Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เลือดเทียมเพื่อทดแทนการบริจาค

Posted By Plook Creator | 26 ส.ค. 60
9,483 Views

  Favorite

บางครั้งคนไข้ที่รู้สึกไม่สบาย รู้สึกอ่อนเพลีย หรือแม้แต่เสียน้ำมาก ก็อาจจะร้องขอเลือดเทียมจากหมอ ทำให้หมอหลายคนมึนไปตาม ๆ กันว่า จริง ๆ แล้วคนไข้ต้องการอะไรกันแน่ ระหว่างเลือดสังเคราะห์จริง ๆ หรือเลือดเทียมในภาษาหมอที่หมายถึงพลาสมาเทียม (Isoplasma) ซึ่งสังเคราะห์มาเพื่อใช้รักษาคนไข้กรณีที่เสียเลือดมาก ๆ  แต่สำหรับหมอหลาย ๆ คนที่มีประสบการณ์และคุ้นเคยกับศัพท์ของชาวบ้านมากกว่า ก็จะรู้ได้ว่าสิ่งที่คนไข้ร้องขอนั้นคือ น้ำเกลือผสมวิตามิน​ ซึ่งทำให้มีสีเหลือง และสามารถฉีดเข้าเส้นเหมือนการให้น้ำเกลือปกติ คล้ายกับการขอยาบำรุงดี ๆ นี่เอง

 

นอกจากน้ำเกลือและพลาสมาเทียมที่ปัจจุบันเราสามารถสังเคราะห์ได้ ซึ่งคนไข้มักเข้าใจคลาดเคลื่อนกับเลือดเทียมแล้ว ปัจจุบันเรายังสามารถสังเคราะห์เลือดเทียมจริง ๆ ขึ้นมาได้ด้วย แม้ว่าจะยากสักหน่อยก็ตาม โดยจุดเริ่มต้นของการสังเคราะห์เลือดเทียมเริ่มต้นมาจากความต้องการเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น แต่การหาผู้บริจาคเลือดที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการนั้นเป็นไปได้ยาก

 

หากเราไม่ได้พิจารณาเรื่องปัจจัยของชนิดเลือดที่เป็นที่ต้องการและกลุ่มเลือดที่หายากต่าง ๆ เราก็ยังต้องเผชิญกับอายุของเลือดที่ได้รับการบริจาคมา ซึ่งสามารถเก็บในอุณหภูมิต่ำได้เพียงเดือนครึ่งเท่านั้น เลือดที่ได้รับการบริจาคเองก็มีน้อยมากจนบ่อยครั้งต้องประกาศระดมการบริจาคเลือด ความจริงก็คือคนเราไม่สามารถบริจาคเลือดได้บ่อย ๆ และก็มีข้อจำกัดทางสุขภาพของคนที่บริจาคเช่นกัน นอกจากผู้บริจาคจะต้องมีความแข็งแรงสมบูรณ์ทางด้านร่างกายแล้ว ยังต้องมีการพักผ่อนและเว้นระยะระหว่างครั้งการบริจาคด้วย โดยปกติต้องเว้นการบริจาคไป 3 เดือนจึงจะสามารถบริจาคครั้งต่อไปได้ เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างเลือดขึ้นมาทดแทนและแข็งแรงพอ

 

การขาดแคลนเลือดไม่ได้พบแค่ในประเทศไทยเราเท่านั้น ประเทศอื่น ๆ ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นเองก็ประสบปัญหาเลือดขาดแคลนจนต้องไปประกาศเชิญชวนตามสถานีรถไฟ หรือป้ายรถประจำทางเลยทีเดียว และเมื่อมีปัญหา มนุษย์เราก็พยายามหาทางแก้จนในที่สุดแล้วนักวิทยาศาสตร์ก็ประสบผลสำเร็จในการสังเคราะห์เลือดเทียม ซึ่งคาดว่าจะพร้อมผลิตเป็นจำนวนมากและนำมาใช้ทดแทนเลือดจริงที่ได้จากการรับบริจาคในไม่ช้า

 

เมื่อปี 2015 หน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษ National Health Service ได้ประกาศถึงการวางแผนที่จะใช้เม็ดเลือดแดงที่สังเคราะห์ขึ้นในห้องทดลองกับคนไข้จริงในปี 2017 นี้ โดยมีความมุ่งหมายว่าจะใช้มันเพื่อการถ่ายเลือด เมื่อเลือดที่ได้รับบริจาคมาไม่เพียงพอ เลือดเทียมจึงเป็นทางออกที่ดูจะสดใส แม้ว่าความจริงแล้วการสังเคราะห์เลือดเทียมทำได้ยาก ยังไม่นับเรื่องการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานจริงสำหรับผู้ป่วยและผู้ที่ต้องการเลือดทั่วโลก และจริง ๆ

 

อย่างไรก็ตาม เลือดไม่ได้ประกอบไปด้วยเม็ดเลือดแดงเพียงอย่างเดียว มันไม่ได้มีหน้าที่เพียงส่งออกซิเจนไปทั่วร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่อื่น ๆ เช่นการต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมอย่างเชื้อโรคต่าง ๆ การสมานบาดแผล เพียงแต่หน้าที่สำคัญอันดับแรกของเลือดก็คือ การขนส่งออกซิเจนไปทั่วร่างกายและดึงเอาคาร์บอนไดออกไซต์ออกจากเซลล์ต่าง ๆ

 

การสังเคราะห์เลือดเทียม ซึ่งหากมุ่งไปที่ประเด็นการนำส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ปัจจุบันก็มีการสังเคราะห์สารที่สามารถลำเลียงออกซิเจนได้ นั่นคือ Perfluorocarbon หรือพอลิเมอร์ (Polymer) ที่มีฟลูออรีนเป็นส่วนประกอบร่วมกับคาร์บอน มันสามารถจับออกซิเจนได้ เมื่อผ่านกรรมวิธีละลายในตัวทำละลายและสารประกอบอินทรีย์อื่น ๆ เพื่อคงสภาพให้สามารถใช้งานและไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย มันถูกเรียกว่า Fluosol ซึ่งก็มีการนำมาประยุกต์ใช้กับคนไข้นานแล้ว แต่ไม่สามารถทดแทนเลือดได้ทั้งหมด

 

ต่อมาจึงมีการหาทางออกโดยการสังเคราะห์ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) แต่หากมันไม่ได้อยู่ในเซลล์เม็ดเลือดแดงมันก็เป็นพิษต่อร่างกายเรา เพราะมันจะไปทำปฏิกิริยากับเซลล์อื่น ๆ ที่กระจายอยู่ในเลือดและทำให้เกิดปัญหาได้ ทางออกที่กำลังเป็นแสงสว่างสำหรับมนุษชาติคือ การสังเคราะห์เลือด โดยเริ่มจากเซลล์เริ่มต้น (stem cells) ของผู้บริจาคเลือด หรือจากไขสันหลัง เพื่อการผลิตจำนวนมากตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

แม้ว่าเราอาจจะมีเลือดเทียมใช้ทั่วไปในไม่ช้า แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ต้องบริจาคเลือดอีกต่อไป และในขณะที่เรายังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร การวิจัยจะประสบความสำเร็จและทดแทนได้ 100% หรือไม่ ระหว่างนี้อย่างน้อย ๆ เราก็ยังต้องรณรงค์ให้บริจาคเลือดกันยาวต่อไปอีกหลายสิบปี

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow