Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์

Posted By Plookpedia | 20 เม.ย. 60
19,282 Views

  Favorite

ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์

      เด็ก ๆ เคยสังเกตหรือไม่ว่าเวลาที่พระสงฆ์ทำพิธีสวดมนต์ระหว่างการประกอบพิธีทางศาสนาไม่ว่าพิธีนั้นจะเป็นพิธีทำบุญ พิธีเฉลิมฉลองในโอกาสต่าง ๆ หรือแม้แต่ในพิธีสวดศพหรือเผาศพ ในบางช่วงของการสวดมนต์พระสงฆ์จะยกสิ่งที่คล้ายพัดที่มีด้ามยาวซึ่งอาจจะวางอยู่ที่พื้นด้านหน้าของแต่ละรูปหรืออาจตั้งเสียบอยู่ที่แท่นวางขึ้นมาใช้บังหน้าไว้ แต่บางช่วงการสวดก็จะไม่ยกมาบังหน้า เด็ก ๆ สงสัยบ้างไหมว่าสิ่งที่คล้ายพัดด้ามยาวที่พระสงฆ์ใช้คืออะไร มีที่มาอย่างไร และเหตุใดพระสงฆ์จึงนำมาใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา โอกาสและการใช้เป็นอย่างไร  สิ่งที่มีลักษณะคล้ายพัดด้ามยาวที่พระสงฆ์ใช้บังหน้าในขณะสวดมนต์ประกอบพิธีทางศาสนานั้นเรียกว่า ตาลปัตร แปลว่า พัดใบตาล มีที่มาจากใบตาลซึ่งเป็นต้นไม้ประเภทเดียวกับต้นมะพร้าวแต่มีใบใหญ่และกว้างกว่าใบมะพร้าว ชาวบ้านนำใบตาลนี้มาตัดแต่งเป็นพัดและใช้โบกลมหรือบังแดดเป็นของใช้ปกติของชาวบ้านในประเทศอินเดียและลังกามาตั้งแต่ก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว ต่อมาพระสงฆ์ได้นำพัดใบตาลนี้มาใช้โดยถือไปด้วยเมื่อเวลาแสดงธรรม เมื่อชาวบ้านเห็นพระใช้พัดใบตาลซึ่งเป็นของที่ไม่คงทนและไม่สวยงามจึงคิดหาสิ่งอื่นที่คงทนและสวยงาม เช่น ผ้าไหม ผ้าแพร ไม้ไผ่สาน งาสาน สุดแต่กำลังศรัทธาของแต่ละคนแล้วประดิษฐ์ตกแต่งให้มีความวิจิตรงดงามมากขึ้น พัดใบตาลจึงเปลี่ยนแปลงไปจนมีลักษณะอย่างที่พระสงฆ์ใช้ในปัจจุบันนี้  ส่วนเหตุที่พระสงฆ์ใช้ตาลปัตรบังหน้าเวลาสวดทำพิธีนั้นมีอธิบายไว้ในคัมภีร์ทางศาสนาว่าเพื่อไม่ให้ผู้มาฟังธรรมเห็นอากัปกิริยาของพระสงฆ์ที่อาจจะไม่ได้ระมัดระวังขณะที่สวดและเพื่อไม่ให้พระสงฆ์มองผู้มาฟังธรรมเนื่องจากจะทำให้ไม่มีสมาธิได้ ธรรมเนียมปฏิบัตินี้พระสงฆ์ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน  

 

พัดยศ
พัดยศ

 

พัดยศ

 

      การใช้ตาลปัตรของพระสงฆ์ในการประกอบพิธีที่เป็นพิธีมงคลต่าง ๆ พระสงฆ์จะใช้ตาลปัตรเฉพาะเมื่อตอนให้ศีล (คือ ตอนเริ่มพิธี) และตอนอนุโมทนา (ให้พร) แก่ผู้มาฟังธรรมหรือเจ้าภาพของงานเท่านั้น ในการสวดตามปกติจะไม่ใช้ตาลปัตรแต่หากเป็นงานศพพระสงฆ์จะใช้ตาลปัตรในขณะสวดพระอภิธรรมด้วย  นอกจากตาลปัตรที่พระสงฆ์ทั่ว ๆ ไปใช้แล้ว ยังมีตาลปัตรพิเศษที่มีลักษณะแตกต่างจากตาลปัตรทั่วไปซึ่งมีความวิจิตรงดงามเพราะมีการประดิษฐ์ตกแต่งเป็นพิเศษและมีลักษณะเฉพาะ ตาลปัตร ชนิดนี้ เรียกว่า พัดยศ
      พัดยศเป็นของที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานแก่พระสงฆ์พร้อมกับการตั้งสมณศักดิ์ (ตำแหน่งชั้นยศของพระ) และพัดยศจะใช้เฉพาะงานพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาหรือพิธีที่เนื่องในพระเจ้าแผ่นดินซึ่งส่วนราชการจัดขึ้น เช่น งานเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ พระอารามต่าง ๆ และเฉพาะพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานพัดยศเท่านั้นที่จะใช้พัดยศได้  สำหรับการแต่งตั้งพระสงฆ์ให้มีสมณศักดิ์ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณแล้ว พระเจ้าแผ่นดินจะทรงพิจารณาจากพระสงฆ์ที่ประพฤติปฏิบัติตาม พระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก (พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า) และทำคุณประโยชน์ทางด้านพุทธศาสนจักร สมณศักดิ์ชั้นสูงสุดของพระสงฆ์ คือ สมเด็จพระสังฆราชและมีสมณศักดิ์ชั้นรอง ๆ ลงมา เช่น สมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะซึ่งยังแบ่งเป็นชั้นต่าง ๆ ย่อยลงไปอีก

 

 

 

      ของใช้ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาซึ่งกำหนดไว้ในพระวินัยที่เรียกกันว่า อัฐบริขาร ประกอบด้วย ๘ สิ่ง คือ สบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่า) รัดประคด (ผ้าคาดเอว) บาตร มีดโกน เข็มเย็บผ้า และหม้อกรองน้ำ แต่ยังมีของอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่รวมอยู่ในอัฐบริขารและเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียมิได้โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ได้รับกิจนิมนต์จะต้องนำไปด้วยเพื่อใช้ประกอบพิธีทางศาสนาก็ คือ ตาลปัตรหรือพัดพระ

 

พัดยศ
ตาลปัตรและอัฐบริขารของพระสงฆ์

 

ความหมาย ที่มา และพัฒนาการ

      ตาลปัตรมาจากคำ ๒ คำ คือ ตาล เป็นต้นไม้ประเภทปาล์มมีใบใหญ่รวมกับคำปัตร แปลว่า ใบ ตาลปัตรจึงมีความหมายตามคำว่า ใบตาล  ชาวบ้านตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลในประเทศอินเดียและลังกาใช้ใบตาลนี้มาตัดแต่งให้เป็นพัดมีด้าม ใช้พัดโบกลมและบังแดดมีหลักฐานในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาหลายเล่ม กล่าวว่าพระก็ใช้พัดชนิดนี้และถือไปเวลาแสดงธรรมด้วยจึงได้เรียกว่า ตาลปัตร เมื่อชาวบ้านเห็นพระสงฆ์ใช้พัดใบตาลก็คิดทำตาลปัตรถวายเพื่อจะได้บุญกุศลโดยหาสิ่งอื่นที่จะทนทานกว่าใบตาล เช่น ไม้ไผ่สาน ผ้าไหม ผ้าแพร หุ้มเข้ากับโครงไม้ไผ่ให้แข็งแรงขึ้น ปักตกแต่งอย่างสวยงามถวายแก่พระสงฆ์ที่เคารพนับถือ ตาลปัตรที่เป็นพัดใบตาลเดิมจึงมีรูปลักษณะเปลี่ยนแปลงไปมีความสวยงามสุดแต่กำลังศรัทธาของผู้ทำถวายพระเจ้าแผ่นดินก็โปรดให้ทำถวายพระด้วย ต่อมาจึงเกิดมีการถวายตาลปัตรที่วิจิตรงดงามเป็นเครื่องประกอบตามสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ขึ้น เรียกว่า พัดยศ

 

พัดยศ
จิตรกรรมฝาผนังที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามกรุงเทพมหานคร แสดงภาพพระสงฆ์ถือตาลปัตรพัดยศเข้าสู่พระทวารในพระบรมมหาราชวัง

 

วัตถุประสงค์การใช้

      กล่าวได้ว่า ตาลปัตรและพัดยศมีวิวัฒนาการมาจากพัดใบตาลเป็นเริ่มแรก ส่วนประเพณีปฏิบัติที่พระสงฆ์ถือตาลปัตรในการสวดแสดงธรรมและการถวายพัดยศเป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์นั้น มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีมานานแล้ว โดยไทยรับมาจากลังกาเมื่อครั้งที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เผยแผ่เข้ามายังดินแดนไทยตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ หรือก่อนสมัยสุโขทัยและได้รับความเลื่อมใสศรัทธาอย่างมากต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์  ดังนั้นจึงรับเอาประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ตามที่พระสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์ถือปฏิบัติเข้ามาด้วย หลักฐานที่แสดงว่าพระสงฆ์ถือตาล ปัตรเวลาจะไปแสดงธรรมและใช้บังหน้าในเวลาสวดธรรมปรากฏให้เห็นทั้งที่กล่าวไว้ในคัมภีร์และหนังสือที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหลายเล่ม รวมทั้งประติมากรรม ศิลาจารึก และจิตรกรรมฝาผนัง ตามยุคสมัยต่าง ๆ

 

พัดยศ
พระสงฆ์ใช้ตาลปัตรบังหน้าเมื่อชักผ้าบังสุกุลในการสวดพระอภิธรรมศพ


      อย่างไรก็ดีไม่มีหลักฐานที่ระบุแน่ชัดว่าพระสงฆ์ถือตาลปัตรในเวลาแสดงธรรมเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใดและเหตุใดจึงต้องใช้บังหน้าในขณะสวดด้วย มีผู้รู้สันนิษฐานว่าพระสงฆ์อาจจะใช้เมื่อต้องปลงศพเพื่อกันกลิ่นเหม็นจากศพที่เน่าเปื่อย เมื่อจะชักผ้าบังสุกุลที่ห่อศพเพื่อนำไปทำจีวรจึงใช้พัดใบตาลนี้ปิดจมูกกันกลิ่นเหม็นทำให้เกิดเป็นประเพณีของพระสงฆ์ที่จะถือตาลปัตรไปด้วยเมื่อจะทำพิธีต่าง ๆ บ้างก็ว่าเนื่องจากสภาพจิตใจของผู้ที่มาฟังธรรมมีหลายระดับ ดังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระกัจจายนเถระพระสาวกองค์สำคัญซึ่งมีรูปงามว่าขณะที่ท่านแสดงธรรมโปรดผู้มาฟังธรรมมีสตรีบางคนหลงรักท่านด้วยจิตอันไม่บริสุทธิ์นี้ก่อให้เกิดบาปขึ้น พระกัจจายนเถระจึงอธิษฐานขอให้มีรูปไม่งามเสียเราจึงเห็นพระกัจจายนเถระมีรูปร่างอ้วนพุงพลุ้ยไม่งดงามด้วยเหตุนี้พระสงฆ์จึงต้องหาเครื่องบังหน้าในขณะสวดเพราะประสงค์ให้ผู้ฟังมีสมาธิในการฟังธรรม  ข้อสันนิษฐานนี้สอดคล้องกับที่มีกล่าวไว้ในหนังสือวิมติวิโนทนี ฎีกาวินัยปิฎกแสดงวัตถุประสงค์ของการที่พระสงฆ์ใช้พัดบังหน้าในเวลาสวดแสดงธรรมว่าเพื่อป้องกันหัตถวิการ คือ การยกไม้ยกมือในเวลาพูดหรือแสดงอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันมุขวิการ คือ การอ้าปากกว้างซึ่งทำให้น่าเกลียดอย่างหนึ่งและป้องกันมิให้เป็นวิสภาคารมณ์อันจะทำให้ใจฟุ้งซ่าน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการที่พระสงฆ์ใช้ตาลปัตรบังหน้าในขณะสวดนั้นก็เพื่อให้มีความสำรวมและมีสมาธิ

 

พัดยศ
พัดยศทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และพัดรองงานพระราชพิธีต่าง ๆ ที่พระธรรมดิลก (อิ่น จนฺนสิริ)
เจ้าอาวาสวัดราชบุรณราชวรวิหารได้รับพระราชทาน

 

      ปัจจุบันตาลปัตรที่พระสงฆ์ใช้ในพิธีกรรมทั่ว ๆ ไปมีลักษณะคล้ายรูปไข่ เรียกว่า พัดหน้านาง ด้านบนมนและกว้างกว่าด้านล่างตรงกลางมีด้ามยาว  ตาลปัตรเป็นของใช้จำเป็นที่พระสงฆ์ต้องใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาทั้งที่เป็นงานมงคลหรืองานบุญ เช่น งานวันเกิด งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงานหรืองานเทศกาลต่าง ๆ โดยพระสงฆ์จะใช้ตาลปัตรมื่อจะให้ศีลและให้พรหรืออนุโมทนาแก่เจ้าภาพ และผู้มาร่วมงาน  สำหรับงานอวมงคลอย่างงานศพในการสวดพระอภิธรรมศพพระสงฆ์ก็จะใช้ตาลปัตรบังหน้าขณะสวดพระอภิธรรมและจะถือตาลปัตรในมือซ้ายแต่ไม่ใช้บังหน้า เมื่อชักผ้าบังสุกุลก่อนการเผาศพ  นอกจากนี้ยังมีตาลปัตรอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า พัดรอง ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นให้พระสงฆ์ใช้แทนพัดใบตาลที่มีลักษณะงองุ้มซึ่งมีรูปร่างไม่สวย  พัดรองที่ทำขึ้นในชั้นแรกนั้นใช้ผ้าเลี่ยนหรือผ้าลายหุ้มโครงไม้ไผ่ที่เป็นกรอบลักษณะรูปไข่ภายหลังจึงพลิกแพลงปักและตกแต่งให้สวยงามพัดรองนี้ในรัชกาลต่อ ๆ มาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึกในโอกาสมีงานพระราชพิธีต่าง ๆ ทั้งงานพระราชพิธีที่เป็นมงคลและงานพระศพด้วย  ในปัจจุบันพัดรอง หมายถึง พัดที่จัดทำขึ้นเป็นอนุสรณ์หรือที่ระลึกในงานพิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานพระราชพิธี งานของประชาชนทั่วไป หรืองานของทางราชการ พัดรองนี้คนทั่วไปยังคงเรียกว่า ตาลปัตร แม้ว่าจะไม่ได้ทำด้วยใบตาลแล้ว

โอกาสการใช้พัดยศ

      การใช้พัดยศมีประเพณีมาแต่ดั้งเดิมว่าพระราชาคณะซึ่งได้รับพระราชทานตาลปัตรพัดแฉกเป็นพัดยศ เมื่อได้รับนิมนต์ให้เข้าไปเทศน์ถวายจะต้องนำตาลปัตรเข้าไป ๒ เล่ม คือ พัดแฉกที่ได้รับพระราชทานเล่มหนึ่งกับพัดรองอีกเล่มหนึ่ง ขณะที่อยู่บนธรรมาสน์จะถือพัดแฉกไม่ได้ต้องถือพัดรองแทนต่อเมื่อกลับมายังอาสนะและถวายอนุโมทนาถวายอดิเรกจึงจะใช้พัดยศได้  ปัจจุบันทางคณะสงฆ์ได้กำหนดเป็นแนวปฏิบัติการใช้พัดยศไว้ว่าพระสงฆ์จะใช้พัดยศเฉพาะงานพระราชพิธีที่ต้องมีการถวายอนุโมทนาและถวายอดิเรกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถหรือในงานพิธีที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นหรือได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดขึ้น เช่น งานทอดถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน งานบำเพ็ญพระราชกุศลอื่น ๆ หรืองานรัฐพิธีเท่านั้น สำหรับในงานที่ต้องมีการถวายพระธรรมเทศนาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถด้วย พระสงฆ์ผู้เป็นองค์ถวายพระธรรมเทศนาจะต้องนำทั้งพัดยศและพัดรองไปด้วยโดยในขณะถวายพระธรรมเทศนาพระสงฆ์จะต้องใช้พัดรองต่อเมื่อจบแล้วและจะถวายอนุโมทนาถวายอดิเรกจึงให้ใช้พัดยศ  ดังนั้นพัดยศจะใช้เฉพาะงานพระราชพิธีที่มีการถวายอนุโมทนาและถวายอดิเรกเท่านั้น

 

พัดยศ
ประเพณีดั้งเดิมของราชสำนักและระเบียบของคณะสงฆ์ไทยได้กำหนดให้พระสงฆ์ใช้พัดยศเฉพาะการพระราชพิธีที่มีการถวายอนุโมทนาและถวายอดิเรก 
แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

 

      การสถาปนาสมณศักดิ์และลำดับสมณศักดิ์ พระสงฆ์ที่จะได้รับพัดยศนั้นต้องเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์และมีราชทินนามหรือพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์และมีตำแหน่งในการดูแลปกครองสงฆ์ด้วย ทั้งนี้ธรรมเนียมที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงสถาปนาสมณศักดิ์ให้แก่พระสงฆ์นั้นเป็นธรรมเนียมที่ไทยรับมาจากลังกาและสืบทอดกันมาตลอดสมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ถือเป็นราชประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงตั้งพระสงฆ์ที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย มีความรู้ความสามารถในภาษาบาลี เจริญในสมณคุณ รวมทั้งได้ทำคุณประโยชน์เป็นผลดีแก่พระศาสนาและราชอาณาจักรโดยจะทรงพิจารณาพระสงฆ์รูปนั้น ๆ ตามพระราชอัธยาศัยแล้วพระราชทานสมณศักดิ์ให้พร้อมโปรดให้มีราชทินนาม เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมเด็จพระญาณวโรดม ทั้งนี้การแต่งตั้งให้พระสงฆ์มีสมณศักดิ์ในบางกรณีก็เพื่อให้มีหน้าที่ปกครองดูแลคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนาด้วย เช่น ในสมัยสุโขทัยมีคณะสงฆ์ ๒ ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายอรัญวาสีคือคณะสงฆ์ที่อยู่ป่า และฝ่ายคามวาสีคือคณะสงฆ์ที่อยู่ในเมือง โปรดให้มีสังฆราชาปกครองดูแลพระสังฆราชาฝ่ายอรัญวาสีมีพัดยศเป็นพัดงาสานส่วนพระสังฆราชาฝ่ายคามวาสีมีพัดยศเป็นพัดแฉกพื้นกำมะหยี่  ต่อมาในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์จึงมีแต่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นตำแหน่งสูงสุดเพียงตำแหน่งเดียวปกครองดูแลคณะสงฆ์ทุกฝ่าย  ปัจจุบันธรรมเนียมการพระราชทานสมณศักดิ์เปลี่ยนแปลงไปโดยมีองค์กรสงฆ์ คือ เถรสมาคมเป็นผู้พิจารณาแล้วกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบและพระราชทานสมณศักดิ์ การพระราชทานสมณศักดิ์จะพระราชทานในวันเฉลิมพระชนมพรรษาและพระราชทานเป็นกรณีพิเศษในพระราชพิธีสำคัญอื่น ๆ อีก เช่น พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พระราชพิธีในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี หรือพระราชทานพัดยศเปรียญ ในพิธีตั้งเปรียญธรรมแก่ภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม ๖ และเปรียญธรรม ๙ ก่อนวันวิสาขบูชาหนึ่งวัน เป็นประจำทุกปี

 

พัดยศ
การพระราชพิธีสถาปนาสมณศักดิ์และพระราชทานพัดยศแก่พระสงฆ์
พัดยศ
การพระราชพิธีพระราชทานพัดยศแก่พระสงฆ์อนัมนิกายและจีนนิกาย
ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

      สำหรับลำดับสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทยตามทำเนียบสมณศักดิ์ปัจจุบัน มีลำดับสูงสุด คือ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ลำดับรองลงมา คือ สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ซึ่งกำหนดจำนวนไว้ ๘ รูป และพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ กำหนดจำนวนไว้ ๒๐ รูป รองลงไปจากนั้นเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม พระราชาคณะชั้นเทพ พระราชาคณะชั้นราช พระราชาคณะชั้นสามัญ ลำดับล่างสุด คือ พระครู ลำดับสมณศักดิ์แต่ละชั้นนอกจากจะกำหนดจำนวนของแต่ละลำดับชั้นแล้ว ยังกำหนดให้เป็นพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ฝ่ายละเท่าใดด้วย  นอกจากตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทยแล้วยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งสมณศักดิ์ของพระสงฆ์อนัมนิกายและจีนนิกายด้วย โดยเริ่มในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยทรงพระราชปรารภถึงความภักดีที่พระสงฆ์ญวนและพระสงฆ์จีนได้มาทำพิธีกงเต๊กถวายในงานพระศพเจ้านายชั้นสูงตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ อีกทั้งพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อน ๆ ก็ได้ทรงตั้งพระสงฆ์มอญให้มีสมณศักดิ์อย่างพระสงฆ์ไทยไว้แล้วจึงสมควรตั้งพระสงฆ์ญวนให้มีสมณศักดิ์บ้าง แต่พระสงฆ์ญวนถือนิกายมหายานไม่สามารถประกอบพิธีร่วมกับพระสงฆ์ไทยได้อย่างพระสงฆ์มอญจึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำทำเนียบพระสงฆ์ญวนและพระสงฆ์จีนขึ้นต่างหาก

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Content

1
ความหมายและที่มา
ตาลปัตรหรือในบางแห่งใช้ว่า ตาลิ-ปัตร มาจากคำว่า ตาล ซึ่งเป็นชื่อต้นไม้ประเภทปาล์มชนิดหนึ่งมีใบใหญ่รวมกับคำว่า ปัตร แปลว่า ใบตาลปัตร จึงมีความหมายว่าใบตาล แม้ต่อมาภายหลังจะมีการใช้ใบของต้นลานซึ่งเป็นไม้ประเภทปาล์มเช่นเดียวกับต้นตาลก็ยั
7K Views
2
ข้อสันนิษฐานการใช้ตาลปัตร
จากหลักฐานทั้งที่เป็นเอกสารและภาพศิลปกรรมในสมัยต่าง ๆ กล่าวได้ว่าธรรมเนียมปฏิบัติในการใช้ตาลปัตรนั้นไทยได้รับมาจากพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ตั้งแต่เมื่อแผ่เข้ามายังดินแดนของราชอาณาจักรไทยราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ ทั้งนี้สมเด็จ
2K Views
7
ลักษณะสำคัญของพัดยศ
พัดยศแต่ละชนิดมีลักษณะสำคัญแสดงความแตกต่างซึ่งเป็นเครื่องบอกชั้นยศและคุณสมบัติพิเศษของพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานด้วย ดังนี้ ๑. ยอดพัด พัดยศประจำพระองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกซึ
4K Views
11
คุณค่าของตาลปัตรพัดยศ
พัดยศมิใช่เป็นเพียงสิ่งของอย่างหนึ่งสำหรับใช้ในงานพิธีของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาและมิใช่เป็นเพียงเครื่องหมายแสดงความสำคัญของพระสงฆ์ผู้ได้รับพระราชทานเท่านั้นแต่พัดยศยังมีคุณค่าเฉพาะตัวซึ่งจะหาไม่ได้ในศาสนวัตถุอื่น กล่าวคือพัดยศเพีย
5K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow