Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กลไกการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ

Posted By Plookpedia | 10 พ.ค. 60
1,645 Views

  Favorite

กลไกการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ

      รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นผลพวงจากการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาเป็นเวลายาวนานและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดและร่วมร่างรัฐธรรมนูญนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยที่รัฐธรรมนูญได้มีบทบัญญัติปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างกว้างขวางโดยกำหนดกลไกต่าง ๆ ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  ได้แก่

  • ศาลรัฐธรรมนูญ ในมาตรา ๒๕๕ ถึงมาตรา ๒๗๐
  • ศาลปกครอง ในมาตรา ๒๗๖ ถึง มาตรา ๒๘๐
  • ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ในมาตรา ๑๙๖ ถึงมาตรา ๑๙๘
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในมาตรา ๑๙๙ ถึงมาตรา ๒๐๐

 

สิทธิมนุษยชน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสอบถามข้อเท็จจริงและข้อมูลหลักฐาน
จากชาวไทยภูเขาที่ร้องเรียน ในเรื่องที่ดินทำกิน
สิทธิมนุษยชน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมอบรางวัล "องค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น" 
แก่องค์กรบ้านบ่อนอกและบ้านหินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

 

๑) ศาลรัฐธรรมนูญ

      เป็นองค์กรซึ่งมิได้พิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั่วไปแต่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะคดีที่มีปัญหากฎหมายเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ หน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญ คือ การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ 


การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

๑. เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม 
      โดยมิให้มีการบัญญัติกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ 
๒. เพื่อประโยชน์ในการปกครองประเทศ
     ด้วยการรักษาดุลยภาพการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญอันเป็นกระบวนการถ่วงดุลอำนาจระหว่างองค์กรต่าง ๆ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในระบอบ         ประชาธิปไตย
๓. เพื่อคุ้มครองปกป้องรัฐธรรมนูญ ให้ดำรงรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดเอาไว้
      เมื่อบทบัญญัติกฎหมายใดมีข้อความหรือเจตนารมณ์ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญก็จะต้องมีการควบคุมโดยวินิจฉัยให้กฎหมายนั้นไม่มีผลใช้บังคับศาลรัฐธรรมนูญมีองค์ประกอบดังนี้ คือ มีประธานศาลรัฐธรรมนูญ ๑ คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่น ๆ อีก ๑๔ คน รวมเป็น ๑๕ คน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง ๑๕ คน มาจากบุคคลต่อไปนี้

      ๑. ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาและได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน ๕ คน
      ๒. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกในที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน ๒ คน
      ๓. ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา จำนวน ๕ คน
      ๔. ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา จำนวน ๓ คน

 

สิทธิมนุษยชน
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์ที่พิจารณาวินิจฉัยเฉพาะคดีที่มีปัญหากฎหมายเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น

 

      ศาลรัฐธรรมนูญจะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้แก่ประชาชนได้ถึงแม้ว่าประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เนื่องจากการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อการคุ้ม ครองสิทธิมนุษยชนนั้นสามารถทำได้ ๒ วิธี คือ
      ๑. ใช้สิทธิทางศาล คือ ส่งเรื่องผ่านทางศาลเพื่อให้ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่ามาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติและภายหลังได้ถูกให้อพยพออกจากที่อยู่ที่ทำกินโดยถูกฟ้องต่อศาลว่าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติมาตราตามที่ถูกฟ้องนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๖ ขอให้ศาลได้ส่งข้อโต้แย้งนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความวินิจฉัย
      ๒. ใช้สิทธิผ่านกระบวนการของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เช่น ผู้พิการที่มีความรู้ความสามารถสอบเข้าทำงานในส่วนราชการได้แต่ถูกปฏิเสธการเข้าทำงานจากส่วนราชการโดยอ้างระเบียบปฏิบัติบางประการซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งสภาพทางร่างกายหรือสุขภาพอันขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๐ วรรค ๒ ผู้พิการคนนั้นอาจส่งเรื่องร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเพื่อให้ส่งเรื่องร้องเรียนนั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

๒) ศาลปกครอง

      เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบ การใช้อำนาจของทางราชการเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนและคุ้มครองประโยชน์ของส่วนรวมให้ได้ดุลยภาพกันและเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องในการปฏิบัติราชการ ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชนหรือระหว่างหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกันซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของหน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าว หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ 

 

สิทธิมนุษยชน
ศาลปกครอง


      ศาลปกครองแบ่งออกเป็น ๒ ชั้นศาล คือ ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้นโดยมีโครงสร้างและเขตอำนาจตามแผนผังต่อไปนี้  คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิ ในการบริหารราชการแผ่นดินมีจำนวน  ๑๓  คน ผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง คือ
      ๑. ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับความเสียหายจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
      ๒. ผู้ที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
      ๓. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในกรณีที่เห็นว่ากฎหรือการกระทำของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
      ๔. กรณีอื่นที่มีกฎหมายกำหนดให้ฟ้องต่อศาลปกครอง

๓) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

      เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหารมิให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจในการดำเนินการบริหารบ้านเมือง ด้วยเหตุนี้สถาบันนี้จึงต้องมีอำนาจพอสมควรในการสอบสวนการกระทำหรือการละเลยการกระทำของฝ่ายบริหารต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินงานและที่สำคัญจะต้องเป็นสถาบันที่เยียวยาให้แก่ผู้ที่เดือดร้อนซึ่งมักเป็นประชาชนให้ได้รับความยุติธรรม องค์ประกอบของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีจำนวนไม่เกิน ๓ คน โดยการแต่งตั้งจากผู้ที่ประชาชนให้การยอมรับนับถือมีความรอบรู้และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินรัฐวิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน ในเรื่องดังต่อไปนี้  
      ๑. เรื่องที่ข้าราชการพนักงานของรัฐหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่
      ๒. เรื่องที่ข้าราชการ พนักงานของรัฐหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ  หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรมไม่ว่าการปฏิบัตินั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายก็ตาม ผู้ที่มีสิทธิร้องเรียนหรือส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คือ

  • ผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยไม่เป็นธรรมหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้ร้องเรียนแทน
  • ผู้พบเห็นเหตุการณ์หรือเรื่องที่จะร้องเรียน
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือกรรมาธิการของวุฒิสภา หรือสภาผู้แทนราษฎร ส่งเรื่องร้องเรียนด้วยตนเองหรือรับเรื่องจากผู้เสียหายเพื่อส่งต่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

 

สิทธิมนุษยชน
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

 

๔) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

      ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกหลักในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสานต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่สะท้อนอยู่ในรัฐธรรมนูญให้เกิดผลที่เป็นจริง  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกอบด้วยประธานกรรมการ ๑ คน และกรรมการอีก ๑๐ คน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้ง ๑๑  คน ได้รับการเลือกสรรจากคณะกรรมการสรรหาซึ่งเสนอรายชื่อผู้ที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจำนวน ๒๒ คน เพื่อให้วุฒิสภาเลือกผู้ที่เหมาะสมที่สุด ๑๑ คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๖ ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว 

 

สิทธิมนุษยชน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ไว้ สรุปได้ดังนี้
      ๑. ส่งเสริมการเคารพและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
      ๒. ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีและเสนอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสม
      ๓. เสนอแนะนโยบายและการแก้ไขกฎหมายเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
      ๔. ส่งเสริมการศึกษา วิจัย และเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
      ๕. ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการองค์การเอกชนและองค์การอื่น ๆ ด้านสิทธิมนุษยชน
      ๖. จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศและผลการปฏิบัติงานประจำปี
     ๗. เสนอความเห็นในกรณีที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน
การร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผู้ที่มีสิทธิร้องเรียน คือ 

  • ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนร้องเรียนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นหรือองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนร้องเรียนแทน
  • องค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน
  • กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบเองโดยไม่จำเป็นต้องมีใครมาร้องเรียน

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow