ในปัจจุบันหนังสือโบราณของไทยมีกระจัดกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่เดิมหนังสือเหล่านี้เมื่อสร้างแล้วถ้าไม่ใช่เรื่องในพระพุทธศาสนาก็จะเก็บรักษาอยู่ในบ้านเรือนของคนทั่วไป มีการเผยแพร่โดยวิธีคัดลอกสืบต่อกันมาถ้าเป็นเรื่องในพระพุทธศาสนาก็จะนำไปถวายวัดเพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้เป็นการสืบพระศาสนาและใช้เป็นตำราเรียนหากพิจารณาตามประวัติการศึกษาเล่าเรียนของเด็กไทยแล้วย่อมมีความชัดเจนอย่างยิ่งว่าวัดเป็นสถานศึกษามาตลอดสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยครูผู้สอนหนังสือก็คือพระสงฆ์ในวัดต่าง ๆ นั่นเองเมื่อเป็นเช่นนี้ว้ดจึงเป็นแหล่งที่มีสรรพตำราต่าง ๆ ทั้งทางโลกและทางธรรมจำนวนมากเพื่อใช้เป็นหนังสือประกอบการศึกษาเล่าเรียน นอกจากนั้นคนไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนต่างก็มีความเชื่อว่าการสร้างหนังสือไม่ว่าจะเป็นหนังสือธรรมะ คือ เรื่องในทางพระพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎก และวรรณกรรมชาดกต่าง ๆ หรือหนังสือประเภทอื่น ๆ เช่น ตำรายา ตำราทำนายโชคชะตา คาถา เลขยันต์ เมื่อสร้างแล้วเสร็จ ก็จะนำหนังสือเหล่านั้นถวายแก่วัดหรือพระสงฆ์เป็นศาสนบูชาจะได้รับอานิสงส์บันดาลให้สมหวังในสิ่งที่ประสงค์เพื่อให้ตนเองได้รับผลบุญ มีความสุขสบาย มีโอกาสไปเกิดในสวรรค์ รวมทั้งได้อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บุคคลอื่นตามความปรารถนาด้วย
เมื่อการสร้างหนังสือเป็นที่นิยมกันมากยิ่งขึ้นก็ทำให้หนังสือเหล่านี้มีฉบับซ้ำ ๆ กันเป็นจำนวนมาก ในระยะหลังต่อมาเมื่อความนิยมในการใช้คัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทยหมดไปหนังสือโบราณของไทยดังกล่าวไม่มีการสร้างขึ้นใหม่อีกต่อไปส่วนที่อยู่ในครอบครองของวัดก็ขาดการดูแลรักษาปล่อยให้ชำรุดเสียหายโดยมากส่วนที่ยังอยู่ตามบ้านเรือนทายาทปัจจุบันซึ่งได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษไม่สนใจที่จะเก็บรักษาสืบต่อไปเห็นว่าเป็นของไม่มีประโยชน์ถ้าเก็บไว้ในบ้านเรือนก็จะทำให้สกปรก รกรุงรัง เป็นที่อาศัยของปลวก มด แมลงต่าง ๆ ยากต่อการดูแลรักษาจึงนำไปถวายวัดบ้าง เผาทิ้งบ้าง หลักสำคัญของการรวบรวมหนังสือโบราณอีกประการหนึ่งคือการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหนังสือโบราณให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจ เป็นการเผยแพร่และแนะนำวิธีการสงวนรักษาหนังสือโบราณเพื่อให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้ช่วยกันดูแลรักษาทรัพย์สินทางปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมประเภทนี้ ไว้เป็นสมบัติและเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของตนสืบไป