ในเขตพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยอากาศที่หนาวเหน็บ สัตว์หลายชนิดจำเป็นต้องปรับตัว พวกมันอาจจะอพยพย้ายถิ่นฐานชั่วคราวไปยังบริเวณที่เหมาะสมกว่า อากาศอุ่นกว่า อาหารอุดมสมบูรณ์กว่า เหมือนอย่างสัตว์กินพืชหลายชนิดในทุ่งหญ้าสะวันนาแห่งทวีปแอฟริกา หรืออาจจะบินอพยพย้ายถิ่นเหมือนกับนกหรือห่านป่าซึ่งบินหนีความหนาวเย็นข้ามทวีปไปยังดินแดนอันอบอุ่น หรือสัตว์บางชนิดก็เลือกที่จะก้าวผ่านคืนวันอันโหดร้ายด้วยการนอนหลับ
หมีจำศีลตามฤดู เมื่ออากาศเปลี่ยน อากาศเย็นขึ้นทำให้อาหารสำหรับสัตว์ต่าง ๆ หายากขึ้น ต้นไม้ถูกปกคลุมด้วยหิมะ ความหนาวเย็นทำให้แมลงมากมายหายไป และแน่นนอนว่าดอกไม้และผลไม้ย่อมไม่เกิดขึ้น ความจำเป็นของต้นไม้ที่จะผลิใบออกมาก็หมดไป ทำให้สัตว์กินพืชเล็ก ๆ ไม่อาจอยู่ได้ และเมื่อสัตว์เล็กกินพืชไม่สามารถอยู่ได้หากไร้อาหาร สัตว์ใหญ่อย่างหมีก็ต้องปรับตัว ธรรมชาติสร้างสรรค์วิธีที่แตกต่างออกไป หากนอนหลับแล้วไม่จำเป็นต้องกิน ก็นอนยาว ๆ ไปจนหมดฤดูหนาวเลยสิ และนั่นคือสิ่งที่สัตว์หลายชนิดเลือกทำในช่วงเวลาที่อาหารหายาก บรรยากาศเป็นใจ กลไลในร่างกายของสัตว์ที่จำศีลมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการดำรงชีวิตในฤดูที่พลังงานเป็นสิ่งหายากเช่นนี้ ระบบเผลาผลาญพลังงานในร่างกายลดลง หัวใจเต้นช้าลง รวมถึงระบบหมุนเวียนเลือดก็ถูกปรับเปลี่ยนเช่นกัน มันคือช่วงภาวะการหลับลึก และนั่นทำให้หมีสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องกินแม้แต่น้ำ ไม่ต้องลืมตามามองอะไรหรือเฝ้าระวังอะไร เพราะมันก็อาศัยอยู่ในรังที่แสนอบอุ่นของมันตลอดช่วงฤดูหนาว
สัตว์อีกหลายชนิดก็เลือกจะจำศีลเพื่อผ่านคืนวันอันโหดร้าย อย่างการหลบหนีความร้อนและแห้งแล้งเช่นกัน ปลาช่อนจำศีล กบจำศีล หรือปลาที่โบราณกว่านั้นอย่างปลาปอด (Lung fish) ที่มีรูปร่างคล้ายปลาช่อนผสมกับปลาดุก รวมถึงปลาช่อนบ้าน ๆ ของเราเองก็มีความสามารถในการจำศีล แต่ที่น่ามหัศจรรย์กว่าคือ ปลาปอดแอฟริกัน (African lungfish) ซึ่งเป็นปลาที่อาจจะจมน้ำตายได้ เพราะใช้ปอดในการหายใจ มันจำเป็นต้องขึ้นมาบนผิวน้ำเป็นประจำเพื่อหายใจ และนั่นทำให้มันมีความสามารถที่ไม่เหมือนใคร เมื่ออากาศแห้งแล้ง น้ำตามบ่อบึงต่าง ๆ เหือดแห้ง มันเลือกที่จะขุดโคลนและฝังตัวอยู่ใต้ดิน โดยสร้างเมือกมาห่อหุ้มตัวเองเอาไว้เพื่อรักษาความชุ่มชื้นไว้ในร่างกาย และเปลี่ยนมาใช้ปอดแทนเหงือกในการหายใจ ปลามีปอดเหล่านี้สามารถจำศีลอยู่ใต้ดินเป็นเวลานานหลายเดือนถึงปี
ข้อเท็จจริงที่เรารู้ในตอนนี้ก็คือ การจำศีลไม่ใช่การนอนหลับ มันมีความแตกต่างในรายละเอียดอย่างอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ การเผาผลาญพลังงานในร่างกาย การทำงานของสมอง และการทำงานในระดับเซลล์ต่าง ๆ และคนเรายังไม่มีใครเคยจำศีล มีแต่อาการโคม่าซึ่งมีคนเคยทำสถิติโลกเอาไว้ที่ 19 ปีก่อนจะฟื้นขึ้นมา นั่นคือนาย Jan Grzebski
ลีเมอร์หางป้อม (Fat-tailed lemur) สามารถจำศีลได้ 8 เดือนในช่วงฤดูแล้งและใช้พลังงานจากหางอ้วน ๆ ของมัน และมนุษย์เราเองก็มีความคล้ายคลึงกับลีเมอร์ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นั่นอาจจะอุปมาได้ว่า มนุษย์เราก็อาจจะมีความสามารถที่จะจำศีลได้ มีการศึกษาค้นพบว่าก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟต์หรือก๊าซไข่เน่าสามารถทำให้หนูทดลองซึ่งปกติแล้วไม่เคยจะต้องจำศีล เข้าสู่ภาวะจำศีลได้ และอาจจะเป็นก้าวแรกสำหรับคนเราที่จะจำศีลเช่นกัน ข้อจำกัดอาจจะอยู่ที่ร่างกายของคนเราไม่สามารถนอนนิ่ง ๆ ได้เป็นเวลานาน เพราะอาจจะเกิดแผลกดทับ สูญเสียกล้ามเนื้อ หรือการจับตัวกันเป็นก้อนของเลือด ซึ่งอาจจะอุดตันหลอดเลือดที่สำคัญ ๆ ได้ จนกว่าจะถึงตอนที่เรามีวิทยาการและคิดค้นวิธีการให้เราหลับได้ยาวนานอย่างปลอดภัย ความเป็นไปได้ที่มนุษย์เราจะจำศีลก็ยังมีอยู่