Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คุณค่าของตาลปัตรพัดยศ

Posted By Plookpedia | 09 มี.ค. 60
4,744 Views

  Favorite

คุณค่าของตาลปัตรพัดยศ

      พัดยศมิใช่เป็นเพียงสิ่งของอย่างหนึ่งสำหรับใช้ในงานพิธีของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาและมิใช่เป็นเพียงเครื่องหมายแสดงความสำคัญของพระสงฆ์ผู้ได้รับพระราชทานเท่านั้นแต่พัดยศยังมีคุณค่าเฉพาะตัวซึ่งจะหาไม่ได้ในศาสนวัตถุอื่น กล่าวคือพัดยศเพียงเล่มเดียวสามารถสื่อความหมายและแสดงคุณค่าเรื่องราวได้หลายอย่างพร้อม ๆ กัน คือ

๑. แสดงถึงวิจิตรศิลป์

      แม้ตาลปัตรพัดยศมีวิวัฒนาการมาจากพัดใบตาลธรรมดาซึ่งหาได้ง่ายและชาวบ้านใช้กันอยู่เกือบจะทั่วโลกและมีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์โดยมีการคิดประดิษฐ์ลวดลายต่าง ๆ หลายรูปแบบ ส่วนวัสดุที่ใช้เปลี่ยนจากใบตาลมาเป็นอย่างอื่นเข้ากับศิลปะการตกแต่งได้อย่างกลมกลืนแต่ก็ยังคงชื่อเดิมไว้โดยยังคงเรียกว่า "ตาลปัตรและพัดพระ" นอกจากนี้ยังเป็นศาสนวัตถุที่มีลวดลายงามวิจิตรและหลากหลายเป็นวิจิตรศิลป์ซึ่งมีแบบเฉพาะและแต่ละเล่มไม่ซ้ำกันเพราะสร้างครั้งละหนึ่งเล่มหากจะมีซ้ำบ้างก็เพียงพัดรองซึ่งสร้างจำนวนมากในแต่ละครั้งแต่โดยรวมก็มีจำนวนไม่มากนัก

 

พัดยศ
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ผู้ทรงมีผลงานการออกแบบพัดพระสงฆ์ที่วิจิตรงดงาม

 

๒. แสดงภูมิปัญญาไทยที่แท้จริง

      แม้ว่าตาลปัตรพัดยศจะได้รับอิทธิพลมาจากลังกาแต่คนไทยตั้งแต่ยุคโบราณได้คิดประดิษฐ์สร้างสรรค์สีสันและลวดลายเส้นสายลงบนตาลปัตรด้วยภูมิปัญญาไทยโดยแท้จริง ความวิจิตรที่ปรากฏอยู่บนตาลปัตรพัดยศนั้นเกิดจากแนวคิดในเรื่องต่าง ๆ ตามยุคตามสมัย พัดยศแต่ละเล่มแสดงถึงประวัติศาสตร์ของผู้ทำ ประวัติศาสตร์ของงานและแสดงถึงความเชื่อในศาสนาอย่างมั่นคงแน่วแน่ แม้ว่าพื้นที่ที่จะให้แสดงภูมิปัญญานี้จะมีเพียงเล็กน้อยแต่สามารถบรรจุความคิดของผู้ประดิษฐ์ลงได้อย่างกลมกลืน สวยงาม และมีความหมาย

๓. แสดงสัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมาย  

      วัสดุ รูปทรง ลักษณะ และลวดลายการปักตกแต่งของพัดยศแต่ละเล่มสามารถแสดงว่าพระสงฆ์ผู้ถือนั้นมีสมณศักดิ์ชั้นใด มีตำแหน่งใด โดยที่พระสงฆ์ที่ถือพัดยศมิต้องบอกกล่าวหรือแสดงเป็นลายลักษณ์อักษร พัดยศสามารถสื่อความหมายได้ชัดเจนและเป็นที่เข้าใจในหมู่ผู้ปฏิบัติหน้าที่และผู้ได้รับพัดยศเป็นอย่างดี

๔. แสดงการจัดระบบอาวุโสและการปกครอง

      เนื่องจากในวงการคณะสงฆ์มีการจัดระบบการนั่งตามลำดับอาวุโส ๒ แบบ คือ แบบอาวุโสตามพระวินัยคือพระภิกษุรูปใดที่อุปสมบทก่อนถือว่ามีพรรษาอาวุโสกว่าให้นั่งหน้าพระภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่ากับแบบอาวุโสตามสมณศักดิ์โดยพระภิกษุรูปใดที่มีสมณศักดิ์หรือมีตำแหน่งทางการปกครองสูงกว่าก็ให้นั่งหน้าพระภิกษุที่มีสมณศักดิ์หรือมีตำแหน่งทางการปกครองต่ำกว่าได้โดยเฉพาะในงานพระราชพิธีหรืองานรัฐพิธีที่ต้องใช้พัดยศจะใช้แบบอาวุโสตามสมณศักดิ์เป็นเกณฑ์ ส่วนในงานทั่ว ๆ ไปจะถือแบบอาวุโสตามพระวินัยหรือทั้ง ๒ แบบผสมกันไปสุดแต่ความสะดวกและยินยอมกัน  ดังนั้นเมื่อพระภิกษุไปในงานพระราชพิธีหรืองานรัฐพิธีซึ่งเรียกว่า งานหลวง จำนวนหลายรูปแม้ไม่รู้จักคุ้นเคยกันมาก่อนเพียงแต่เห็นพัดยศที่ถือไปเท่านั้น ทั้งเจ้าหน้าที่และพระภิกษุที่ไปต่างก็จะรู้กันทันทีว่ารูปใดจะต้องนั่งอยู่ในลำดับที่เท่าไรโดยไม่จำเป็นต้องถามถึงชั้นสมณศักดิ์และตำแหน่ง นับเป็นความสะดวกอย่างยิ่งพัดยศเล่มเดียวสามารถทำให้รู้จักพระภิกษุรูปนั้นได้ไม่ว่าจะเป็นชั้นสมณศักดิ์ ตำแหน่งปกครอง และอาวุโส

 

พัดยศ
พัดยศแต่ละเล่มจะบอกให้ทราบได้ว่า พระสงฆ์ที่ใช้พัดยศนั้นมีตำแหน่งสมณศักดิ์และตำแหน่งปกครองใด 
ทำให้สามารถจัดระบบการนั่งของพระสงฆ์ตามลำดับสมณศักดิ์ได้สะดวก


      ในอดีตผู้ที่มีผลงานการสร้างพัดพระสงฆ์ที่มีความสวยงามและมีผลงานมากที่สุด คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงรับสนองการสร้างพัดยศพัดพิเศษอื่น ๆ โดยเฉพาะพัดรองที่นิยมสร้างกันมากที่สุดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงสร้างพัดรองทั้งที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อพระราช ทานในงานพิธีต่าง ๆ และที่พระราชวงศ์บางพระองค์ทูลขอให้ทรงสร้างให้ในโอกาสต่าง ๆ มากกว่า ๕๐ งาน การออกแบบพัดรองในสมัยหลังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จะทรงเริ่มใช้ตรา "น" ซ่อนไว้ในลายพัดทั้งนี้เพราะพัดฝีพระหัตถ์ที่ทรงออกแบบนั้นมีผู้ลอกแบบและดัดแปลงเป็นของตนเอง ต่อมาแม้ใช้ตราพระนามในงานที่เป็นฝีพระหัตถ์ก็ยังมีผู้ไปลบตราพระนามออกแต่ก็มิได้ทรงกริ้วทรงถือว่าเป็นวิทยาทาน พัดบางเล่มที่เป็นงานฝีพระหัตถ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ปัจจุบันยังคงจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow