เมื่อแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งจะใช้เป็นต้นน้ำของโครงการชลประทานประเภทอาศัยแรงดึงดูดของโลกมีน้ำไหลมาจำนวนมากเพียงพอและมีปริมาณค่อนข้างสม่ำเสมอในฤดูการเพาะปลูกแล้วก็มักจะนิยมยกน้ำให้มีระดับสูงก่อนส่งเข้าคลองส่งน้ำด้วยวิธีการทดน้ำโดยการสร้างอาคารทดน้ำขวางลำน้ำธรรมชาติหรือแหล่งน้ำเพราะจะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการยกน้ำโดยวิธีอื่นวิธีการทดน้ำดังกล่าวจึงเหมาะกับโครงการชลประทานทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่มีขนาดใหญ่นั้น
อาคารทดน้ำซึ่งสร้างเพื่อทดน้ำในลำน้ำธรรมชาติที่ต้นน้ำของโครงการชลประทานให้มีระดับสูงขึ้นนี้ เรียกว่า "เขื่อนทดน้ำ"
เขื่อนทดน้ำส่วนมากจะสร้างอยู่ที่บริเวณต้นน้ำของโครงการชลประทานซึ่งมีระดับพื้นที่สูงที่สุดโดยที่เมื่อน้ำถูกทดอัดจนสูงและส่งเข้าคลองส่งน้ำไปแล้วจะทำให้น้ำในคลองส่งน้ำมีระดับสูงกว่าพื้นที่ชลประทานส่วนใหญ่ที่อยู่ภายในเขตโครงการนั้นทำให้พื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการได้รับน้ำชลประทานจากคลองส่งน้ำอย่างทั่วถึง
เขื่อนทดน้ำอาจมีรูปร่างอาคารเป็นแบบฝายหรือเป็นแบบเขื่อนระบายน้ำก็ได้