การให้อาหารเป็นวิธีการหลักอย่างหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตการเลี้ยงปลาหนาแน่นมากจำเป็นต้องให้อาหารสมทบอย่างเพียงพอแต่การเลี้ยงปลาบางประเภทยังคงอาศัยอาหารธรรมชาติ เช่น การเลี้ยงปลาในครอบครัวปลาไนซึ่งอาศัยอาหารธรรมชาติครึ่งหนึ่งและให้อาหารสมทบอีกครึ่งหนึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าเป็นผลดีทางเศรษฐกิจ แต่การเลี้ยงปลาไนโดยใช้อาหารสำเร็จรูปซึ่งมีส่วนประกอบของโภชนาหารที่จำเป็นครบตามที่ปลาต้องการย่อมกระทำได้หากพิจารณาเห็นว่าเป็นวิธีที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
การให้อาหารสมทบทำให้เลี้ยงปลาได้หนาแน่นอาหารที่เหลือจากปลากินและสิ่งที่ปลาขับถ่ายออกมาก็จะกลายเป็นปุ๋ยอาหารสมทบที่จัดให้ปลากินนอกเหนือจากอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อ ได้แก่
๑. อาหารที่ได้จากพืช
๑.๑ ใบและต้นพืช
ปลากินพืชเป็นอาหาร เช่น ปลาหมอเทศข้างลาย ปลาตะเพียนและปลาแรดปลาเหล่านี้กินพืชที่มีลักษณะอ่อนหรือส่วนอ่อนของพืชพืชเหล่านี้เป็นเศษพืชผักที่ได้จากสวน ซึ่งมีราคาถูกอัตราส่วนการเปลี่ยนจากพืชผักเป็นเนื้อค่อนข้างต่ำ เช่น ในกรณีปลาเฉาที่เลี้ยงด้วยหญ้ามีอัตราการเปลี่ยนหญ้าเป็นเนื้อ ๔๘:๑ การเลี้ยงปลาเฉานั้น มักจะปล่อยปลาอื่นลงไปด้วย เช่น ปลาลิ่น ปลาซ่งและปลาไนโดยอาศัยมูลของปลาเฉาเป็นปุ๋ยและเป็นอาหารปลาอื่นผลผลิตปลาเฉาในเนื้อที่ ๑ ไร่ ต่อปี อยู่ระหว่าง ๓๐๐–๔๘๐ กิโลกรัม ปลาเฉาขนาดเล็กชอบกินแหนเป็ดและไข่น้ำ
ปลาตะเพียนเป็นปลาที่กินพืชโดยเฉพาะพวกสาหร่ายและแหนเป็ดถ้าเป็นพวกหญ้าต้องมีใบอ่อนการให้อาหารสมทบพวกใบพืช เช่น ใบมันสำปะหลังอ่อนมีคุณค่าทางอาหารเพราะมีโปรตีน ไขมันและมีกากน้อยนอกจากนั้นใบมันสำปะหลังยังมีวิตามินเอ บี ซี และแลกโตเฟรวิน ปลาตีลาเบียกินใบมันสำปะหลังวันละร้อยละ ๑๕ ของน้ำหนักตัว
การให้ใบพืชผสมกับอาหารอย่างอื่นจะให้ผลผลิตดีกว่าการเลี้ยงด้วยใบพืชอย่างเดียว เช่น การใช้ใบพืชผสมปลายข้าวหรือผสมกับข้าวโพดจะทำให้อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อดีขึ้น
๑.๒ เมล็ดพืช
เมล็ดพืชใช้เลี้ยงปลาได้ดีควรใช้เมล็ดพืชที่มีราคาถูกที่คนไม่รับประทานหรือเมล็ดพืชที่เสื่อมคุณภาพมาใช้เลี้ยงปลาเมล็ดพืชบางอย่างมีโปรตีนสูง เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดพืชบางอย่างมีสารพวกแอลคาลอยด์ซึ่งไม่เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์บกแต่ไม่เป็นพิษกับปลาไนแม้กากเมล็ดละหุ่งซึ่งมีสารเป็นพิษใช้เลี้ยงวัวไม่ได้แต่ให้ปลาไนกินได้ข้าวและผลพลอยได้จากข้าวใช้เป็นอาหารสมทบแก่ปลาปลาไนย่อยพวกเมล็ดธัญพืชได้ดีเมล็ดธัญพืชบางอย่างจะทำให้เนื้อปลามีกลิ่นไม่พึงประสงค์แต่ก็แก้ไขได้ด้วยการปล่อยน้ำไหลผ่านปลาน้ำไหลผ่าน ๒–๓ วันกลิ่นต่าง ๆ ก็จะหมดไป
การให้เมล็ดธัญพืชส่วนใหญ่ต้องบดหรือแช่น้ำเสียก่อนข้าวเปลือกแช่น้ำเป็นอาหารอย่างดีของปลาไนและปลาไนสามารถย่อยได้ถึงร้อยละ ๘๕–๘๙ ปลาตีลาเบียสามารถเปลี่ยนข้าวเป็นเนื้อในอัตรา ๔.๕–๙:๑ รำข้าวเป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาเกือบทุกประเทศทางตะวันออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งรำข้าวเหมาะสำหรับปลาเล็กรำละเอียดจะลอยบนผิวน้ำและกระจายทั่วบ่อทำให้ปลาสามารถเก็บกินได้และมีอัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อ ๔–๖ : ๑
๑.๓ หัวหรือรากพืช
มันเทศและมันสำปะหลังใช้เลี้ยงปลาได้อย่างดีมันเทศมีโปรตีนร้อยละ ๒ มันสำปะหลังมีโปรตีนน้อยกว่ามันเทศร้อยละ ๑ มันเทศมีน้ำมากเมื่อเทียบกับข้าวโพดเท่ากับ ๓:๑ มันเทศหัวเล็กมีราคาถูกเหมาะที่จะใช้เลี้ยงปลาควบกับเมล็ดธัญพืชแป้งมันสำปะหลังใช้เลี้ยงปลาในบางท้องที่แต่อัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อค่อนข้างต่ำคือ ๔๙:๑ ฉะนั้นหากใช้เลี้ยงปลาต้องใช้ในปริมาณมากซึ่งจะทำให้น้ำเสียขาดออกซิเจนและจะทำให้น้ำเป็นกรดการใช้มันสำปะหลังจึงควรผสมกับอาหารที่มีโปรตีนสูงอื่น ๆ
๑.๔ กากเมล็ดพืช
กากมะพร้าว กากถั่วลิสง กากเมล็ดปาล์มที่สกัดเอาน้ำมันออกมีโปรตีนสูง เช่น กากเมล็ดถั่วลิสงมีโปรตีนเกือบร้อยละ ๔๐ กากเมล็ดฝ้ายมีโปรตีน ร้อยละ ๒๗ มีไขมัน เซลลูโลสและแป้งสูงด้วยอัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อของกากพืชดังกล่าวอยู่ระหว่าง ๒.๕–๕:๑
๒. อาหารที่ได้จากสัตว์
๒.๑ ตัวไหม
อาหารหลักที่ใช้เลี้ยงปลาในญี่ปุ่นและจีน ได้แก่ ตัวไหม ตัวไหมมีโปรตีนประมาณร้อยละ ๗๕ มีอัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อปลา ๒ : ๑ การเลี้ยงปลาไน ปลาเทราต์และปลาไหลญี่ปุ่นใช้เลี้ยงด้วยตัวไหมเป็นส่วนใหญ่ตัวไหมดังกล่าวจะหาได้เฉพาะในท้องที่ที่มีการเลี้ยงไหมและในปัจจุบันการเลี้ยงไหมได้ลดลงอย่างมากการใช้ตัวไหมเลี้ยง ปลาเหลือน้อยเต็มที
๒.๒ หอย
ปลาที่กินหอยเป็นอาหาร ได้แก่ ปลาเฉาดำการเลี้ยงปลาเฉาดำจำนวนมากในบ่อจะต้องหาหอยจากแหล่งน้ำอื่นมาเลี้ยงเพิ่มเติมในบ่อขนาด ๓.๗ ไร่ ต้องใช้หอยน้ำหนักถึง ๑๓๕ ตัน ซึ่งเมื่อคิดเป็นอัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อแล้วจะได้ ๖๓ : ๑ ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำทั้งนี้เพราะว่าเปลือกหอยมีน้ำหนักมาก
๒.๓ ปลาทะเลสด
ปลาทะเลที่สดเหมาะที่จะใช้เลี้ยงปลาได้ดีโดยเฉพาะพวกปลากินเนื้อตามปกติปลาทะเลที่นำมาให้ปลากินเป็นปลาขนาดเล็กหรือปลาใหญ่ที่มีบาดแผลเนื่องจากการจับหรือลำเลียงอัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อ ๖–๘:๑ ทั้งนี้ แล้วแต่คุณภาพของปลาฉะนั้นการใช้ปลาทะเลเลี้ยงควรจะทำฟาร์มเลี้ยงปลาใกล้ทะเลปลาทะเลเหมาะที่จะใช้สำหรับเลี้ยงปลาเพื่อขุนให้อ้วนก่อนส่งตลาดและอาจจะใช้ผสมกับอาหารอย่างอื่น เช่น รำและปลายข้าวต้มในอัตราร้อยละ ๕๐
๒.๔ ปลาป่น
ปลาป่นได้จากเศษเหลือของโรงงานทำน้ำมันปลาปลาป่นที่ดีควรมีน้ำมันและมีเกลือแต่ละอย่างน้อยกว่าร้อยละ ๓ และไม่มีกระดูกมาก (มีแคลเซียมฟอสเฟตน้อยกว่าร้อยละ ๓๐) ปลาป่นที่ขาดคุณภาพดังกล่าวมักจะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับอาหารและทำให้ลำไส้บวมปลาป่นที่มีคุณภาพดีจะมีอัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อ ๑.๕:๓ : ๑ ปลาป่นที่ทำจากปลาน้ำจืดมีค่าทางโภชนาหารเท่ากับปลาทะเลแต่ปริมาณของปลาน้ำจืดมีน้อย
๒.๕ กุ้ง
กุ้งเป็นอาหารที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับอาหารธรรมชาติกุ้งสดเหมาะสำหรับใช้เลี้ยงพ่อแม่ปลาอัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อ ๔–๖ : ๑ กุ้งแห้งเหมาะที่จะใช้เป็นอาหารหรือผสมกับอาหารอย่างอื่นกุ้งมีโปรตีนและแร่ธาตุสูงเหมาะแก่การนำไปเลี้ยงลูกปลานอกจากนั้นยังทำให้คุณภาพของเนื้อปลาดีอีกด้วย
๒.๖ เลือดสัตว์
เลือดสัตว์ได้มาจากโรงงานฆ่าสัตว์สมบูรณ์ด้วยโปรตีนแต่ปริมาณแร่ธาตุมีน้อยอาจใช้เลี้ยงปลาโดยตรงหรือผสมกับอาหารอย่างอื่น
๓. อาหารสำเร็จรูป
การเลี้ยงปลาที่มีราคาในปัจจุบันนิยมใช้อาหารสำเร็จรูปทั้งนี้เพราะความสะดวกต่อการให้อาหารง่ายต่อการคำนวณหาอัตราการให้และสามารถคะเนผลผลิตได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง
อาหารสำเร็จเป็นอาหารที่ผสมขึ้นจากวัตถุดิบต่าง ๆ โดยที่ส่วนประกอบครบถ้วนตามความต้องการของปลาเพื่อนำไปสร้างเนื้อเยื่อของร่างกายและนำไปสร้างพลังงาน
สูตรอาหารสำเร็จรูปที่ใช้เลี้ยงปลาควรประกอบด้วยโปรตีนร้อยละ ๒๐–๖๐ ไขมันร้อยละ ๔–๑๘ แป้งร้อยละ ๑๐–๕๐ และมีค่าพลังงาน ๓,๐๐๐ กิโลแคลอรี นอกจากนั้นจะต้องมีส่วนผสมของเกลือแร่และวิตามินตามความต้องการของปลา
คุณสมบัติทางกายภาพของอาหารมีความสำคัญพอ ๆ กับปริมาณของธาตุอาหารที่มีอยู่อย่างพอเพียงรูปและขนาดของอาหารจะต้องอยู่ในลักษณะที่ปลาชอบและยอมกิน คือ
๓.๑ อาหารสำหรับปลากินแพลงก์ตอนกินสาหร่าย วมทั้งอาหารของลูกปลา
ควรมีลักษณะเป็นผงแห้งเป็นละอองแขวนลอยในน้ำหรือเป็นก้อนอ่อนส่วนผสมของอาหารควรจะคงรูป เช่น ทำให้ข้นทำให้เป็นก้อนหรือเป็นแป้งเปียกด้วยการผสมกับแป้งมัน แป้งข้าวเหนียวหรือเจลาตินทำเป็นผลด้วยการตากแห้งแล้วกรองด้วยตะแกรงหรือทำเป็นเส้นด้วยเครื่องบด
๓.๒ อาหารเม็ด
อาหารเม็ดสะดวกต่อการเก็บรักษาการขนส่งและเหมาะสมกับการใช้เครื่องมือให้อาหารอัตโนมัติเครื่องที่ใช้ทำอาหารเม็ดมีหลายแบบอาหารดังกล่าวมีความชื้นร้อยละ ๑๐–๔๐ อาจจมหรือลอยน้ำแล้วแต่จะหัดให้ปลากินอาหารเม็ดแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
ก. อาหารเม็ดแข็ง
ทำด้วยการผ่านส่วนผสมของอาหารที่เป็นผงเข้าเครื่องทำเม็ดที่มีความเร็วสูงเติมด้วยไอน้ำ (น้ำร้อยละ ๔–๖) เพื่อให้อาหารลอดรูออกมาสะดวกและทำให้แป้งดิบที่ผ่านความร้อนมีลักษณะเป็นวุ้นทำหน้าที่เป็นตัวประสานจับตัวเป็นเม็ดขนาดของเม็ดแตกต่างตามขนาดของปลาที่จะเลี้ยงอาหารเม็ดแข็งส่วนดีคือไม่ทำให้น้ำในบ่อเลี้ยงปลาเน่าเสีย
ข. อาหารเม็ดอ่อน
ส่วนผสมของอาหารดังกล่าวจะต้องมีไขมันสูงหรือมีความชื้นร้อยละ ๑๘–๒๐ ตามปกติอาหารเม็ดไม่ควรมีความชื้นเกินกว่าร้อยละ ๑๓ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแปรสภาพโดยจุลินทรีย์หากมีความชื้นเกินเกณฑ์ดังกล่าวควรจะนำไปใช้ทันทีหรือเก็บไว้ในอุณหภูมิต่ำหากจะเก็บไว้นานควรเติมยากันราลงไปด้วย
การที่อาหารเม็ดให้ผลดีกว่าก็เพราะว่าอาหารเม็ดมีความคงตัวที่จะอยู่ในน้ำได้นานไม่สูญหายละลายไปในน้ำการเตรียมอาหารนอกจากจะทำเป็นผงหรือเป็นเม็ดแล้ว วิธีการทำอาหารควรจะระมัดระวังไม่ให้วิตามินถูกทำลายด้วย
การให้อาหารปลามีปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ปริมาณอาหารที่ปลาต้องการการกินอาหาร อุณหภูมิและระยะเวลาการให้อาหารเหล่านี้เป็นต้น
ปัญหาพื้นฐานอันแรกในการให้อาหารปลาก็คือปริมาณอาหารที่ปลาต้องการหากให้อาหารน้อยเกินไปปลาจะนำอาหารไปใช้สำหรับการดำรงร่างกายและเหลือสำหรับการเจริญเติบโตเพียงส่วนน้อยการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อปลาจึงต่ำมากหากเราให้อาหารมากเกินไปอาหารก็จะเหลือ
ปริมาณอาหารที่ปลาต้องการจะเพิ่มขึ้นตามขนาดของปลาแต่อัตราร้อยละของความต้องการจะลดลงตัวอย่างเช่น