Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จากครูผู้ช่วย...กับการประเมินวิทยฐานะหลักเกณฑ์ใหม่

Posted By Pimmy_T | 29 ส.ค. 60
17,800 Views

  Favorite

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้มีการประกาศให้ใช้การประเมินวิทยฐานะแนวทางใหม่ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการประเมินที่เป็นธรรม โดยเฉพาะครูที่อยู่แต่ในห้องเรียน ครูที่ตั้งใจสอน จะได้รับการตอบแทนที่มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น แล้วถ้าอยากเลื่อนวิทยฐานะต้องทำอย่างไร ?

 

เราจะมาเล่าตั้งแต่เราเรียนจบครูกันเลย เพื่อจะได้เห็นภาพอย่างชัดเจน เริ่มต้นด้วยเมื่อเรียนจบหลักสูตรครู 5 ปี ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เตรียมตัว เตรียมใจ ตั้งใจสอบครูผู้ช่วยซึ่งใน 1 ปีนั้นอาจจะมีการเปิดสอบ 1 หรือ 2 ครั้ง แล้วแต่อัตราความต้องการภายในประเทศ เวลาจะสมัครสอบให้เลือกเขตพื้นที่การศึกษาที่เราต้องการจะบรรจุ ตั้งใจอ่านหนังสือ ดูข่าวสารบ้านเมืองในช่วงนั้น เพราะในข้อสอบจะออกเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ณ ตอนนั้นนั่นเอง

 
เมื่อเราสอบได้แล้ว...ก็มาเริ่มก้าวสู่ชีวิตการเป็นครูกันเลยค่ะ  

กว่าจะเป็นครู ค.ศ.1 ได้นั้นเราต้องอยู่ในช่วงทดลองงาน 2 ปี ในตำแหน่งครูผู้ช่วยซึ่งในช่วงสองปีนี้เราต้องพัฒนาอย่างเข้มข้นเพราะจะมีการประเมินทุก ๆ 3 เดือนรวม 8 ครั้งในช่วงเวลา 2 ปีก่อนที่จะได้เป็นครู เป็นไงบ้างเส้นทางกว่าจะได้เป็นครูไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยนะคะ มาดูกันเลยค่ะว่ามีกี่ขั้นตอนที่เราจะเลือกจากครู ค.ศ.1 เป็นครู ค.ศ.5 ได้

 

 

ขั้นที่ 1 : ครูผู้ช่วย เป็นตำแหน่งที่บรรจุแต่งตั้งในระดับแรก (เทียบเท่าอาจารย์ 1 ระดับ 5 เดิม *ซึ่งปัจจุบันการบรรจุข้าราชการครูมิได้เริ่มที่ ซี 3-4 เหมือนแต่ก่อนแล้ว) ต้องผ่านช่วงทดลองงาน 2 ปี พอผ่านจะได้รับการแต่งตั้งเป็นครู ค.ศ. 1

ขั้นที่ 2 : ครู ค.ศ. 1 (เทียบเท่าอาจารย์ 1 ระดับ 6)

ขั้นที่ 3 : ครู ค.ศ. 2 เป็นวิทยฐานะครูชำนาญการ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 1 (เทียบเท่าตำแหน่งอาจารย์ 2 ระดับ 7 เดิม)  

ขั้นที่ 4 : ครู ค.ศ. 3 เป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 2 ที่มีผลงานวิชาการผ่านเกณฑ์ (เทียบเท่าตำแหน่งอาจารย์ 3 ระดับ 8 เดิม) 

ขั้นที่ 5 : ครู ค.ศ. 4 เป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 2หรือ ค.ศ. 3 ที่มีผลงานวิชาการผ่านเกณฑ์ (เทียบเท่าตำแหน่งอาจารย์ 3 ระดับ 9 เดิม) 

ขั้นที่ 6 : ครู ค.ศ. 5 เป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 4 ที่มีผลงานวิชาการผ่านเกณฑ์ (เทียบเท่าระดับ 10 ซึ่งในอดีตไม่เคยมีมาก่อน โดยได้รับการขยายระดับให้สูงขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ในมาตราที่ 39 ให้เทียบเท่าอธิบดีกรมฯ เลยก็ว่าได้) 

 

โดยตั้งแต่ ตำแหน่งครู ค.ศ.1 ไปจนถึง ครู ค.ศ.5 ต้องปฏิบัติงานในการจัดการเรียนการสอนปกติอย่างมีคุณภาพ โดยบันทึกข้อมูลส่วนตัว เช่นการดำรงตำแหน่ง ชั่วโมงการสอน ชั่วโมงการอบรมและพัฒนา ผลการปฏิบัติงานในแต่ละปี ลงใน Logbook และ e-Portfolio จำนวน 5 ปี มายื่นขอรับการประเมิน ทั้งนี้ ครูที่ประสงค์จะยื่นขอรับการประเมิน สามารถตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นได้จาก Logbook และ e-Portfolio โดยไม่ต้องรวบรวมเอกสารมานำเสนอเช่นในอดีต

 

ภาพ : shutterstock.com

 

เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะ กว่าจะได้เลื่อนวิทยฐานะในแต่ละขั้น แต่ละครั้ง ไม่ใช้เรื่องง่าย ๆ เลย แต่อย่าท้อกันนะคะ เป็นกำลังใจให้คุณครูทุกคนค่ะ สำหรับบทความในครั้งหน้านั้น จะนำเรื่องอะไรฝาก อย่าลืมติดตามกันนะคะ ขอบคุณที่อ่านจนจบค่ะ ถ้ามีในส่วนไหนยังไม่ถูกต้อง inbok เข้ามาได้เลยค่ะ ^_^

 

เรียบเรียงโดย Pimmy
ภาพปก : shutterstock.com

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Pimmy_T
  • 0 Followers
  • Follow