Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แนวความคิดเกี่ยวกับการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ

Posted By Plookpedia | 26 พ.ค. 60
3,841 Views

  Favorite

แนวความคิดเกี่ยวกับการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ

มีแนวความคิดหลักอยู่ ๒ ประการ คือ การใช้เส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ และการใช้เส้นแบ่งเขตแดนที่สร้างขึ้น

๑. การใช้เส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ (Natural Boundary Line)

      แนวความคิดนี้ได้ยึดเอาสิ่งที่เป็นสภาพธรรมชาติทางกายภาพที่เด่นและมองเห็นได้ชัดอย่างเป็นรูปธรรมมาใช้เป็นหลักในการแบ่งเส้นเขตแดน อาทิ ภูเขา หรือทิวเขา แม่น้ำ อ่าว ทะเลสาบ ทะเลทราย ช่องแคบ ป่าไม้ และหนองบึง ทั้งนี้เพราะในสมัยก่อนสภาพธรรมชาติดังกล่าวมักจะถือเป็นสิ่งกีดขวางตามธรรมชาติซึ่งก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการไปมาหาสู่กันระหว่างกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณ ๒ ด้าน ของสภาพธรรมชาตินั้น ๆ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสภาพธรรมชาติจะมิได้เป็นอุปสรรคกีดขวางการเดินทางติดต่อระหว่างกลุ่มชนต่าง ๆ มากนักแต่การใช้สภาพธรรมชาติเป็นเส้นแบ่งเขต แดนระหว่างประเทศก็ยังคงมีอยู่อย่างแพร่หลายโดยมีหลักการสำคัญดังนี้
การใช้ภูเขาหรือทิวเขา
      ภูเขาหรือทิวเขาเป็นสภาพธรรมชาติที่มองเห็นได้ชัดเจนอีกทั้งยังเป็นอุปสรรคกีดขวางการเดินทางติดต่อระหว่างกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ ๒ ด้านของภูเขาหรือทิวเขานั้น ดังนั้นจึงนิยมใช้ภูเขาหรือทิวเขาเป็นแนวแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศแต่มีปัญหาว่าจะกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนให้ชัดเจนได้อย่างไรเนื่องจากภูเขาและทิวเขามักครอบคลุมอาณาบริเวณค่อนข้างกว้างขวางที่นิยมใช้กันมาก คือ เส้นสันปันน้ำ (Watershed line หรือ Water dividing line) ซึ่งเป็นเส้นสมมติที่ลากเชื่อมจุดต่าง ๆ บนสันเขาซึ่งแบ่งน้ำที่อยู่แต่ละด้านของสันเขาให้ไหลในทิศทางตรงข้ามกันไปสู่แม่น้ำลำธารในกรณีที่มีสันเขาแยกออกเป็นหลายสันจะยึดถือสันเขาที่มีความต่อเนื่องมากที่สุดเป็นแนวของสันปันน้ำนั่นคือสันเขาที่สูงที่สุดไม่จำเป็นต้องเป็นสันปันน้ำเสมอไปแต่สันเขาที่สูงและมีความต่อเนื่องมากที่สุดมัก ได้รับการพิจารณาให้เป็นสันปันน้ำ

 

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
เส้นแบ่งเขตแดนโดยใช้สันปันน้ำ

 

การใช้แม่น้ำ
การกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนในแม่น้ำมีวิธีกำหนดได้หลายวิธีสุดแล้วแต่ประเทศคู่สัญญาจะใช้วิธีใดแต่วิธีที่ใช้กันมากมี ๕ วิธี ดังนี้
      (๑) การกำหนดให้ใช้ฝั่งทั้งสองของแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนตามวิธีนี้แม่น้ำจะเป็นกรรมสิทธิ์หรือเขตอธิปไตยร่วม (Joint Sovereignty) ของทั้ง ๒ ประเทศ ตัวอย่างเช่น แม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวินซึ่งกำหนดให้ฝั่งทั้งสองเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่าโดยฝั่งตะวันออกเป็นของไทยฝั่งตะวันตกเป็นของพม่า
      (๒) การกำหนดให้ใช้แนวกึ่งกลางหรือเส้นมัธยะ (Median Line) ของแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนเส้นกึ่งกลางหรือเส้นมัธยะนี้ หมายถึง เส้นที่ลากไปตามแนวกึ่งกลางความกว้างของลำน้ำในระดับน้ำเฉลี่ยแบ่งลำน้ำออกเป็น ๒ ส่วนเท่า ๆ กัน ซึ่งการใช้เส้นกึ่งกลางหรือเส้นมัธยะในการแบ่งเส้นเขตแดนกันนี้นับว่าให้ความเท่าเทียมกันในการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำแก่รัฐบนชายฝั่งทั้งสองของแม่ น้ำจึงมีความนิยมใช้แนวดังกล่าวในการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่แม่น้ำนั้น ๆ เป็นแม่น้ำตื้นหรือมีขนาดเล็กที่ใช้เดินเรือไม่ได้ (Non-navigable River)
      (๓) การกำหนดให้ใช้แนวร่องน้ำลึก (Thalweg) เป็นเส้นแบ่งเขตแดนนิยมใช้ในแม่น้ำขนาดใหญ่ที่ใช้เดินเรือได้ (Navigable River) เพื่อเป็นหลักในสิทธิอันชอบธรรมที่เท่าเทียมกันของรัฐชายฝั่งทั้งสองของแม่น้ำทั้งในการใช้น้ำและสิทธิเสรีภาพในการเดินเรือ 
      (๔) การกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนโดยคำนึงถึงสภาพธรรมชาติของแม่น้ำในกรณีที่แม่น้ำมี ๒ ร่องน้ำ ในตอนใดตอนหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณปากแม่น้ำอาจกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนกันโดยให้แต่ละรัฐเป็นเจ้าของและเดินเรือในร่องน้ำของตนเองเส้นแบ่งเขตแดนแบบนี้จึงกำหนดขึ้นโดยให้อยู่ระหว่างร่องน้ำทั้งสอง
      (๕) การกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนโดยใช้หลักต่างกันแต่ละช่วงของลำน้ำวิธีนี้มีหลักอยู่ว่าการจะใช้หรือกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนแบบใดกับแม่น้ำเพื่อแบ่งอาณาเขตหรือดินแดนระหว่างรัฐนั้นจะต้องพิจารณาสภาพโดยธรรมชาติของแม่น้ำนั้นเป็นช่วง ๆ ว่า จะเหมาะสมกับการใช้วิธีใดอาจใช้หลายวิธีผสมผสานกันในแม่น้ำสายนั้นก็ได้

 

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
แผนที่การปักปันเขตแดนตามแม่น้ำโขงจัดทำขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๑ - ๒๔๗๒ แสดงเส้นแบ่งเขตแดนไทย - ลาว โดยใช้ร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขงเป็นแนวแบ่ง
ยกเว้นในกรณีที่มีเกาะหรือดอนตั้งอยู่ในลำน้ำก็ให้ถือเอาร่องน้ำลึกที่อยู่ใกล้ฝั่งไทยมากที่สุดเป็นแนวแบ่ง

 

๒. การใช้เส้นแบ่งเขตแดนที่สร้างขึ้น (Artificial Boundary Line)

      คือ ใช้สิ่งที่มนุษย์สร้างหรือจัดทำขึ้นโดยไม่อาศัยสภาพธรรมชาติ เช่น สร้างกำแพง รั้ว สะพาน ถนน อนุสาวรีย์ หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ นิยมใช้ในการแบ่งเส้นเขตแดนบริเวณที่ราบทุ่งโล่งหรือไม่มีสภาพธรรมชาติที่เด่น ๆ อย่างอื่นปรากฏอยู่จำเป็นต้องสร้างหรือจัดทำสิ่งที่จะบ่งบอกแนวเขตแดนให้มองเห็นได้ชัดเจนเพื่อจะได้ไม่เกิดกรณีรุกล้ำดินแดนกันขึ้น ในการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนแบบที่ไม่อาศัยสภาพธรรมชาติมีวิธีการต่าง ๆ ที่สำคัญดังนี้
      (๑) เส้นแบ่งเขตแดนทางเรขาคณิต (Geometric Boundary Line) เป็นแนวเขตแดนที่อาศัยหลักเกณฑ์ทางเรขาคณิตกำหนดแนวขึ้น เช่น ใช้แนวละติจูดหรือลองจิจูดหรือตามส่วนโค้งของเส้นเมริเดียนและเส้นขนานละติจูดหรือใช้เส้นตรงที่ลากเชื่อมระหว่างจุด ๒ จุด แนวเขตแดนตามหลักเกณฑ์ทางเรขาคณิตนี้เป็นเพียงแนวสมมติไม่อาจมองเห็นได้ในพื้นที่หรือในภูมิประเทศของเขตแดนนั้น ๆ เว้นแต่จะได้มีการปักปันเขตแดนหรือปักหลักเขตแดนกันแล้วเท่านั้น ตัวอย่างที่สำคัญของเส้นแบ่งเขตแดนชนิดนี้เห็นได้จากแนวเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดาซึ่งใช้เส้นขนานละติจูดที่ ๔๙ องศาเหนือเป็นแนวแบ่งตั้งแต่ประมาณลองจิจูด ๙๕ องศาตะวันตก จนถึงชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นระยะทางยาวประมาณ ๒,๑๐๐ กิโลเมตร
      (๒) เส้นแบ่งเขตแดนทางพันธุศาสตร์ (Genetic Boundary Line) เป็นการแบ่งแนวเขตแดนโดยยึดเอาหลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม ศาสนา และภาษา เป็นตัวกำหนดทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่มีวัฒนธรรมและประเพณีอย่างเดียวกันสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติบางครั้งเรียกว่า แนวเขตแดนเชิงวัฒนธรรม (Cultural Boundary)
      (๓) เส้นแบ่งเขตแดนทางมานุษยวิทยา - ภูมิศาสตร์ (Anthropo - Geographic Boundary Line) เป็นแนวความคิดที่คำนึงถึงองค์ประกอบทั้งในทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และสภาพภูมิประเทศ นำมาประกอบกันในการที่จะกำหนดแนวหรือเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศแต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือตามแนวความคิดนี้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์จึงไม่นิยมนำมาใช้กันมากนัก

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow