็นผู้พิจารณาโดยย้ายไปได้เพียงร่องน้ำที่อยู่ใกล้ที่สุดถัดจากร่องน้ำเดิมที่ตื้นเขินเท่านั้น  นอกจากนี้ยังได้ระบุชื่อ เกาะ ๘ เกาะให้เป็นดินแดนของไทยด้วย เช่น ดอนเขียว ดอนเขียวน้อย ดอนน้อย ดอนบ้านแพง  ในพ.ศ. ๒๔๘๔ ไทยได้ทำหนังสือสัญญากับฝรั่งเศสภายหลังการเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสโดยฝรั่งเศสได้คืนดินแดนลาวบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงทั้งหมดให้แก่ไทยแต่สัญญาฉบับนี้ถูกยกเลิกไปในพ.ศ. ๒๔๘๙ ส่งผลให้เส้นแบ่งเขตแดนไทย - ลาว กลับสู่สถานะเดิมก่อน พ.ศ. ๒๔๘๔ เช่นเดียวกับกรณีของเส้นแบ่งเขตแดนไทย - กัมพูชา ที่กล่าวมาแล้ว
ข. ความยาวและลักษณะโดยสรุปของเส้นแบ่งเขตแดนไทย - ลาว
ความยาวของเส้นเขตแดนไทย - ลาว มีรวมกันทั้งสิ้น ๑,๘๑๐ กิโลเมตร ประกอบด้วย
      ๑) เส้นเขตแดนตามร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขง ยาว ๙๗ กิโลเมตร ในจังหวัดเชียงราย
      ๒) เส้นเขตแดนตามสันปันน้ำของทิวเขาหลวงพระบาง ยาว ๕๐๕ กิโลเมตร ในจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก
      ๓) เส้นเขตแดนตามร่องน้ำลึกของแม่น้ำเหืองงา ยาว ๑๙ กิโลเมตร ในจังหวัดพิษณุโลก
      ๔) เส้นเขตแดนตามร่องน้ำลึกของแม่น้ำเหือง ยาว ๑๓๔ กิโลเมตร ในจังหวัดเลย
      ๕) เส้นเขตแดนตามร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขง ยาว ๘๕๘ กิโลเมตร ในจังหวัดเลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยจังหวัดหนองคายมีเส้นเขตแดนในลำน้ำโขงยาวที่สุด คือ ๓๒๙ กิโลเมตร
      ๖) เส้นเขตแดนตามสันปันน้ำของทิวเขาพนมดงรัก ยาว ๑๙๗ กิโลเมตร ในจังหวัดอุบลราชธานี

 

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ

 

๓. เส้นแบ่งเขตแดนทางบกระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า

ก. ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับหนังสือสัญญา และอนุสัญญาของแนวเขตแดนไทย - พม่า
เส้นแบ่งเขตแดนไทย - พม่า ได้กำหนดขึ้นตามหนังสือสัญญาที่ทำระหว่างสยาม (ไทย) กับอังกฤษ โดยแบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือ
(๑) แนวเขตแดนไทย - พม่า ช่วงตอนล่างตั้งแต่สบเมยจนถึงปากน้ำกระบุรี
      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ (ค.ศ. ๑๘๖๕) อังกฤษได้ส่งข้าหลวงใหญ่ประจำอินเดียมาติดต่อกับรัฐบาลสยามเพื่อขอปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับพม่าของอังกฤษและได้มีการจัดตั้งคณะข้าหลวงปักปันเขตแดนร่วมกันขึ้นมา ข้าหลวงปักปันเขตแดนได้ร่วมกันสำรวจและชี้แนวเขตแดนซึ่งกระทำกันในช่วง ๒ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๐๘ - ๒๔๑๐ (ค.ศ. ๑๘๖๕ - ๑๘๖๗) ฝ่ายอังกฤษเป็นผู้จัดทำแผนที่โดยเริ่มตั้งแต่สบเมย (จุดที่แม่น้ำเมยบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน) ลงมาจนถึงปากน้ำกระบุรีซึ่งออกสู่ทะเลที่ปลายแหลมวิกตอเรียหลังจากทำแผนที่แสดงแนวเขต แดนบริเวณนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้วได้มีการทำหลักฐานทางกฎหมายในรูปของอนุสัญญาลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๑ (ค.ศ. ๑๘๖๙)
(๒) แนวเขตแดนไทย - พม่า ช่วงตอนบน ตั้งแต่สบเมยจนถึงสบรวก
      ช่วงนี้เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยได้มีการทำหนังสือสัญญากัลกัตตาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ (ค.ศ. ๑๘๗๔) กำหนดให้ตั้งแต่สบเมยขึ้นไปทางทิศเหนือแม่น้ำสาละวินเป็นแนวเขตแดนระหว่างสยามกับพม่าของอังกฤษโดยมีตัวลำน้ำเป็นกลาง ฝั่งตะวันตกเป็นดินแดนของพม่าและฝั่งตะวันออกเป็นดินแดนของสยามยกเว้นดินแดนส่วนเล็ก ๆ ทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวินที่ยังเป็นของไทยอยู่ คือ เมืองต่วนและเมืองสาดซึ่งไทยก็ต้องยอมยกดินแดนส่วนนี้ให้แก่พม่าของอังกฤษใน พ.ศ. ๒๔๓๕ (ค.ศ.๑๘๙๒)  ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๗๔ (ค.ศ. ๑๙๓๑) ได้มีการแลกเปลี่ยนหนังสือความตกลงว่าด้วยเขตแดนระหว่างพม่า (เชียงตุง) กับสยามให้ใช้แนวร่องน้ำลึกของแม่น้ำสายเป็นแนวเขตแดนแทนที่จะใช้แนวกึ่งกลางลำน้ำตามที่กำหนดไว้แต่เดิมและในเดือนธันวาคม   พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้มีการแลกเปลี่ยนบันทึกให้ใช้หลักเกณฑ์แนวร่องน้ำลึกเป็นแนวเขตแดนขยายออกไปถึงแม่น้ำรวกด้วยเช่นกัน
ข. ความยาวและลักษณะโดยสรุปของเส้นแบ่งเขตแดนไทย - พม่า
ความยาวของเส้นเขตแดนไทย - พม่า มีทั้งสิ้น ๒,๔๐๑ กิโลเมตร ประกอบด้วย
      ๑) เส้นเขตแดนตามลำน้ำโดยใช้ร่องน้ำลึกของแม่น้ำรวกและแม่น้ำสาย รวมยาว ๕๙ กิโลเมตร ในจังหวัดเชียงราย
      ๒) เส้นเขตแดนตามสันปันน้ำของทิวเขาแดนลาว ทิวเขาถนนธงชัยเหนือ และทิวเขาถนนธงชัยตะวันตก รวมยาว ๖๓๒ กิโลเมตร ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน
      ๓) เส้นเขตแดนตามแนว ๒ ฝั่งของแม่น้ำสาละวิน ยาว ๑๒๗ กิโลเมตร ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
      ๔) เส้นเขตแดนตามแนว ๒ ฝั่งของแม่น้ำเมย ยาว ๓๔๕ กิโลเมตรและแนว ๒ ฝั่งของห้วยวาเลย์ ยาว ๔๔ กิโลเมตร ในจังหวัดตาก
      ๕) เส้นเขตแดนตามสันปันน้ำของทิวเขาถนนธงชัยกลาง ยาว ๑๒๗ กิโลเมตรและเป็นเส้นตรง ยาว ๖๓ กิโลเมตร ในจังหวัดตากและจังหวัดกาญจนบุรี
      ๖) เส้นเขตแดนตามสันปันน้ำของทิวเขาตะนาวศรี ยาว ๘๖๕ กิโลเมตร ในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง
     ๗) เส้นเขตแดนในแนวร่องน้ำลึกของคลองกระและแม่น้ำกระบุรี รวมยาว ๑๓๙ กิโลเมตร ในจังหวัดระนอง

 

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ

 

๔. เส้นแบ่งเขตแดนทางบกระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย

ก. ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับหนังสือสัญญา และอนุสัญญาของแนวเขตแดนไทย - มาเลเซีย
      แนวเขตแดนไทย - มาเลเซีย มีที่มาจากการที่อังกฤษได้แผ่อิทธิพลทางการเมืองเข้าไปในคาบสมุทรมลายูโดยมีดินแดนตอนบนของมลายูที่เป็นประเทศราชของสยาม ได้แก่ เมืองปะหัง เประ ไทรบุรี ตรังกานู กลันตัน และปะลิส ต่อมาอังกฤษได้เข้ายึดเมืองปะหังและเประ ฝ่ายสยามเห็นว่าอังกฤษได้เริ่มคุกคามยึดเอาหัวเมืองประเทศราชของไทยไปแล้ว ๒ แห่งและเกรงว่าอังกฤษจะไม่หยุดยั้งเพียงเท่านั้น ดังนั้นในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๒ (ค.ศ. ๑๘๙๙) กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการเสนาบดีว่าการต่างประเทศในรัชกาลที่ ๕ จึงได้เชิญนายจอร์จ เกรวิลล์ (George Greville) อัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงสยามมาประชุมทำหนังสือสัญญาเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษในคาบสมุทรมลายูเกี่ยวกับการกำหนดแนวเขตแดนระหว่างเมืองรามัน (จังหวัดยะลา) ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานูซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายสยามกับเมืองเประและปะหังที่อังกฤษได้ยึดไว้ก่อนแล้ว 
      ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ (ค.ศ. ๑๙๐๙) ได้มีการทำหนังสือสัญญาระหว่างสยามกับอังกฤษโดยสยามยอมยกดินแดนเมืองกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส ตลอดจนเกาะที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงเมืองเหล่านี้ให้แก่อังกฤษเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจศาลของสยามที่จะใช้บังคับแก่คนในบังคับอังกฤษที่พำนักอาศัยอยู่ในสยามและมีหนังสือสัญญาว่าด้วยเขตแดนแนบท้ายหนังสือสัญญาดังกล่าวโดยได้กำหนดแนวเขตแดนระหว่างสยามกับมลายูของอังกฤษไว้ว่า "เขตแดนเริ่มต้นตั้งแต่ฝั่งเหนือของปากแม่น้ำปะลิสต่อไปทางทิศเหนือจนถึงสันเขาที่ปันน้ำตกแม่น้ำปะลิสฝ่ายหนึ่งกับแม่น้ำปูโยอีกฝ่ายหนึ่งต่อไปตามสันเขานี้จนถึงยอดเขาเยลีหรือต้นน้ำโกลกจากนั้นก็ใช้ร่องน้ำลึกของแม่น้ำโกลกเป็นเขตแดนจนออกสู่ทะเลที่ตำบลปากน้ำตะใบหรือตาบา (Kuala Tabar)"  หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนอังกฤษ - สยาม (Anglo - Siamese Boundary Demarcation Commission) เพื่อปักปันเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสยามกับมลายูของอังกฤษช่วง พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๔๕๕ (ค.ศ. ๑๙๑๐ - ๑๙๑๒) คณะกรรมการปักปันเขตแดนดังกล่าวได้ร่วมกันปักปันเขตแดนและปักหลักเขตแดนรวม ๗๒ หลักและหลักเสริมอีก ๓๕ หลัก รวมเป็นหลักเขตแดนทั้งหมด ๑๐๗ หลัก ทั้งได้จัดทำแผนที่มาตราส่วน ๑ : ๑๐๐,๐๐๐ และ ๑ : ๒๕๐,๐๐๐ แสดงตำแหน่งของหลักเขตแดนทั้ง ๑๐๗ หลักไว้ด้วย 
      ต่อมาในพ.ศ. ๒๕๑๓ (ค.ศ. ๑๙๗๐) นายกรัฐมนตรีของไทยและของมาเลเซียได้เห็นชอบร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำหลักเขตแดนร่วมระหว่างไทย - มาเลเซีย เพื่อดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนเสริมหลักเขตแดนที่สยามกับอังกฤษได้เคยปักปันและปักหลักเขตแดนไว้แต่เดิมจำนวน ๑๐๗ หลัก  ดังได้กล่าวแล้วในข้างต้นเพื่อให้เห็นเส้นแบ่งเขตแดนเด่นชัดยิ่งขึ้นคณะกรรมการได้เริ่มงานตั้งแต่วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ และเสร็จสิ้นภารกิจเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้จัดทำหลักเขตแดนได้รวมทั้งสิ้น ๑๒,๑๖๙ หลัก เป็นระยะทาง ๕๕๑.๕ กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๘๗ ของเส้นแบ่งเขตแดนทางบกคงค้างไว้ ๒ พื้นที่ คือ พื้นที่จากหลักที่ ๖๙ - ๗๒ และพื้นที่แนวเขตแดนตามลำน้ำโกลกเนื่องจากยังมีปัญหาขัดแย้งที่ยังตกลงกันไม่ได้
ข. ความยาวและลักษณะโดยสรุปของเส้นแบ่งเขตแดนไทย - มาเลเซีย
ความยาวของเส้นแบ่งเขตแดนทางบกระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียมีรวมทั้งสิ้น ๖๔๗ กิโลเมตร ประกอบด้วย
      ๑) เส้นเขตแดนตามสันปันน้ำของทิวเขาสันกาลาคีรี ยาวประมาณ ๕๕๒ กิโลเมตร ในจังหวัดสตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส
      ๒) เส้นเขตแดนตามแนวร่องน้ำลึกของแม่น้ำโก - ลก จนถึงปากแม่น้ำ ยาว ๙๕ กิโลเมตร ในจังหวัดนราธิวาส

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow