จากหลักฐานทั้งที่เป็นเอกสารและภาพศิลปกรรมในสมัยต่าง ๆ กล่าวได้ว่าธรรมเนียมปฏิบัติในการใช้ตาลปัตรนั้นไทยได้รับมาจากพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ตั้งแต่เมื่อแผ่เข้ามายังดินแดนของราชอาณาจักรไทยราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ ทั้งนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานความเห็นไว้ว่าความคิดในการให้พระสงฆ์ถือตาลปัตรคงมาจากลังกาเพราะพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เป็นที่เลื่อมใสทั้งในพม่า ไทย ลาว และกัมพูชา หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในประเทศไทยที่แสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์ถือตาลปัตรไปด้วยในการแสดงธรรม เช่น ประติมากรรมสำริดศิลปะลพบุรีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ เป็นแผ่นภาพนูนต่ำทั้ง ๒ ด้าน ด้านหนึ่งแสดงภาพพระพุทธเจ้าทรงถือตาลปัตรโปรดพระพุทธบิดาและพระญาติอีกด้านหนึ่งแสดงภาพขณะทรงเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดุสิต ตาลปัตรที่ปรากฏมีลักษณะคล้ายพัดใบตาลรูปกลมมนขนาดเล็กแบบเดียวกับรูปตาลปัตรที่ปรากฏอยู่บนแผ่นใบเสมาศิลาจำหลักภาพนูนต่ำศิลปะลพบุรีแสดงภาพพระพุทธเจ้าทรงถือตาลปัตรขณะกำลังสวดธรรม นอกจากนี้ในศิลาจารึกวัดช้างล้อม พ.ศ. ๑๙๒๗ มีกล่าวถึงการถวายตาลปัตรแก่พระเถระ โดยเรียกว่า "พัดสวดธรรม" ด้วย
จากหลักฐานดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันว่าพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาใช้พัดใบตาลหรือตาลปัตรในการแสดงธรรมและมีการถวายตาลปัตรแด่พระสงฆ์ด้วย ส่วนการที่พระสงฆ์ใช้ตาลปัตรบังหน้า ในระหว่างแสดงธรรมนั้นมีปรากฏในหนังสือสมันตปาสาทิกาอรรถกถาวินัยปิฎกภาค ๑ กล่าวว่าในการทำปฐมสังคายนาที่ประชุมสงฆ์มีการซักถามและตอบกล่าวแก้ข้อธรรมและข้อวินัยโดยพระสงฆ์ที่มีหน้าที่ตอบจะต้องขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์ท่ามกลางพระสงฆ์ที่มาประชุมและถือพัดบังหน้าตลอดเวลาที่ชี้แจงข้อธรรมข้อวินัย เรื่องที่พระสงฆ์ใช้ตาลปัตรบังหน้ามีผู้รู้สันนิษฐานไปอีกหลายทางบางท่านว่าแรกเริ่มพระสงฆ์อาจจะใช้ในพิธีปลงศพเมื่อจะชักผ้าบังสุกุลจากศพที่เน่าเปื่อยเพื่อนำไปทำจีวรจึงใช้พัดใบตาลบังจมูกเพื่อกันกลิ่นเหม็นทำให้เกิดเป็นประเพณีที่พระสงฆ์จะถือตาลปัตรไปทำพิธีกรรมต่าง ๆ บางท่านก็ว่าเพราะพระพุทธเจ้าทรงถือตาลปัตรเมื่อเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดาแต่บางท่านว่าเนื่องจากสภาพจิตใจของผู้มาฟังธรรมมีหลายระดับ ดังเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระกัจจายนเถระพระสาวกองค์สำคัญรูปหนึ่งซึ่งมีรูปงามว่าขณะที่พระกัจจายนเถระแสดงธรรมโปรดผู้มาฟังธรรมมีสตรีบางคนเกิดหลงรักท่านด้วยจิตอันไม่บริสุทธิ์นี้จึงก่อให้เกิดบาปพระกัจจายนเถระจึงอธิษฐานขอให้ท่านมีรูปร่างไม่งามเสียดังที่เห็นภาพของพระกัจจายนเถระเป็นพระสงฆ์ที่มีรูปร่างอ้วนพุงพลุ้ย ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์จึงต้องหาเครื่องบังหน้าในขณะสวดเพราะประสงค์ให้ผู้มาฟังธรรมได้ฟังแต่ธรรมซึ่งข้อสันนิษฐานนี้นับว่าสอดคล้องกับที่มีกล่าวไว้ในหนังสือวิมติ วิโนทนี ฎีกาวินัยปิฎก ซึ่งแสดงวัตถุประสงค์ของการใช้พัดบังหน้าบังตาในเวลาพระสงฆ์สวดแสดงธรรมว่าเพื่อป้องกัน หัตถวิการ คือ การยกมือยกไม้ในเวลาแสดงธรรมอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันมุขวิการ คือ อาการอ้าปากกว้างซึ่งทำให้น่าเกลียดอย่างหนึ่งและป้องกันมิให้เป็นวิสภาคารมณ์อันจะทำให้จิตใจฟุ้งซ่านซึ่งวัตถุประสงค์ที่พระสงฆ์ต้องหาสิ่งมาบังหน้านี้ปรากฏเป็นประเพณีที่ยังพบเห็นได้ทางภาคเหนือเมื่อพระสงฆ์ต้องขึ้นไปเทศน์ยังธรรมาสน์ยอดซึ่งเป็นธรรมาสน์ที่ยกสูงจากระดับพื้นเมื่อเวลาจะเทศน์ต้องดึงม่านมาปิดไม่ให้ผู้ฟังเห็นใบหน้าพระสงฆ์ที่กำลังเทศน์อยู่