Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

8 แหล่งพลังงานสำคัญของโลก

Posted By sanomaru | 29 ส.ค. 60
206,291 Views

  Favorite

ในชีวิตประจำวันของเราจำเป็นต้องใช้พลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือการใช้พลังงานเชื้อเพลิงสำหรับยวดยานพาหนะในการเดินทาง แล้วพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานเชื้อเพลิงเหล่านั้นมาจากไหนบ้าง และหากเราใช้ไปเรื่อย ๆ พลังงานเหล่านั้นจะมีวันหมดสิ้นไปหรือไม่

 

ประเภทของพลังงาน

พลังงานที่คนเราใช้กันอยู่ในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
 

1. พลังงานสิ้นเปลืองหรือพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป (Non renewable energy) พลังงานชนิดนี้ได้มาจากแหล่งพลังงานใต้พื้นที่ที่มีการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์มาเป็นเวลานานหรือฟอสซิล ไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ในเวลาอันสั้น ตัวอย่างแหล่งที่มาของพลังงานชนิดนี้ เช่น น้ำมันดิบ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ


2. พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) เป็นพลังงานที่ได้มาจากธรรมชาติรอบตัว สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ตัวอย่างแหล่งที่มาของพลังงานชนิดนี้ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล

ภาพ : Shutterstock

แหล่งพลังงานสำคัญของโลก

1. พลังงานจากแสงอาทิตย์

ดวงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ มันแผ่รังสีความร้อนและแสงของมันมายังโลกโดยใช้เวลามากกว่า 8 นาทีในการเดินทาง พืชใช้แสงอาทิตย์นี้ในกระบวนการผลิตอาหารของพืช ส่วนมนุษย์สามารถนำแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่าแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะเปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นกระแสไฟฟ้าและนำไปเก็บไว้ในแบตเตอรี ก่อนจะนำไปใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบของพลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวันได้

 

พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีให้ใช้อย่างมากมาย และเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ข้อจำกัดของการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ก็คือ ราคาของแผงโซลาร์เซลล์ที่ปัจจุบันยังมีราคาแพงอยู่ นอกจากนี้ในวันที่มีเมฆมากเราก็ยังไม่สามารถผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์นี้ได้อีกด้วย และด้วยเหตุนี้ฟาร์มโซลาร์เซลล์หรือฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่จึงมักอยู่ในเขตทะเลทราย

 

2. พลังงานจากน้ำ

พลังงานจากน้ำในเขื่อน ไฟฟ้าพลังน้ำผลิตจากน้ำในเขื่อน โดยการเปิดให้น้ำจากเขื่อนซึ่งอยู่ในที่สูงไหลผ่านอุโมงเทอร์บาย (Turbine) หรือกังหันน้ำ เพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ซึ่งการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำนี้ไม่มีก๊าซอันตรายเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ก็ทำให้สิ่งแวดล้อมหรือป่าไม้ในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไป

 

 

พลังงานจากคลื่น พลังงานชนิดนี้ถูกผลิตขึ้นจากคลื่นในทะเลด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า ชุดผลิตพลังไฟฟ้าจากพลังงานคลื่น ซึ่งมีลักษณะเหมือนทุ่นที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ พลังงานจากคลื่นนี้เป็นพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดก๊าซที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหรือชั้นบรรยากาศ อย่างไรก็ตาม ในการผลิตพลังงานจากคลื่นอาจมีผลต่อระบบนิเวศในทะเล และรบกวนการเดินเรือได้

 

พลังงานจากปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง ในแต่ละวันจะเกิดน้ำขึ้นน้ำลง 2 ครั้ง ซึ่ง Generator หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะเป็นอุปกรณ์ที่เปลี่ยนพลังงานจลน์จากการไหลขึ้น-ลงของน้ำ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยปราศจากก๊าซที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหรือชั้นบรรยากาศ สำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงนี้นิยมใช้กันในพื้นที่ชายฝั่งทะเล

 

3.  พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

แหล่งพลังงานที่เราคุ้นเคยกันดีในปัจจุบัน ก็คือ พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้แล้วมีวันหมดไป นอกจากนี้พลังงานจากถ่านหินและน้ำมันดิบก็ยังก่อให้เกิดก๊าซที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจกด้วย

 

 

สำหรับถ่านหิน มี 4 ชนิด ได้แก่
- พีต (Peat) เป็นถ่านหินที่อยู่ตื้นที่สุด มีปริมาณคาร์บอนเป็นส่วนประกอบอยู่ 60% ลักษณะของถ่านหินชนิดนี้ยังมีซากพืชให้เห็นเป็นโครงสร้างอยู่
- ลิกไนต์ (Lignite) เป็นถ่านหินที่มีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบอยู่ 55-60% นอกจากนี้ยังมีกำมะถันและความชื้นสูง แต่มีคุณภาพต่ำ มักใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงงานไฟฟ้า
- บิทูมินัส (Bituminous) เป็นถ่านหินสีดำสนิท เป็นมันวาว มีคุณภาพสูง ให้ค่าความร้อนสูงกว่าพีตและลิกไนต์เมื่อเผาไหม้ เนื่องจากมีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบอยู่ถึง 80-90% มีธาตุกำมะถันต่ำ ใช้ในการถลุงโลหะหรือผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีถ่านหินประเภทซับบิทูมินัส(Sub-Bituminous) ซึ่งอยู่ระหว่างชั้นของลิกไนต์และบิทูมินัส โดยมีคุณภาพอยู่ระหว่างลิกไนต์และบิทูมินัส
- แอนทราไซต์ (Anthracite) เป็นถ่านหินที่มีคุณภาพดีที่สุด เนื่องจากอยู่ชั้นลึกที่สุดจึงถูกแรงกดดันและความร้อนใต้ผิวโลกอัดจนทำให้เหลือแต่คาร์บอน โดยมีปริมาณคาร์บอนเป็นส่วนประกอบอยู่ถึง 90% ขึ้นไป มีความชื้นต่ำ ให้ค่าความร้อนสูง สำหรับในประเทศไทยยังไม่พบถ่านหินแอนทราไซต์ แต่จะพบเซมิแอนทราไซต์ซึ่งมีคุณภาพอยู่ระหว่างบิทูมินัสกับแอนทราไซต์

 

นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เรียกว่า Fracking ด้วย เป็นเทคนิคที่ใช้การฉีดน้ำใส่หินดินดานเพื่อให้หินแตกออก ซึ่งจะทำให้มันปล่อยก๊าซรวมถึงน้ำมันดิบภายในออกมา แต่เทคนิคนี้มีการใช้น้ำในปริมาณที่มากเกินไป และยังไม่มีความปลอดภัย รวมทั้งอาจเป็นสาเหตุของแผ่นดินไหวขนาดเล็กด้วย จึงไม่เป็นที่นิยมนัก

 

4. พลังงานจากลม

เมื่อใบพัดที่ติดอยู่กับกังหันลมเริ่มหมุนด้วยแรงลม จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน Generator หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาได้ พลังงานลมนี้เป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีวันหมดไป แต่ก็จำเป็นต้องใช้ลมในปริมาณมากเพื่อขับเคลื่อน Generator นอกจากนี้ยังพบว่าผู้คนบางส่วนอาจไม่ชอบนักที่จะมีกังหันลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่อาศัยของพวกเขา และมันยังส่งผลต่อความแปรปรวนของอุณหภูมิโดยรอบบริเวณนั้น เนื่องจากการหมุนของกังหันลมด้วย

 

5. พลังงานจากชีวมวล

เป็นพลังงานที่ได้จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงตามธรรมชาติ เช่น ไม้ ซากพืช มูลสัตว์ รวมถึงขยะต่างๆ มักถูกนำมาใช้ในการปรุงออาหารในครัวเรือน หรือเป็นแหล่งเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม แต่พลังงานชนิดนี้จะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากจุดเริ่มต้นของพลังงานเริ่มที่พืชรับพลังงานจากแสงอาทิตย์และเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำให้ไปเป็นคาร์โบไฮเดรตสะสมอยู่ในตัวมันเอง ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง เมื่อพืชถูกเผาไม้ คาร์บอนไดออกไซด์และน้ำที่สะสมอยู่จึงถูกปล่อยออกมาสู่บรรยากาศอีกครั้งนั่นเอง

 

6. พลังงานความร้อนใต้พิภพ

ภายใต้เแผ่นเปลือกโลกนั้นมีความร้อนและแรงดันอยู่สูงมาก โดยปกติที่ความลึกประมาณ 30 กิโลเมตรจากผิวโลก จะมีอุณหภูมิเฉลี่ย 250-1,000 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามความลึก ซึ่งมนุษย์สามารถนำความร้อนนี้มาใช้ให้กิจกรรมต่าง ๆ ได้ โดยความร้อนจากหินหนืดใต้โลก สามารถต้มน้ำให้เดือดกลายเป็นไอ และไอน้ำนี้จะไปหมุนกังหันและไปทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำงานผลิตกระแสไฟฟ้าได้

 

7. พลังงานจากไฮโดรเจน

ไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบของน้ำและสารประกอบอีกหลาย ๆ ชนิดบนโลก เราสามารถแยกไฮโดรเจนออกจากสารประกอบต่าง ๆ เช่น แยกไฮโดรเจนออกจากน้ำโดยการผ่านกระแสไฟฟ้าลงในน้ำ แล้วนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนหรือเป็นเชื้อเพลิงยานยนต์ได้

 

8. พลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์

พลังงานนิวเคลียร์ที่เรานำมาใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เป็นพลังงานที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบฟิชชั่น ซึ่งจะสร้างความร้อนและกระแสไฟฟ้าออกมา แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงในเรื่องของความปลอดภัยในการใช้งานและกระบวนการผลิตของพลังงานชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม มันก็ยังคงเป็นพลังงานที่ทรงประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานปริมาณมหาศาลสำหรับผู้คนบนโลก อีกทั้งมันยังไม่ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่ชั้นบรรยากาศหรือมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกด้วย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow