๑. ปลาไทย
ปลาพื้นบ้านของไทยเรามีอยู่หลายชนิดที่เลี้ยงได้ดีทั้งในบ่อน้ำจืดและน้ำกร่อยในนาข้าวและในกระชังปลาดังกล่าว ได้แก่
๑.๑ ปลาสวาย ปลาสวายมีประวัติการเลี้ยงในย่านแหลมอินโดจีนมานานปลาสวายเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่มีความยาวถึง ๑.๕๐ เมตร
การเลี้ยงปลาสวายเริ่มด้วยการรวบรวมลูกปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติการวางไข่ของปลาสวายจะเริ่มต้นในฤดูน้ำหลากตั้งแต่เดือนมิถุนายน เดือนตุลาคมแหล่งวางไข่ก็คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่นครสวรรค์ ชัยนาทและลุ่มน้ำโขงลูกปลาที่จับได้มักจะปนกัน คือ มีทั้งปลาสวาย ปลาเทโพและปลาสังกะวาด ปัจจุบันลูกปลาที่นำมาเลี้ยงส่วนใหญ่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ด้วยวิธีผสมเทียมและฉีดฮอร์โมน
ลูกปลาสวายกินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร หากอาหารมีไม่พอเพียงลูกปลาจะกินกันเองในวันที่ ๒ หลังจากฟักเป็นตัว ลูกปลาอายุ ๑๖-๒๑ วัน จะมีความยาว ๒-๖ เซนติเมตร กินอาหารสมทบจำพวกเนื้อปลาเนื้อหอยได้และสามารถนำไปปล่อยเลี้ยงในบ่อดินหรือในกระชังตาถี่ได้
การเลี้ยงปลาสวายอาจเลี้ยงรวมกับปลาอื่นได้ เช่น ปลาตะเพียน อาหารของปลาสวาย ได้แก่ เศษอาหาร เศษปลา รำข้าว ข้าวต้มสุก ระยะการเลี้ยง ๘-๑๐ เดือน ปลาสวายจะโต ได้น้ำหนัก ๑.๐-๑.๒ กิโลกรัม
๑.๒ ปลาดุก ปลาดุกมีอยู่ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดียและแอฟริกา ปลาดุกเป็นปลาที่มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจฉะนั้นจึงทำให้สามารถอยู่บนบกได้เป็นชั่วโมง และอยู่ในน้ำที่ปริมาณก๊าซออกซิเจนต่ำได้จึงเหมาะแก่การที่จะเลี้ยงการเลี้ยงปลาดุกมีมากในแอฟริกาตะวันออกและในประเทศไทย ไทยเรามีปลาดุกอยู่ประมาณ ๗ ชนิด แต่ที่นิยมเลี้ยงมีอยู่ ๒ ชนิดคือ ปลาดุกด้านและปลาดุกอุย
ลูกปลาดุกที่นำมาเลี้ยงแต่เดิมก็เก็บรวบรวมจากแหล่งน้ำธรรมชาติในฤดูฝนแหล่งหนึ่ง ๆ จะได้ลูกปลาประมาณ ๒,๐๐๐-๑๕,๐๐๐ ตัว ปีหนึ่ง ๆ จะจับลูกปลาได้ประมาณ ๕๐ ล้านตัว
ความนิยมในการเลี้ยงปลาดุกได้เพิ่มความต้องการลูกปลามากขึ้นจึงได้มีผู้เพาะลูกปลาสำหรับจำหน่ายโดยเฉพาะลูกปลาอายุ ๕ วัน เมื่อถุงไข่แดงยุบแล้วจะนำไปเลี้ยงในบ่ออนุบาล ซึ่งเป็นบ่อดินมีเนื้อที่ผิวน้ำประมาณ ๓ ตารางเมตร น้ำลึก ๑๐-๑๘ เซนติเมตร อัตราการปล่อย ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ ตัวต่อ ตารางเมตร อาหารที่ใช้เลี้ยงประกอบด้วยลูกไร เมื่ออายุได้ ๒-๓ สัปดาห์ ใช้ปลาต้มเป็นอาหารเมื่อลูกปลาโตได้ขนาดความยาว ๑๐ เซนติเมตร จึงนำไปปล่อยลงเลี้ยงในบ่อเป็นปลาใหญ่เพื่อจำหน่าย
บ่อเลี้ยงปลาใหญ่มีขนาดตั้งแต่ ๑๐๐-๑,๐๐๐ ตารางเมตร มีระดับน้ำลึกประมาณ ๑ เมตร รอบบ่อมีรั้วรอบกันปลาหนีมีความสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร อัตราการปล่อยลูกปลา ๑๘๐ ตัวต่อตารางเมตร อาหารที่ใช้เลี้ยงประกอบด้วยปลาเป็ดผสมรำข้าว
๑.๓ ปลาแรด ปลาแรดเป็นปลาขนาดใหญ่ซึ่งมีขนาดความยาวถึง ๖๕ เซนติเมตร ปลาแรดทำรังวางไข่ด้วยเศษไม้ใบหญ้าในระดับใต้น้ำ ๓๐ เซนติเมตร ไข่มีน้ำหนักเท่ากับน้ำ ลอยตัวอยู่ในรังลูกปลาที่ฟักเป็นตัวจะลอยหงายท้องจนกว่าไข่แดงจะยุบใช้เวลาประมาณ ๕ วัน จึงจะเริ่มกินอาหาร ปลาแรดจะวางไข่ตลอดปีในบ่อที่กว้างปลาแรดเป็นปลาที่เนื้อมีรสชาติดีนิยมใช้ปรุงอาหารและอยู่ในความสนใจของชาวยุโรปมีผู้นำไปเลี้ยงในฝรั่งเศสการเลี้ยงปลาแรดแพร่กระจายทั่วไปในอินโดนีเซียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน อินเดีย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์
ปลาแรดวางไข่ตามธรรมชาติในบ่อซึ่งมีพันธุ์ไม้น้ำจำพวกหญ้าหรือกกซึ่งปลาแรดได้อาศัยทำรังวางไข่ผู้เลี้ยงปลาอาจจะเตรียมรังไข่ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ไปวางตามชายฝั่งใต้ผิว น้ำ ๒๐ เซนติเมตร
บ่อสำหรับปลาแรดวางไข่มีขนาดประมาณ ๑๐๐ ตารางเมตร ปล่อยแม่ปลา ๑๐ ตัว พ่อปลา ๕ ตัว อาหารที่ใช้เลี้ยงประกอบด้วยใบมันสำปะหลังหรือใบแคหรือพืชอื่น ๕ กิโลกรัม ต่อบ่อต่อวันและรำข้าว ๔ ลิตรต่อบ่อต่อ ๓ วัน สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ปลาจะใช้เวลาทำรังประมาณ ๑๐ วัน หลังจากทำรังเสร็จ แล้ว ๓ วัน ปลาจะเริ่มวางไข่แต่ละรังจะมีไข่ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ฟอง ไข่จะฟักเป็นตัวภายใน ๕ วัน
ลูกปลาแรดกินแพลงก์ตอนสัตว์และเมื่อมีอายุ ๑๐ วัน จะมีความยาว ๑ เซนติเมตร จะนำมาปล่อยเลี้ยงในบ่อดินขนาด ๔๐-๒๐๐ ตารางเมตรต่อลูกปลา ๑ รัง ให้ปลวกเป็น อาหารบ่อละ ๑ ช้อนชาต่อวันและให้กากถั่วสมทบอีกประมาณ ๒ ช้อนชาต่อวัน เมื่อลูกปลาอายุ ๓ เดือนจะมีความยาวประมาณ ๓ เซนติเมตร และเมื่ออายุ ๕ เดือน จะมีความยาวประมาณ ๕–๘ เซนติเมตร ลูกปลาขนาดดังกล่าวจะกินอาหารพวกพืช เช่น แหนเป็ด แหนตีนตุ๊กแกหรือใบพืชหั่นฝอย ปลาแรดเป็นปลาที่โตช้าต้องเลี้ยง ๒–๓ ปี จึงจะโตได้ขนาดที่ตลาดต้องการและให้ผลผลิตต่ำคือประมาณ ๔๐ กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
๑.๔ ปลาสลิด ปลาสลิดเป็นปลาที่มีกำเนิดในไทยเวียดนามใต้ มาเลเซีย ขนาดโตที่สุดมีความยาว ๒๕ เซนติเมตร ได้มีการนำเข้าไปเลี้ยงในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า ปากีสถานและศรีลังกา
ปลาสลิดเพศผู้ต่างกับเพศเมียที่ครีบหลัง ครีบหลังปลาตัวผู้จะยาวยื่นไปจรดโคนครีบหางปลาสลิดจะวางไข่แพร่พันธุ์เกือบตลอดปีปลาตัวผู้และตัวเมียจะจับคู่กันปลาตัวผู้จะก่อหวอดทำรังในระหว่างต้นไม้น้ำเมื่อตัวเมียวางไข่ตัวผู้จะปล่อยเชื้อเข้าผสมหลังจากนั้นปลาตัวผู้ก็จะเก็บไข่ไปพ่นติดกับรังปลาตัวเมียขนาดน้ำหนัก ๑๐๐–๒๐๐ กรัม จะมีไข่ ๑,๐๐๐–๑๐,๐๐๐ ฟอง ไข่จะฟักเป็นตัวภายใน ๒๔–๓๖ ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ ๒๘–๓๐ องศาเซลเซียส
ปลาสลิดเป็นปลาที่เหมาะสำหรับเลี้ยงในนาซึ่งปล่อยให้หญ้าขึ้นรกแปลงหนึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ปล่อยพ่อแม่ปลาให้วางไข่แพร่พันธุ์เองประมาณ ๓๕ คู่ต่อไร่ ผู้เลี้ยงปลาจะทยอยตัดหญ้าในแปลงแล้วหมักทิ้งไว้เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติปลาจะโตได้ขนาดต้องการภายในเวลา ๘–๑๐ เดือน ผลผลิตของปลาสลิด ๔๐–๖๐ กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
๑.๕ ปลาหมอตาล ปลาหมอตาลวางไข่ลอยกระจายบนผิวน้ำไม่ทำรังบ่อวางไข่มีระดับน้ำลึก ๕๐–๘๐ เซนติเมตร มีเนื้อที่ ๓๐–๑๐๐ ตารางเมตร ปลาหมอตาลจะวางไข่ทุก ๆ ๖ เดือน และจะวางไข่ได้ประมาณ ๕ ครั้งในชีวิตบ่อวางไข่จะใส่พ่อแม่ปลา ๑ คู่ต่อเนื้อที่ ๓๐–๕๐ ตารางเมตร ปลาจะวางไข่หลังจากปล่อย ๑๘ ชั่วโมง ตามปกติจะวางไข่ตอนเช้า ไข่จะฟักเป็นตัวภายใน ๒ วัน ลูกปลาจะลอยอยู่บนผิวน้ำ ๓–๔ วัน หลังจากนั้นนำไปเลี้ยงในบ่ออนุบาลซึ่งควรใส่ปุ๋ยคอกให้น้ำมีสีเขียวเมื่อเลี้ยงได้ ๑ เดือน ก็นำไปปล่อยเลี้ยงเป็นปลาใหญ่ต่อไปผลผลิตของปลาหมอตาลในบ่อใส่ปุ๋ยจะได้ ๘๐ กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
ตามปกติปลาชนิดต่าง ๆ เหล่านี้อาจเลี้ยงรวมกันเองหรือรวมกับปลาสกุลอื่น ๆ ก็ได้การเลี้ยงปลาหลายชนิดรวมกันนี้ประกอบด้วยปลาหมอซึ่งกินเนื้อเป็นอาหารปลาแรดซึ่ง กินพืช ปลาสลิด ปลาหมอตาลและปลากระดี่ซึ่งกินแพลงก์ตอนเป็นอาหารในมาเลเซียและสิงคโปร์นิยมเลี้ยงปลาสลิดรวมกับปลาไน ปลาหมอเทศ ปลาตะเพียนทอง ปลาตะเพียนและปลาจีน
๑.๖ ปลาช่อน ปลาช่อนเป็นปลาที่กินเนื้อ เช่น ลูกปลาลูกกุ้ง หรือแม้แต่ปลาขนาดเล็กพวกเดียวกัน ปลาช่อนพบทั่วไปตั้งแต่ประเทศจีน อินเดีย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ ใน ประเทศไทยจะมีอยู่ทั่วไปทุกภาค
ปลาช่อนวางไข่แพร่พันธุ์ตลอดปี ปลาตัวเมียขนาดความยาว ๔๓.๖ เซนติเมตร หนัก ๑.๒ กิโลกรัม จะมีไข่ประมาณ ๔๐,๐๐๐ ฟอง ไข่มีลักษณะกลมลอยมีสีเหลืองไข่จะฟักเป็นตัวในเวลา ๒๔–๓๐ ชั่วโมง ในอุณหภูมิน้ำ ๒๗–๒๘ องศาเซลเซียส
บ่อเลี้ยงปลาช่อนควรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีเนื้อที่ ๘๐๐–๑,๖๐๐ ตารางเมตร มีระดับน้ำลึก ๑.๕๐–๒.๐ เมตร อัตราการปล่อย ๔๐–๖๐ ตัวต่อตารางเมตร อาหารที่ใช้เลี้ยง ประกอบด้วยปลาเป็ดรำและปลายข้าวต้มผสมกันในอัตรา ๘ : ๑ : ๑ ให้อาหารวันละ ๒ เวลา ตอนเช้าและบ่ายคอยดูแลเปลี่ยนน้ำทุก ๆ ๓ วัน ปลาจะโตได้ขนาดที่ตลาดต้องการภายใน ๗–๘ เดือน
๑.๗ ปลาบู่ตามธรรมชาติปลาบู่กินปลาตัวเล็ก ๆ กุ้ง ปู หอยและแมลงในน้ำในประเทศไทยจะพบปลาบู่ตามแม่น้ำลำคลอง หนอง บึง ในทุกภาคของประเทศ
ปลาบู่จะวางไข่ตั้งแต่เดือนเมษายน–สิงหาคม ปลาบู่วางไข่ติดวัตถุต่าง ๆ ในน้ำไข่มีสีเหลืองเข้มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖ มิลลิเมตร ปลาตัวเมียที่มีขนาดความยาว ๑๕–๓๖ เซนติเมตร จะมีไข่ ๑๐,๐๐๐–๙๐,๐๐๐ ฟอง ไข่จะฟักออกเป็นตัวภายใน ๑๖–๓๐ ชั่วโมง ในอุณหภูมิน้ำ ๒๐–๓๐ องศาเซลเซียส
การเลี้ยงปลาบู่นิยมเลี้ยงในกระชังแขวนลอยชายฝั่งแม่น้ำอาหารที่ใช้เลี้ยงคือปลาเป็ดสับเป็นชิ้นโยนให้กินปลาจะโตได้ขนาดที่ตลาดต้องการในระยะเวลา ๘–๑๐ เดือน
๑.๘ ปลานวลจันทร์ทะเลเป็นปลาในวงศ์คลูเปอิดี (Clupeidae) พบอยู่ทั่วไปในย่านอินโดแปซิฟิกในเขตร้อนและเขตอบอุ่นอาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิ ๑๕ องศาเซลเซียส ขึ้นไป ถึง ๔๐ องศาเซลเซียส และจะตายเมื่ออุณหภูมิประมาณ ๑๒ องศาเซลเซียส ปลานวลจันทร์ทะเลอาศัยอยู่ใกล้ฝั่ง ใกล้ปากแม่น้ำ เจริญเติบโตดีในบ่อน้ำกร่อยแต่จะไม่วางไข่แพร่พันธุ์ในบ่อลูกปลาที่นำมาเลี้ยงจับได้ตามชายฝั่งทะเลลูกปลาเจริญเติบโตรวดเร็วภายใน ๑ เดือน จะมีความยาว ๕–๗ เซนติเมตร และจะโตมีความยาว ๑๒–๑๕ เซนติเมตร ในเดือนที่ ๒ ระยะ เวลาเลี้ยง ๘–๑๐ เดือนจะโตได้น้ำหนัก ๒๕๐–๕๐๐ กรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดต้องการขนาดโตที่สุดที่พบในทะเลมีน้ำหนักถึง ๑๕ กิโลกรัม
๑.๙ ปลากระบอก ปลากระบอกเป็นปลาทะเลในวงศ์มูจิลิดี (Mugilidae) ซึ่งมาอาศัยหากินอยู่ในน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำพบทั่วไปในมหาสมุทรอินเดียในย่านอินโดแปซิฟิก เลยไปถึงญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย ปลากระบอกสามารถปรับตัวเข้าอยู่อาศัยได้ดีในน้ำกร่อยและน้ำจืด ปลากระบอกนำมาเลี้ยงในบ่อได้ดีและสามารถนำมาเลี้ยงรวมกับปลาอื่น เช่น ปลาในสกุลคาร์ปและสกุลตีลาเบียในบ่อน้ำกร่อยเล็กน้อย
๑.๑๐ ปลากะพง ปลากะพงเป็นปลาทะเลแต่เข้ามาหากินในน้ำกร่อยและเลยเข้ามาอยู่ในแม่น้ำซึ่งมีน้ำจืดปลากะพงเป็นปลาชั้นดีมีราคาปลากะพงเป็นปลากินเนื้อ กินปลา กุ้ง ปู หอยและตัวหนอนเป็นอาหารลูกปลากะพงที่นำมาเลี้ยงเก็บรวบรวมจากแหล่งธรรมชาติตามบริเวณปากแม่น้ำโดยเฉพาะปากแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันออกมีมากที่จันทบุรีและตราดการจับลูกปลาใช้อวนหรือสวิงช้อนขนาดของลูกปลาที่จับได้มีขนาดความยาวน้อยกว่า ๒๐ เซนติเมตร การเลี้ยงปลากะพงอาจเลี้ยงได้ในกระชังที่วางในทะเลในบ่อน้ำกร่อยและในบ่อน้ำจืดอัตราการปล่อยปลาขนาดดังกล่าว ๑ ตัวต่อตารางเมตร ใช้ปลาเป็ดเป็นอาหารปลาจะโตได้น้ำหนัก ๒ กิโลกรัม มีความยาว ๕๐ เซนติเมตร ภายในระยะเวลาการเลี้ยง ๑ ปี
๒. ปลาจีน
เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนชาวจีนที่เข้าอยู่ในเมืองไทยได้นำเข้ามาเลี้ยงต่อมาปลาจีน ซึ่งได้แก่ ปลาไน ปลาเฉา ปลาลิ่น ปลาซ่ง สามารถที่จะเพาะขยายพันธุ์ได้ในบ้านเราจึงไม่มีความจำเป็นที่จะนำเข้ามาอีกต่อไปการเลี้ยงปลาจีนโดยทั่วไปใช้วิธีเลี้ยงปลาหลายชนิดรวมมันเนื่องจากปลาแต่ละชนิดกินอาหารแตกต่างกันกล่าวคือ
๒.๑ ปลาไน ปลาไนเป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันเกือบทั่วไปทุกส่วนของโลกและเป็นปลาที่มีประวัติการเลี้ยงมานานที่สุดก่อนคริสต์ศักราช ๒,๐๐๐ ปี ความสำเร็จในการเลี้ยงปลาไน ขึ้นอยู่ที่ปลาไนวางไข่ในบ่อแพร่พันธุ์เองและปลาไนมีความทนทานตั้งแต่ไข่ไปจนถึงปลาโตปลาไนสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพน้ำที่เป็นกรดและด่างและอยู่ได้ในน้ำที่มีความ เค็มถึง ๒๐ ส่วนต่อพัน (ppt) ปลาไนสามารถปรับตัวอยู่ได้ในน้ำที่มีอุณหภูมิต่าง ๆ จึงเลี้ยงได้ในภูมิอากาศร้อนไปจนถึงภูมิอากาศหนาวนอกจากนั้นปลาไนยังทนทานต่อความขุ่นของน้ำได้ดีกว่าปลาทั้งหลาย
อาหารธรรมชาติของปลาไนขนาดเล็ก ได้แก่ แพลงก์ตอนสัตว์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อยู่ตามพื้นบ่อสาหร่ายปลาขนาดเล็กไส้เดือนซากสิ่งเน่าเปื่อยต่าง ๆ ปลาไนอาจได้รับการหัดให้กินอาหารจำพวกที่มีชีวิตและอาหารปรุงแต่งได้รวดเร็วปลาไนง่ายต่อการดูแลและมีเทคนิคในการเลี้ยงดูอยู่หลายแบบซึ่งอาจนำไปปฏิบัติได้ตามความเหมาะสมของสภาพท้องถิ่น
๒.๒ ปลาลิ่น ปลาลิ่นเป็นปลากินแพลงก์ตอนพืชแต่สามารถเลี้ยงด้วยอาหารสมทบ เช่น รำข้าว แป้งและกากถั่วได้
๒.๓ ปลาซ่ง ปลาซ่งเป็นปลาที่กินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหารปลาที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารนี้มีลักษณะพิเศษคือมีซี่เหงือกยาวและละเอียดเพื่อใช้กรองแพลงก์ตอนพืชและสัตว์
๒.๔ ปลาเฉา ปลาเฉาเป็นปลากินพืชและอาหารสมทบเป็นปลาที่รู้จักกันแพร่หลายและนิยมเลี้ยงกัน
การเลี้ยงปลาใหญ่สำหรับสู่ตลาดนั้นใช้วิธีการเลี้ยงปลาหลายชนิดรวมกันในบ่อโดยถือหลักการใช้ประโยชน์เนื้อที่น้ำและแหล่งของอาหารตามวิธีที่ปฏิบัติกันในจีนและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียปลากินแพลงก์ตอนพืชเป็นปลาส่วนใหญ่ที่ปล่อยลงเลี้ยงทั้งนี้เพราะแพลงก์ตอนพืชเป็นแหล่งอาหารที่มีปริมาณมากในบ่อปลากินแพลงก์ตอนพืช เช่น ปลาลิ่นเป็นปลาหลักในระบบการเลี้ยงปลาหลายชนิดรวมกัน
๓. ปลาแอฟริกา
ปลาแอฟริกามีเลี้ยงอยู่ในบ้านเรา ๓ ชนิดด้วยกัน คือ ปลาหมอเทศปลานิลและปลาหมอเทศข้างลายปลาทั้ง ๓ ชนิดนี้ เป็นปลาในสกุลตีลาเบียปัจจุบันปลาในสกุลตีลาเบีย เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลายเริ่มแพร่เข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗
๓.๑ ปลาหมอเทศ ปลาหมอเทศเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาฝั่งตะวันออกพบในอินโดนีเซียชวาโดยไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้นำเข้าอย่างไรก็ตามปลาหมอเทศได้แพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วทั่วเกาะชวาและเป็นปลาที่รบกวนการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลของชวามากหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้มีการนำปลาหมอเทศเข้ามาเลี้ยงในมาเลเซีย สำหรับประเทศไทยนั้นองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (F.A.O. ย่อมาจาก Food and Agriculture Organization) เป็นผู้นำเข้ามาเนื่องจากปลาหมอเทศขยายพันธุ์รวดเร็วประกอบกับการสนับสนุนขององค์การอาหารและเกษตรฯ ปลาหมอเทศจึงได้รับการนำไปทดลองเลี้ยงในส่วนต่าง ๆ ของโลกทั้งในอเมริกา ญี่ปุ่น รุสเซีย ยุโรปและลาตินอเมริกา ปลาหมอเทศเป็นปลาตัวแรกในสกุลตีลาเบียที่อยู่ในความสนใจของนักเลี้ยงปลาทั้งหลายและยังคงเป็นปลาที่เลี้ยงแพร่หลายปลาในสกุลตีลาเบียเป็นที่นิยมเลี้ยงด้วยกันอย่างน้อย ๑๔ ชนิด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปลาที่ทนทานขยายพันธุ์ง่ายโตเร็วเนื้อดี
๓.๒ ปลานิลประเทศไทยได้รับเอาปลานิลเข้ามาเลี้ยงเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๒ ปลานิลปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในบ้านเราได้เป็นอย่างดีและสามารถเลี้ยงได้ในทุกภาค ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อยที่มีปริมาณก๊าซออกซิเจนต่ำ ปลานิลวางไข่ได้ตลอดปี ปลาตัวเมียจะวางไข่ ๓–๔ ครั้งในปีหนึ่ง ปลาตัวเมียมีขนาดน้ำหนัก ๒๐๐–๕๐๐ กรัม จะมีไข่ ๓๐๐–๑,๕๐๐ ฟอง ไข่อยู่ในลักษณะจมปลาตัวเมียจะอมไข่ไว้ในปากและจะฟักเป็นตัวภายใน ๓๖–๔๘ ชั่วโมง ในอุณหภูมิ ๒๘–๓๐ องศาเซลเซียส อาหารปลานิล ได้แก่ พืชผัก เช่น สาหร่าย แหนเป็ด เป็นต้น
บ่อเลี้ยงปลานิลควรมีขนาด ๘๐๐–๑,๖๐๐ ตารางเมตร มีระดับน้ำลึก ๑–๑.๕ เมตร อัตราการปล่อย ๑๐ ตัวต่อตารางเมตร ระยะเวลาการเลี้ยง ๘–๑๐ เดือน
๔. ปลาอินเดีย
ปลาที่เลี้ยงในอินเดียและปากีสถานเป็นปลาในครอบครัวเดียวกับปลาตะเพียนการเลี้ยงปลาอินเดียไม่แพร่หลายเหมือนปลาจีนในระยะหลังมีการนำไปเลี้ยงในต่างประเทศ ปลาบางชนิด เช่น ปลาแคทลาได้นำไปเลี้ยงในศรีลังกา อิสราเอล อเมริกาและมาเลเซีย สำหรับไทยเราได้นำปลาโรฮู่หรือยี่สกเข้ามาเลี้ยงใน พ.ศ. ๒๕๑๑–๒๕๑๒ รวม ๒๖๖ ตัว และได้เริ่มแพร่ขยายพันธุ์ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยนำไปปล่อยตามอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือภายในระยะเวลา ๒ ปี (พ.ศ. ๒๕๑๖) ปรากฏว่าปลายี่สกเทศโตได้ขนาดน้ำหนัก ๒ กิโลกรัม
๔.๑ ปลาแคทลาเป็นปลากินแพลงก์ตอนและซากพืชที่เน่าเปื่อย
๔.๒ ปลาโรฮู่ เป็นปลากินพืชและซากพืชเน่าเปื่อย
๔.๓ ปลามิกรัล เป็นปลากินพืชตามพื้นก้นบ่อ
การเลี้ยงปลาอินเดียมักจะเลี้ยงรวมกันหลายชนิดเช่นเดียวกับการเลี้ยงปลาจีนบ่อสำหรับเลี้ยงปลาใหญ่จะปล่อยปลาขนาดความยาวเฉลี่ย ๓๐ เซนติเมตร อัตราการปล่อย ๖๐๐ ตัวต่อไร่ ในกรณีที่ปล่อยปลาหลายชนิดรวมกันจะปล่อย ปลาแคทลา ปลาโรฮู่ ปลามิกรัลในอัตราส่วน ๖ : ๓ : ๑
อัตราการสูญหายประมาณร้อยละ ๓๐ ปลาขนาดใหญ่เกินไปจะขายได้ราคาต่ำฉะนั้นการเลี้ยงปลาจึงใช้เวลาเพียง ๑ ปี ซึ่งปลาต่าง ๆ จะโตได้น้ำหนักดังนี้ คือ ปลาแคทลา ๙๐๐–๔,๑๐๐ กรัม ปลาโรฮู่ ๖๗๕–๙๐๐ กรัม และปลามิกรัล ๖๗๔–๑,๘๐๐ กรัม สำหรับบ่อที่มีปุ๋ยดีระยะเวลาการเลี้ยงอาจลดลงเป็น ๖–๘ เดือน ผลผลิตของปลาตามธรรมชาติ ๑๒ กิโลกรัมต่อไร่จากบ่อที่ใส่ปุ๋ย ๕๐–๑๕๐ กิโลกรัมต่อไร่ และจากบ่อที่ให้อาหารสมทบด้วยจะได้ถึง ๔๖๐ กิโลกรัมต่อไร่