การเขียนหนังสือบนใบลานตามแบบโบราณนั้นใช้เหล็กจารเขียนหรือเรียกกันเป็นสามัญว่า "จาร" ตัวหนังสือให้เป็นรอยลึกลงในเนื้อลาน รูปอักษรที่เขียนด้วยวิธีจารเรียกว่า "เส้นจาร" การจารใบลานมีกรรมวิธีพิเศษ คือ ขั้นแรกต้องตีเส้นบรรทัดก่อน การตีเส้นบรรทัดบนใบลานใช้เส้นด้ายเหนียวขึงตึงกับกรอบไม้มีขนาดกว้างยาวมากกว่าหน้าลานเล็กน้อย ลานหน้าหนึ่ง ๆ จะกำหนดให้มีจำนวนบรรทัดเท่าไรต้องขึงเส้นด้ายให้มีจำนวนเท่ากับบรรทัดที่ต้องการเท่านั้น โดยทั่วไปลานหน้าหนึ่ง ๆ มีจำนวนบรรทัดระหว่าง ๔ - ๙ บรรทัดแต่ที่นิยมมากที่สุดคือ ๕ บรรทัด เมื่อจะตีเส้นบรรทัดต้องใช้ลูกประคบชุบดินหม้อหรือเขม่าไฟที่บดละเอียดผสมน้ำลูบที่เส้นด้ายซึ่งใช้เป็นบรรทัดให้ทั่ว วางกรอบเชือกบรรทัดบนใบลานพร้อมทั้งกำหนดระยะให้ได้ขนาดเหมาะสมกับหน้าลานดึงเชือกที่ขึงตึงขึ้น แล้วปล่อยให้เชือกดีดลงบนหน้าลานทำเช่นนี้จนกว่าจะครบจำนวนบรรทัด เมื่อยกเครื่องมือตีเส้นบรรทัดออกก็จะได้เส้นบรรทัดสีดำปรากฏบนหน้าลานตามต้องการ
เครื่องมือประกอบการจารใบลานที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งคือ "หมอนรองลาน" หมอนนี้ทำจากใบลานยาวประมาณ ๑๕ - ๒๐ เซนติเมตร เรียงซ้อนกัน ๖ - ๗ ใบ เย็บลานนี้ให้ติดกันใช้ผ้าหุ้มโดยรอบ เย็บขอบให้เรียบร้อยสวยงามที่ด้านซ้ายและด้านขวาของหมอนรองลาน นิยมใช้ลานเส้นกว้างประมาณ ๑ - ๑.๕ เซนติเมตร พันไว้เพื่อใช้เป็นเข็มขัดรัดใบลานขณะจารหนังสือและที่ข้างหมอนด้านยาวจะมีไม้ไผ่เหลาแบนกว้างประมาณ ๐.๕ - ๑ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๗ - ๑๐ เซนติเมตร จำนวน ๔ อัน (หรือใช้เส้นตอกอย่างแข็ง) เสียบตามร่องลานมุมละ ๒ อัน เพื่อใช้เป็นที่คีบลานซึ่งใช้เป็นต้นฉบับในขณะคัดลอกข้อความ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการจารหรือการเขียนใบลานคือ "เหล็กจาร" มีลักษณะเหมือนเหล็กหมาดปลายแหลมมีด้ามถือทำด้วยไม้หรือเขาสัตว์ขนาดตามความถนัดของผู้ใช้ ส่วนที่เป็นเหล็กแหลมนั้นจะโผล่ออกมาจากด้ามถือ ในขณะที่จารตัวหนังสือต้องฝนเหล็กจารให้แหลมคมอยู่ตลอดเวลาทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้เส้นอักษรเรียบและรูปลายเส้นอักษรงามไม่เป็นเส้นเสี้ยนและเนื่องจากต้องจารอักษร ๒ หน้าจึงต้องรักษาน้ำหนักมือไม่ให้ลงเหล็กจารลึกมากหากลงน้ำหนักมากเกินไปลานอาจทะลุหรือเห็นเป็นรอยรูปอักษรบนอีกหน้าหนึ่งได้ นอกจากการจารแล้วยังมีวิธีการเขียนอักษรบนใบลานอีกวิธีหนึ่งโดยใช้พู่กันชุบหมึกหรือสีเขียนรูปอักษรแทนการจาร รูปอักษรที่เขียนด้วยวิธีนี้เรียกว่า "เส้นชุบ"