Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประวัติความเป็นมาของขบวนการสิทธิมนุษยชน

Posted By Plookpedia | 15 มี.ค. 60
1,621 Views

  Favorite

ประวัติความเป็นมาของขบวนการสิทธิมนุษยชน

ขบวนการสิทธิมนุษยชนมีประวัติความเป็นมา ทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล ดังนี้

ระดับประเทศ

      ในอดีตเมื่อประเทศต่าง ๆ ยังมีระบอบการปกครองที่ให้อำนาจอย่างเด็ดขาดแก่ผู้ปกครองโดยผู้ถูกปกครองไม่มีสิทธิในด้านเสรีภาพและความเสมอภาคทำให้บางครั้งต้องประสบกับความทุกข์ยากจากความอยุติธรรมและการเบียดเบียนจึงเกิดการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ที่ราษฎรหรือผู้ถูกปกครองจะพึงมีพึงได้และนำไปสู่การร่างบทบัญญัติหรือกฎหมายเพื่อประกันสิทธิเหล่านั้น ตัวอย่างของการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและทางสังคมที่ถือว่ามีความสำคัญมากทางด้านประวัติศาสตร์ คือ การที่พวกขุนนางที่ถือครองที่ดินในประเทศอังกฤษในสมัยกลางได้รวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้กษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าจอห์น พระราชทานกฎบัตร เรียกชื่อว่า แมกนาคาร์ตา (Magna Carta) เมื่อ ค.ศ. ๑๒๑๕ (พ.ศ. ๑๗๕๘) รับรองว่าจะทรงปกครองโดยยุติธรรม เช่น ไม่เก็บค่าภาษีที่ดินแพงเกินไป  ไม่ตัดสินคดีโดยเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ไม่ลงโทษบุคคลโดยปราศจากการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม ให้ปลดผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตออกจากตำแหน่ง แมกนาคาร์ตาจึงอาจถือได้ว่าเป็นบทบัญญัติฉบับแรกของประเทศอังกฤษและของโลกที่มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ปกครองและสิทธิเสรีภาพของผู้อยู่ใต้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจน 

 

สิทธิมนุษยชน
"ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และของพลเมือง" ในรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙


      ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ มีแนวคิดทางด้านปรัชญาการเมืองและสังคมของนักคิดชาวยุโรปหลายคนที่มีอิทธิพลต่อการปฏิรูปทางการเมืองและสังคมของประเทศในยุโรปตะวันตกและแพร่หลายไปถึงทวีปอเมริกาเหนือด้วย นักคิดที่มีชื่อเสียงมาก ได้แก่ จอห์น ล็อก (John Locke) ชาวอังกฤษ  ฟรองซัว วอลแตร์ (Franois Voltaire) และชอง - ชาก รูโซ (Jean - Jacques Rousseau) ชาวฝรั่งเศส  กฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีพื้นฐานจากแนวคิดดังกล่าว เช่น "ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และของพลเมือง" (Declaration of the Rights of Man and the Citizen) ในรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสซึ่งร่างขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๙ และ "บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิ"(Bill of Rights) ซึ่งผนวกเป็นบทแก้ไขเพิ่มเติม ๑๐ ฉบับแรกในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. ๑๗๙๑ ถือได้ว่าเป็นการประกาศสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวางและเป็นต้นแบบในการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศอื่น ๆ ในเวลาต่อมา

 

สิทธิมนุษยชน
ชอง - ชาก  รูโซ

 

ระดับสากล

      ขบวนการสิทธิมนุษยชนสากลเริ่มมาจากความจำเป็นที่จะต้องมีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติจึงเกิดความร่วมมือระหว่างชาติในการร่างบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขึ้น สนธิสัญญาระหว่างชาติฉบับแรก ๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการยอมรับเสรีภาพในการนับถือศาสนา การเลิกทาสและการปกป้องสิทธิมนุษยชนในยามสงครามรวมทั้งสภากาชาดสากล (International Committee of the Red Cross) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๔ ก็นับเป็นความร่วมมือระหว่างชาติในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอย่างหนึ่ง  เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ประเทศต่าง ๆ ตระหนักว่าลำพังรัฐบาลของแต่ละประเทศย่อมไม่สามารถปกป้องสิทธิมนุษยชนได้จำเป็นที่ต้องพึ่งพลังของนานาชาติด้วย ดังนั้นสันนิบาตชาติ (The League of Nations) ซึ่งเป็นองค์การสากลระหว่างรัฐบาลองค์การแรกที่ถือกำเนิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ จึงคิดหาวิถีทางที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นพลังแต่งานของสันนิบาตชาติในเรื่องนี้ก็จำกัดอยู่เพียงการคุ้มครองชนกลุ่มน้อยในบางประเทศเท่านั้น  ความพยายามในระดับนานาชาติที่จะปกป้องสิทธิของผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้เริ่มขึ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ และได้กลายมาเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศซึ่งร่างขึ้นโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization) ที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๙ สำหรับการเลิกทาสที่เป็นความพยายามของระดับนานาชาติมาเป็นช่วงระยะเวลายาวนานได้บรรลุผลสำเร็จเมื่อมีการจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทาส (International Slavery Convention) และร่วมลงนามที่เมืองเจนีวาใน ค.ศ. ๑๙๒๖ ส่วนปัญหาผู้ลี้ภัยก็ได้มีการร่วมลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัย  (Conventions for the Protection of Refugees) ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ และ ค.ศ. ๑๙๓๘ ตามลำดับ 

 

สิทธิมนุษยชน
ตราสัญลักษณ์ขององค์การสหประชาชาติ


      ในช่วงระยะเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ กับครั้งที่ ๒ ได้เกิดระบอบการปกครองแบบเผด็จการซึ่งก่อตัวขึ้นในประเทศเยอรมนีเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๐ และดำเนินต่อไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระบอบการปกครองดังกล่าวได้มีการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้เกิดการทำลายล้างชีวิตและศักดิ์ศรีของมนุษยชนอย่างกว้างขวางรวมทั้งความพยายาม ที่จะทำลายกลุ่มชนต่าง ๆ โดยอ้างเหตุแห่งเชื้อชาติและศาสนา  ดังนั้นจึงปรากฏอย่างแน่ชัดว่าจำเป็นต้องมีบทบัญญัติระดับนานาชาติเพื่อเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพราะการเคารพสิทธิมนุษยชนนับเป็นหนทางสำคัญที่จะนำไปสู่สันติภาพและความสงบสุขของโลก  เมื่อมีการดำเนินการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ บรรดาผู้นำของประเทศสมาชิกดั้งเดิม ๕๐ ประเทศได้ร่วมลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติ (The Charter of the United Nations) เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๕ โดยประกาศเป้าหมายหลักขององค์การสหประชาชาติซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ว่า "เพื่อปกป้องคนรุ่นต่อไปจากภัยพิบัติของสงครามและเพื่อยืนยันความศรัทธาในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์และในสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรี" ดังในมาตรา ๑ ของกฎบัตรสหประชาชาติได้ระบุว่าจุดมุ่งหมายประการหนึ่งของสหประชาชาติ คือ "เพื่อบรรลุความร่วมมือระหว่างชาติในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานสำหรับมนุษย์ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา" 
      ด้วยเหตุที่กฎบัตรสหประชาชาติเป็นสนธิสัญญาที่บรรดาประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติร่วมลงนามจึงถือว่ามีข้อผูกพันทางกฎหมายที่บรรดาสมาชิกจะต้องปฏิบัติตามอย่างไรก็ตามกฎ บัตรสหประชาชาติมิได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยตรงหรือกลไกที่จะช่วยให้ประเทศสมาชิกปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  ดังนั้นองค์การสหประชาชาติจึงได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (Committee on Human Rights) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๕ เพื่อร่างกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนส่งผลให้เกิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งสหประชาชาติได้มีมติรับรองเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๘  ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนถือเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อกันของบรรดานานาชาติถึงแม้ว่าจะมิได้มีผลบังคับทางกฎหมายเหมือนอย่างสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศแต่ก็มีพลังสำคัญทางศีลธรรม จริยธรรม และมีอิทธิพลทางการเมืองทั่วโลก รวมทั้งเป็นแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญของบรรดาประเทศที่มีการร่างรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ ก็มีข้อความที่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เช่น ในมาตรา ๔ ความว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง"

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow