Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ

Posted By Plookpedia | 10 พ.ค. 60
37,727 Views

  Favorite

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ

      เด็ก ๆ เคยสังเกตหรือไม่ว่าบนที่ดินซึ่งแสดงกรรมสิทธิ์ของแต่ละบ้านนั้นมีหมุดหลักเขตที่ดินซึ่งทำด้วยซีเมนต์หล่อเป็นแท่งกลมเล็ก ๆ ปักโผล่เหนือพื้นดินขึ้นมาเล็กน้อยเป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่าอาณาเขตที่ดินของแต่ละบ้านไปสิ้นสุดลง ณ ที่ใด นอกจากหมุดหลักเขตที่ดินแล้วยังมีเอกสารที่เรียกว่าโฉนดที่ดินซึ่งออกให้โดยทางราชการแสดงที่ตั้งและแผนผังของที่ดินรวมทั้งชื่อผู้เป็นเจ้าของที่ดินผืนนั้น ๆ ด้วย  ประเทศก็เช่นเดียวกับบ้านย่อมต้องมีหลักฐานบอกว่าอาณาเขตของแต่ละประเทศไปสิ้นสุดลง ณ ที่ใดและแบ่งเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร หลักฐานที่ว่านี้รวมถึงเอก สารสัญญาระหว่างประเทศ แผนที่แสดงอาณาเขตและหลักเขตแดนที่ปักไว้บนพื้นดินตามจุดต่าง ๆ

 

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ


      ในกรณีที่เป็นอาณาเขตบนพื้นดินส่วนมากการแบ่งดินแดนกันอาศัยลักษณะภูมิประเทศที่เห็นได้เด่นชัดเป็นแนวแบ่ง เช่น ทิวเขา แม่น้ำ ทะเลสาบ นอกจากจะเห็นได้ชัดเจนแล้วลักษณะภูมิ     ประเทศเช่นนี้ในสมัยก่อนยังเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางไปมาของผู้คนด้วยโดยต้องเดินทางข้ามภูเขาหรือข้ามแม่น้ำซึ่งไม่สะดวกเหมือนกับการเดินทางบนพื้นดินราบ เส้นแบ่งเขตแดนที่อาศัยลักษณะภูมิประเทศเป็นแนวแบ่งนี้เรียกว่า เส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ ส่วนเส้นแบ่งเขตแดนที่ไม่ได้อาศัยลักษณะภูมิประเทศเป็นแนวแบ่งเรียกว่า เส้นแบ่งเขตแดนที่สร้างขึ้น โดยอาจสร้างเป็นรั้วกั้นหรือปักหลักเขตแดนไว้บนพื้นดินเป็นแนวเส้นตรงห่างจากกันเป็นระยะ ๆ  

 

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ

 

      ประเทศไทยมีเส้นแบ่งเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านรวม ๔ ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย เส้นแบ่งเขตแดนส่วนใหญ่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ คือ ใช้ทิวเขาและแม่น้ำเป็นแนวแบ่งมีเพียงบางตอนที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนแบบเป็นเส้นตรงเชื่อมระหว่างจุดต่าง ๆ  นอกจากจะมีดินแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทางบกแล้วประเทศไทยยังมีอาณาเขตติดต่อกับฝั่งทะเล ทั้งทางด้านอ่าวไทยและทางด้านทะเลอันดามันมีจังหวัดที่อยู่ติดต่อกับฝั่งทะเลรวมทั้งหมด ๒๓ จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้  ในสมัยก่อนดินแดนของประเทศต่าง ๆ ที่มีฝั่งทะเลถือว่าสิ้นสุดลงที่ชายฝั่งยกเว้นมีเกาะตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งก็ให้ถือเป็นดินแดนของประเทศนั้น ๆ ด้วย ส่วนน่านน้ำในทะเลทั้งหมดถือเป็นของส่วนรวมไม่เป็นของประเทศหนึ่งประเทศใดโดยเฉพาะ ต่อมา ได้มีการทำความตกลงระหว่างประเทศเรียกว่า กฎหมายทะเล ซึ่งอนุญาตให้ประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับฝั่งทะเลมีสิทธิควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์จากบางส่วนของทะเลได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นเส้นแบ่งเขตแดนของประเทศไทยในปัจจุบันจึงมีทั้งที่อยู่บนบกและที่อยู่ในทะเลด้วย

 

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ

 

 

 

 

      ประเทศต่าง ๆ ที่มีดินแดนติดต่อกันย่อมต้องมีเส้นแบ่งเขตแดนกำหนดไว้ชัดเจนเพื่อให้รู้ว่าอาณาเขตของแต่ละประเทศไปสิ้นสุดลง ณ ที่ใด ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการรุกล้ำดินแดนซึ่งกันและกัน ในสมัยโบราณการแบ่งเขตดินแดนกระทำกันอย่างคร่าว ๆ โดยถือว่าดินแดนที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศหรืออาณาจักรใด อาณาเขตของประเทศหรืออาณาจักรที่เป็นผู้ปกครองก็จะครอบ คลุมไปถึงดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองนั้นโดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามีแนวเส้นแบ่งเขตแดนอยู่ ณ ที่ใด ตัวอย่างเช่น ดินแดนของอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรอยุธยา ไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่า มีเส้นแบ่งเขตแดนกับประเทศหรืออาณาจักรอื่น ๆ อยู่ ณ ที่ใด 

 

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
ภาพจากดาวเทียม IKONOS เชื่อมต่อกับภาพจากดาวเทียม SPOT5 แสดงแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดนประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่จังหวัดเชียงราย


      แนวความคิดเกี่ยวกับการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนเริ่มมีขึ้นในสมัยที่ชาวยุโรปเดินเรือไปแสวงหาอาณานิคมในทวีปต่าง ๆ ได้มีการทำสงคราม  การทำความตกลงระหว่างชาวยุโรปด้วยกันเอง หรือกับชาวพื้นเมืองเพื่อแบ่งปันดินแดนที่ชาวยุโรปเข้าไปปกครองเป็นอาณานิคมของตน ประเทศไทยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ต่อเนื่องมาถึงในรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ถึงแม้ ว่าไทยจะเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้ได้แต่ไทยก็ต้องยอมเสียดินแดนกัมพูชาและลาวให้แก่ฝรั่งเศสและเสียดินแดนตอนบนของคาบ สมุทรมลายูให้แก่อังกฤษ  พร้อมกันนั้นก็มีการทำสนธิสัญญากำหนดแนวเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและอังกฤษดังกล่าว  ในระยะเวลาต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเส้นแบ่งเขตแดนกันอีกหลายครั้งแต่สาระสำคัญของเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านยังคงเป็นไปตามสนธิสัญญาที่ไทยทำไว้กับฝรั่งเศสและอังกฤษเมื่อครั้งทั้ง ๒ ประเทศยังปกครองดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านเป็นอาณานิคมของตน 

เส้นแบ่งเขตแดน โดยทั่วไปแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ เส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ และเส้นแบ่งเขตแดนที่สร้างขึ้น 
      เส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ หมายถึง เส้นแบ่งเขตแดนที่อาศัยลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัดเป็นแนวแบ่ง เช่น ทิวเขา ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเลสาบ ทะเลทราย

      เส้นแบ่งเขตแดนที่สร้างขึ้น หมายถึง เส้นแบ่งเขตแดนที่กำหนดขึ้นโดยไม่ได้อาศัยลักษณะภูมิประเทศ เช่น อาจเป็นเส้นตรงเชื่อม ๒ จุด หรือใช้แนวเส้นละติจูดและลองจิจูดเป็นแนวแบ่งหรือใช้ความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นแนวแบ่ง 
      เส้นแบ่งเขตแดนของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติโดยอาศัยทิวเขาและแม่น้ำเป็นแนวแบ่ง แต่ก็มีเส้นแบ่งเขตแดนแบบเป็นเส้นตรงอยู่ในพื้นที่บางแห่งรวมความยาวของเส้นแบ่งเขตแดนทั้งหมด ๕,๖๕๕ กิโลเมตร ประเทศที่มีเส้นแบ่งเขตแดนกับประเทศไทยยาวมากที่สุด คือ พม่า ยาว ๒,๔๐๑ กิโลเมตร ส่วนประเทศที่มีเส้นแบ่งเขตแดนกับประเทศไทยสั้นที่สุด คือ มาเลเซีย ยาวเพียง ๖๔๖ กิโลเมตร

 

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
ภาพถ่ายจากดาวเทียม LANDSAT5 บันทึกข้อมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ แสดงบริเวณทิวเขาหลวงพระบาง ซึ่งแบ่งเขตแดนระหว่างไทย - ลาว


      การใช้ทิวเขาเป็นเส้นแบ่งเขตแดนส่วนใหญ่จะใช้สันปันน้ำเป็นแนวแบ่ง สันปันน้ำ คือ แนวของสันเขาที่แบ่งน้ำให้ไหลแยกออกจากกันไปในทิศทางตรงกันข้าม ส่วนการใช้แม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนอาจใช้ร่องน้ำลึกหรือเส้นแบ่งกึ่งกลางลำน้ำหรือฝั่ง ๒ ข้าง ของลำน้ำแล้วแต่จะตกลงกัน  ทิวเขาที่ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนของประเทศไทย ได้แก่  ทิวเขาแดนลาว ทิวเขาถนนธงชัยเหนือ   ทิวเขาถนนธงชัยตะวันตก และทิวเขาตะนาวศรีซึ่งแบ่งเขตแดนไทยกับพม่า ทิวเขาหลวงพระบางแบ่งเขตแดนไทยกับลาว ทิวเขาพนมดงรักและทิวเขาบรรทัดแบ่งเขตแดนไทยกับกัมพูชา และทิวเขาสันกาลาคีรีแบ่งเขตแดนไทยกับมาเลเซีย 
      แม่น้ำที่ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนของประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น แม่น้ำสาย แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำเมย แม่น้ำกระบุรีซึ่งแบ่งเขตแดนไทยกับพม่า แม่น้ำเหืองและแม่น้ำโขงแบ่งเขตแดนไทยกับลาว แม่น้ำโก-ลกแบ่งเขตแดนไทยกับมาเลเซีย 

 

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
แม่น้ำโก-ลก แบ่งเขตแดนไทยกับมาเลเซีย ในเขตจัวหวัดนราธิวาส
เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
ชายฝั่งทะเลเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ภาพจากดาวเทียม SPOT5
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


      นอกจากเส้นแบ่งเขตแดนทางบกกับประเทศเพื่อนบ้านประเทศไทยยังมีอาณาเขตบางส่วนในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ อยู่ติดต่อกับฝั่งทะเลทั้งทางด้านอ่าวไทยและทางด้านทะเลอันดามันรวมความยาวของฝั่งทะเลทั้งหมด ๓,๑๐๓ กิโลเมตร จังหวัดที่มีฝั่งทะเลยาวที่สุด คือ พังงา ยาว ๒๖๒.๕ กิโลเมตร ส่วนจังหวัดที่มีฝั่งทะเลสั้นที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร ยาวเพียง ๓.๕ กิโลเมตร อยู่ที่เขตบางขุนเทียน

      การมีดินแดนบางส่วนอยู่ติดต่อกับฝั่งทะเลทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากกฎหมายทะเลซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยกฎหมายนั้นได้แบ่งน่านน้ำของทะเลต่าง ๆ ออกเป็น ๖ ส่วน ประกอบด้วยน่านน้ำภายในทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่องไหล่ทวีป เขตเศรษฐกิจจำเพาะ และทะเลหลวง ประเทศที่มีชายฝั่งทะเลมีสิทธิควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของทะเลได้มากน้อยตามกฎหมายที่กำหนดไว้ยกเว้นทะเลหลวงซึ่งเปิดเสรีให้ทุกประเทศใช้ประโยชน์ได้เท่าเทียมกัน การมีกฎหมายทะเลทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ในการขยายดินแดนของประเทศซึ่งเดิมมีเฉพาะบนบกให้ยาวต่อออกไปในทะเลด้วย   เนื่องจากในทะเลที่อยู่ห่างจากฝั่งออกไปมีแต่พื้นน้ำเวิ้งว้างไม่มีลักษณะภูมิประเทศที่สังเกตได้เด่นชัด ดังนั้นเส้นแบ่งอาณาเขตในทะเลจึงใช้วิธีลากเส้นตรงเชื่อมจุดต่าง ๆ เข้าด้วยกันโดยแต่ละจุดกำหนดที่ตั้งด้วยการวัดเป็นองศาละติจูดและลองจิจูดบนพื้นผิวโลกหรือเป็นมุมวัดจากแนวชายฝั่งออกไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow