หลังจากที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติอยู่ระยะเวลาหนึ่งก็ได้มีการแปลเจตนาและขยายข้อความของหลักการของปฏิญญาสากลฯ ให้ละเอียดยิ่งขึ้นด้วยการร่างเป็นกติการะหว่างประเทศที่มีผลบังคับทางกฎหมายขึ้น ๒ ฉบับ คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights)โดยสหประชาชาติได้มีมติรับรอง กติการะหว่างประเทศทั้ง ๒ ฉบับ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๖ และเมื่อกติการะหว่างประเทศทั้ง ๒ ฉบับ มีผลบังคับใช้ ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ ประเทศต่าง ๆ ได้เข้าเป็นภาคีจนถึงปัจจุบันนับได้ ๑๓๔ ประเทศ สำหรับในกรณีของประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศทั้ง ๒ ฉบับ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ และ พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามลำดับ
นอกจากกติการะหว่างประเทศ ๒ ฉบับที่กล่าวมาแล้วนี้ก็ยังมีอนุสัญญา (Convention) ที่เกี่ยวกับรายละเอียดของสิทธิมนุษยชนซึ่งมีผลบังคับให้ประเทศภาคีของอนุสัญญาต้องปฏิบัติ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination)
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๙๐ (พ.ศ. ๒๕๓๓) หลังจากที่สมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรอง เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ประเทศไทยก็ได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญานี้ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ จุดประสงค์ของอนุสัญญาฉบับนี้ คือ เด็กเป็นผู้ที่จะต้องได้รับการดูแลและปกป้องทั้งยังเน้นถึงความสำคัญของชีวิตและครอบครัวของเด็กด้วย ส่วนอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบได้รับการรับรองจากสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๙ (พ.ศ. ๒๕๒๒) และมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๘๑ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญานี้เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๘ จุดประสงค์ของอนุสัญญาฉบับนี้คือ ความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงและเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกปฏิบัติในรูปแบบของการบังคับให้แต่งงาน ความรุนแรงในครอบครัว โอกาสในการศึกษา การดูแลด้านสาธารณสุข ตลอดจนการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน