Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมื่อปลากำลังจะหมดทะเล

Posted By Plook Creator | 19 ส.ค. 60
7,027 Views

  Favorite

เนื้อเป็นอาหารในกลุ่มที่ให้สารอาหารประเภทโปรตีน ซึ่งเป็นสารอาหารหลักที่มีความจำเป็นต่อร่างกายของเรา ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต และยังช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เนื้อความหลักเกี่ยวกับประโยชน์ของโปรตีน แม้ว่าเราอาจจะยังสงสัยอยู่ว่า หากเราอยู่เฉย ๆ ไม่ได้มีบาดแผล เราจะยังจำเป็นต้องกินโปรตีนหรือไม่ มันมีอะไรให้ซ่อมแซม ความจริงก็คือร่างกายของเราสึกหรอในทุก ๆ วัน มีเซลล์บางส่วนตายไป ไม่ว่าจะเป็นเซลล์ที่อยู่ภายในร่างกายหรืออวัยวะส่วนที่มีพื้นที่มากที่สุดอย่างผิวหนัง ก็มีการหลุดร่อนไปของเซลล์ในทุกวัน การสร้างเม็ดเลือด เกล็ดเลือด หรือแม้แต่ของเหลวที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ กันในร่างกาย ก็ต้องใช้โปรตีนเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตทั้งสิ้น

 

หากเราแบ่งเนื้อสัตว์เป็นกลุ่ม ๆ เราจะได้กลุ่มเนื้อแดงอย่างเนื้อวัว เนื้อหมู ซึ่งแม้จะสุกก็ยังมีสีอมแดง กลุ่มเนื้อขาวอย่างเนื้อไก่ เนื้อสัตว์ปีก และบ้างก็หมายรวมถึงสัตว์ทะเล และกลุ่มที่ไม่ใช่เนื้ออย่าง นม ไข่ โปรตีนเกษตร หรือโปรตีนที่ได้จากผลผลิตทางการเกษตรอย่างถั่ว หรือผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่ว แม้จะมีแหล่งโปรตีนอยู่มากมาย แต่ปลานั้นเป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนยอดนิยม เพราะให้โปรตีนถึงร้อยละ 20 และย่อยง่ายกว่าโปรตีนจากเนื้อแดงอื่น ๆ รวมถึงการมีสารอาหารอย่างวิตามินและเกลือแร่ หรือสารที่มีประโยชน์อื่น ๆ อย่างโอเมก้า 3 หรือกรดไขมันชนิดอื่น ๆ ที่ได้พร้อม ๆ กับการรับประทานเนื้อปลา ทำให้มันเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำจำพวกแรก ๆ ที่ได้รับการเพาะพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตออกสู่ตลาด ยังไม่รวมการทำประมงจำนวนมากขึ้นในแต่ละปี เพื่อเป็นอาหารให้กับประชากรที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก จนทำให้เราไม่อาจหยุดสงสัยได้ว่า มันจะหมดทะเลหรือไม่

ภาพ : Shutterstock

 

ในช่วงร้อยปีหลังมานี้เมื่อประชากรของโลกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดพร้อม ๆ กับวิทยาการต่าง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร อุตสาหกรรมการทำประมง รวมถึงการแปรรูป การขนส่ง ทำให้เกิดการจับและล่าแหล่งโปรตีนจากทะเลเป็นจำนวนมาก ปลาทูน่า (Tuna) ปลาคอร์ด (Cod) ปลาโกไลแอธกรุ๊ปเปอร์ (​Goliath Grouper) ลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย การทำการประมงมากเกินไปเกิดขึ้นในทุกน่านน้ำทั่วโลก เพราะการทำประมงและจับปลาไม่ใช่การออกไปตกปลา หรือโยนแหลงไปในน้ำเหมือนอดีต การทำประมงในรูปแบบอุตสาหกรรมในปัจจุบันใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อการทำสงคราม เช่น มีการใช้เรดาห์ เฮลิคอร์ปเตอร์​ หรือคลื่นโซนาร์เพื่อหาฝูงปลาขนาดใหญ่ขึ้น และในน้ำลึกขึ้น การจับปลาก็เป็นการจับปลาทั้งฝูงในคราวเดียว ไม่ใช่เพียงไม่กี่สิบหรือร้อยตัว แต่เป็นพันเป็นหมื่นตัว และนั่นทำให้จำนวนประชากรของปลาในทะเลลดลงอย่างมาก พวกมันไม่เหลือรอดเพื่อขยายพันธุ์ด้วยซ้ำ และนั่นก็ไม่น่าแปลกที่จะมีการออกกฎเพื่อควบคุมการจับปลาในแต่ละพื้นที่และแต่ละช่วงเวลาในแต่ละปี ส่วนใหญ่แล้วแต่ละท้องถิ่นจะมีการห้ามจับปลาในบางช่วงเวลาของปี เพื่อให้ปลาและสัตว์น้ำได้พักและมีช่วงเวลาขยายพันธุ์ ลูกปลาได้เจริญเติบโต

 

การทำประมงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรสัตว์น้ำเท่านั้น วิธีและรูปแบบการทำประมงที่เปลี่ยนไป เช่น การใช้อวนลาก ส่งผลกระทบต่อพื้นน้ำอย่างมาก อวนลากได้พังแนวปะการัง รวมถึงโขดหินและพื้นทะเล ที่ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลและหลบภัยของสัตว์น้ำขนาดเล็ก มันทำให้ระบบนิเวศใต้ท้องทะเลปั่นป่วนไปหมด สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่โดนจับไปกิน ส่วนสัตว์น้ำขนาดเล็กก็ไม่มีแหล่งที่อยู่ และไม่ทันได้อยู่จนโตและขยายพันธุ์ ยังไม่รวมถึงการทำฟาร์มสัตว์น้ำริมชายฝั่ง ซึ่งมักจะกระทบกับระบบนิเวศของป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลหลักของสัตว์น้ำเช่นกัน การทำฟาร์มกุ้ง ปลา ปู และหอย ต่างก็ใช้พื้นที่ของป่าชายเลนซึ่งสะดวกในการใช้น้ำจากทะเล การทำอุตสาหกรรมและปล่อยน้ำเสียงลงแหล่งน้ำเองก็ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ

 

ดูเหมือนว่าไม่ว่ามนุษย์เราจะขยับตัวไปทางไหนก็ล้วนแต่ทำลายสิ่งแวดล้อมและแหล่งอาหารหลักของเราเองทั้งนั้น และนี่เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของเราทุกคน ผลกระทบเกิดขึ้นแล้วในตอนนี้ ในช่วงอายุของเรา โดยไม่ต้องรอถึงลูกหลาน ทางออกจึงเป็นการปฏิบัติต่อสัตว์ทะเลเหมือนอย่างที่เราปฏิบัติต่อสัตว์ป่าด้วยความหวงแหน เพราะพวกมันไม่ได้เป็นฟาร์มหรือแหล่งอาหารที่มีมากจนไม่มีที่สิ้นสุด พวกมันอาจหมดไปได้ในเวลาอันสั้นหากกฎหมายและการควบคุมหละหลวม

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow